บทสัมภาษณ์ 9 minutes 04 มีนาคม 2025

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จที่ 9 เชฟหญิงไทยผู้นำร้านรางวัลดาวมิชลินเรียนรู้จากในห้องครัว

การเป็นเชฟหญิงในวงการอาหารไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แล้วอะไรที่ทำให้พวกเธอยืนหยัดและประสบความสำเร็จในวงการนี้ มาฟังเคล็ดลับที่เชฟหญิงแห่งร้านรางวัลดาวมิชลินเหล่านี้อยากบอกกัน

เนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day) ประจำปี 2568 พวกเราเชื่อว่ายังมีแม่ครัวอีกมากมายที่กำลังเดินตามความฝันในแวดวงอาหาร และสิ่งที่พวกเธอกำลังพยายามทำนั้นหาใช่เรื่องง่าย แม้วงการครัวในปัจจุบันจะเปิดกว้างเรื่องความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่มากขึ้นแล้วก็ตาม

ในประเทศไทย มีหญิงแกร่งผู้นำร้านอาหารไปคว้ารางวัลดาวมิชลินมาครองได้สำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และแต่ละคนต่างต้องฟันฝ่าเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามต่างกันไป เราจึงขอใช้โอกาสพิเศษนี้ส่งต่อข้อความจาก 9 เชฟหญิงไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่กำลังมุ่งมั่นบนเส้นทางของตนเอง

มาฟังกันว่าเชฟหญิงเหล่านี้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดบ้าง เพื่อให้ผู้หญิงในวงการอาหารสามารถยืนหยัดในครัวได้อย่างเข้มแข็งและสง่างาม

เชฟแพมแห่งร้านโพทง รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟแพมแห่งร้านโพทง รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

แพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ

เชฟและเจ้าของร้านโพทง, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

"เราต้องแยกระหว่างความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรม เพราะความไม่เท่าเทียมหมายถึงการไม่ให้โอกาส ส่วนความอยุติธรรมคือการไม่ได้รับในสิ่งที่สมควรได้ เช่น เครื่องมือที่ถูกหลักสรีรศาสตร์ ตารางเวลาที่ยืดหยุ่น หรือนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวซึ่งช่วยสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว แพมอยากให้ทุกคนรับรู้ว่าเรื่องเหล่านี้ก็สำคัญ"

เชฟแพม เจ้าของร้านอาหารไฟน์ไดนิงไทย-จีน โพทง ซึ่งเปิดอยู่ในตึกโบราณของบรรพบุรุษ เธอพาร้านแห่งนี้คว้ารางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาครองได้สำเร็จ พร้อมกับคว้ารางวัลพิเศษอย่าง Opening of the Year presented by UOB ที่มอบให้กับร้านอาหารเปิดใหม่ที่โดดเด่นและสร้างความสำเร็จอย่างงดงามทันทีที่เปิดตัว นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาย่านทรงวาดกับโครงการ Made in Songwat และก่อตั้ง Scholarship for Female Chef (WFW) เพื่อสานฝันให้เด็กผู้หญิงที่อยากเรียนทำอาหารแต่ขาดแคลนโอกาสและทุนทรัพย์อีกด้วย

“แพมเชื่อว่าผู้หญิงมีสัญชาติญาณในการสร้างความสมดุลและทำงานได้หลากหลายเมื่ออยู่ในครัว ความใส่ใจรายละเอียดของพวกเราทำให้มั่นใจได้ว่าทุกองค์ประกอบบนจานจะออกมาสมบูรณ์แบบ ซึ่งลักษณะนิสัยตามธรรมชาติเหล่านี้ช่วยสร้างสถาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานด้วย เช่นเดียวกับความเห็นอกเห็นใจและการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ความเชี่ยวชาญในการทำอาหาร”


เชฟพิมแห่ง 3 ร้านรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน น้ำในกรุงเทพฯ กินข้าว และนารี ในสหรัฐฯ (© Adahlia Cole/ Nari)
เชฟพิมแห่ง 3 ร้านรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน น้ำในกรุงเทพฯ กินข้าว และนารี ในสหรัฐฯ (© Adahlia Cole/ Nari)

พิม เตชะมวลไววิทย์

เชฟและเจ้าของร้านน้ำ, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568
Kin Khao, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับแคลิฟอร์เนีย ประจำปี 2567
Nari, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับแคลิฟอร์เนีย ประจำปี 2567


"ไม่ชอบมองว่าอุปสรรคคือความยากลำบาก ชอบมองว่าเป็นเรื่องท้าทายมากกว่า อาจเป็นเพราะเราโชคดีที่ได้ทำงานในครัวและทำร้านอาหารของตัวเองมาโดยตลอด ทำให้ได้จดจ่ออยู่กับการทำงานและการทำอาหารของตัวเอง เราท้าทายตัวเองให้เก่งขึ้น พัฒนาขึ้นในทุก ๆ วัน จนไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องแข่งขันกับใคร"

เชฟพิมไม่เคยสัมผัสกับงานในครัวอาชีพเลยจนกระทั่งเปิดร้านอาหารร้านแรกในชีวิตหลังตัดสินใจหันหลังให้กับงานนักวิจัยในซิลิคอนแวลลีย์เพื่อมาเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารเต็มตัวกับ Chez Pim และด้วยความหลงใหลในอาหารไทย เธอจึงเปิดร้าน Kin Khao ขึ้นมาเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2557 ก่อนคว้ารางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาครอง และเมื่อเชฟเดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) วางมือจากร้านอาหารไทยชื่อดังอย่างน้ำ (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน) ที่กรุงเทพฯ เชฟพิมจึงได้รับการทาบทามให้มาดูแล เธอเริ่มบริหารร้านน้ำมาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการเดินทางไปกลับระหว่าง 2 ทวีปอยู่ตลอดเวลา จนนำทีมให้รักษาดาวมิชลินมาได้นับแต่นั้น และร้านอาหารไทยอีกแห่งของเธออย่าง Nari ที่ซานฟรานซิสโกก็คว้าดาวมาแทบจะในทันทีที่เปิดตัว ด้วยความใส่ใจและเอาจริงเอาจังในเรื่องคุณภาพ และเห็นคุณค่าของ “มรดกอาหารไทย” ทั้ง 3 ร้านอาหารไทยที่เธอดูแลอยู่จึงไม่ขาดตกบกพร่องและยังคงรักษาดาวประดับได้จวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ด้วยความที่เคยต้องต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็ง เธอจึงเป็นเชฟหญิงอีกคนที่หันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและความยั่งยืน

"มีเชฟผู้หญิงที่เป็นผู้นำครัวยังไม่เยอะมาก เราเลยอยากเปิดพื้นที่ให้เชฟผู้หญิงหน้าใหม่ได้มีโอกาสในครัวมากขึ้น พยายามทำให้ครัวเป็นพื้นที่เปิดกว้างและทำงานได้อย่างสบายใจ เราเลยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน แน่นอนว่าต้องมีความท้าทายกันบ้าง แต่มันไม่ใช่การแข่งขัน เพราะเป้าหมายของเราคือพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีกว่าเมื่อวาน ไม่ใช่การเอาชนะคนอื่น บางทีนี่อาจจะเป็นลักษณะนิสัยผู้หญิงในแบบที่เราเป็น"


เชฟซากิที่ร้านสามล้อ รางวัลบิบ กูร์มองด์ (© อรรคพรรษ อินทุประภา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟซากิที่ร้านสามล้อ รางวัลบิบ กูร์มองด์ (© อรรคพรรษ อินทุประภา/ MICHELIN Guide Thailand)

ซากิ โฮชิโนะ (Saki Hochino)

เชฟขนมหวานและเจ้าของร้านนว, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568
สามล้อ, บิบ กูร์มองด์, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

"เชฟอาจไม่ใช่อาชีพที่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะอาชีพนี้ต้องทำงานหลายชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาล และอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นเดียวกับการเป็นแม่และเป็นเชฟในเวลาเดียวกันยิ่งทำให้มีเรื่องให้กังวลและคิดตลอดเวลา แม้แต่ตอนอยู่กับลูกสาว ฉันก็ยังคิดเรื่องงาน และตอนทำงานก็ยังคิดถึงลูก ฉะนั้นถ้าคุณไม่รักในสิ่งที่ทำก็จะหมดไฟได้ง่าย ปัจจุบันมีเชฟหญิงเก่ง ๆ มากมายทั่วโลก แต่ฉันไม่อยากให้พวกเราเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ชายในครัว อยากให้ทุกคนมองคนอื่น ๆ เป็นเพียงบุคคลหนึ่ง แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานให้หนัก เพราะเราเชื่อว่าการทำงานหนักจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า"

หลังจากเรียนจบด้าน Hospitality Management เชฟซากิตัดสินใจเรียนต่อโรงเรียนทำอาหารที่แคนาดา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นเชฟขนมหวาน เธอเคยเปิดร้านคัพเค้กพร้อมทำงานในร้านอาหารฝรั่งเศสไปด้วย ก่อนกลับไปเรียนรู้การทำขนมหวานญี่ปุ่น หรือ “วากาชิ” และย้ายมาอยู่ประเทศไทยกับสามี เชฟโจ-ณพล จันทรเกตุ พร้อมร่วมเปิดร้านอาหารแห่งแรกด้วยกันในชื่อ 80/20 ซึ่งได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันทั้งสองออกมาสร้างชื่อในร้านอาหารแห่งใหม่ นว (NAWA) ที่คว้าดาวมิชลินดวงแรกมาครองได้ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมด้วยรางวัลพิเศษอย่าง MICHELIN Opening of the Year Award จากงานประกาศรางวัลคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

"เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้มีวัฒนธรรมของชายเป็นใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วผู้หญิงสามารถช่วยเปิดมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากผู้ชายได้ เลยชอบให้ทีมมีเชฟและพนักงานบริการทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในทีมเดียวกัน และคิดว่าพวกเขาทำงานได้ดีขึ้นเมื่อคละเพศ ต่างคนต่างเคารพซึ่งกันและกันตราบใดที่ทำงานสำเร็จลุล่วง"


เชฟต้อย-พิไลพร คำหนัก แห่งร้านเสน่ห์จันทน์ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟต้อย-พิไลพร คำหนัก แห่งร้านเสน่ห์จันทน์ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

ต้อย-พิไลพร คำหนัก

เชฟร้านเสน่ห์จันทน์, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

"เราเกิดมาในครอบครัวธรรมดาในต่างจังหวัดซึ่งถูกสอนว่าลูกผู้หญิงจะต้องรักในการทำอาหารเพื่อเป็นทักษะติดตัว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นเชฟ เราชอบสังเกตและใส่ใจในทุกรายละเอียดขั้นตอนในการปรุงอาหาร เพื่อให้คนที่ได้กินรับรู้ถึงความใส่ใจและรสชาติที่อร่อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงอย่างเราจะผ่านแรงกดดันและคำวิจารณ์ต่าง ๆ นานา ทั้งคำติ คำชม ในครัวอาชีพที่ยังมีผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ด้วยใจรักในการทำอาหาร เราจึงข้ามผ่านความรู้สึกที่แย่เหล่านั้นไปได้ และทำให้เรารู้สึกภูมิใจในอาชีพเชฟในที่สุด"

แม้จะมีพื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ แต่ก็ใช่ว่าเชฟผู้นี้จะเชี่ยวชาญเฉพาะอาหารไทยภาคเหนือเท่านั้น เธอโดดเด่นในการรังสรรค์อาหารไทยตำรับชาววังชั้นสูงอันละเมียดละไมชนิดหาตัวจับได้ยาก ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนผสานใจรักในอาหารไทยดั้งเดิม ทำให้อาหารเชฟต้อยมีรสชาติอย่างไทยแท้ที่คนอาจหลงลืมหรือไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อนมา หัวหน้าเชฟหญิงแห่งร้านเสน่ห์จันทน์ผู้นี้นำเสนออาหารไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ผ่านรสชาติอันละเอียดอ่อนประณีต แต่ก็ใช่ว่าเชฟต้อยจะทำอาหารตามสูตรดั้งเดิมเสมอไป เชฟหญิงชาวไทยผู้นี้ยังปรุงใส่ความสร้างสรรค์ด้วยการนำเทคนิคอาหารฝรั่งเศสมาสอดแทรกเข้าไปได้อย่างแยบยลจนออกมาเป็นเมนูอาหารไทยที่น่าสนใจมีเสน่ห์น่าค้นหาไม่แพ้กัน จนทำให้เสนห์จันทน์ยังคงสามารถรักษามาตรฐานดาวมิชลินเอาไว้ได้เสมอมา และเป็นห้องอาหารไทยรับรองแขกบ้านแขกเมืองแห่งสำคัญของกรุงเทพฯ​ ที่คอยต้อนรับผู้คนจากแดนไกลที่อยากลิ้มรสชาติอาหารไทยแท้ ๆ


เชฟการิมา คุณแม่ลูกสองแห่งร้าน Gaa (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟการิมา คุณแม่ลูกสองแห่งร้าน Gaa (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

การิมา อาโรรา (Garima Arora)

เชฟและเจ้าของร้าน Gaa, รางวัลสองดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

"อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเต็มไปด้วยหลากหลายและเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการเป็นมืออาชีพโดยไม่จำกัดเรื่องเพศและไม่กีดกันผู้หญิง แต่ความสมดุลระหว่างเพศในอาชีพเชฟก็ยังไม่เท่าเทียมกัน เพราะอาชีพงานครัวเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะรับไหว ฉันเป็นทั้งแม่และนักธุรกิจ ทำให้ต้องเสียสละชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่อีกส่วนเสมอ เมื่อฉันทำงานที่ร้าน ฉันรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียบทบาทความเป็นแม่ แต่เมื่ออยู่กับลูก ๆ ฉันก็มักคิดถึงงานที่ Gaa แต่นี่คือชีวิตที่ฉันเลือก และไม่เคยเสียใจเลย แม้ว่าจะท้าทายแต่เราก็ผ่านมันมาได้เพราะแรงสนับสนุนจากคนรอบตัว ทีมงานที่อยู่ด้วยกันมานาน และครอบครัวที่เข้าใจว่าการเป็นเชฟคืออีกบทบาทที่สำคัญในชีวิตของฉัน"

เชฟการิมา อาโรราแห่งร้าน Gaa สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นเชฟหญิงชาวอินเดียคนแรกผู้คว้ารางวัลสองดาวมิชลินมาครองได้สำเร็จในการประกาศคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับปี 2567 จะเรียกเธอว่าเชฟหญิงชาวอินเดียที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกตอนนี้ก็คงไม่ผิด นอกจากนี้เชฟการิมายังได้รับรางวัลดาวมิชลินมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุได้เพียง 32 ปี และเคยได้รับรางวัลอย่าง MICHELIN Guide Young Chef Award Presented by Blancpain ในปี 2565 อีกด้วย ที่ผ่านมาเชฟการิมาเป็นผู้ร่วมร่วมใน Food Forward India โครงการที่มีจุดมุ่งหมายในการสืบสานประวัติศาสตร์และสานต่ออนาคตของอาหารอินเดีย เธอยังเป็นเซเลบริตีเชฟผู้ตัดสินในรายการ Master Chef India ล่าสุดหญิงเก่งคนนี้เพิ่งสวมหมวกต้อนรับบทบาทใหม่ในการเป็นคุณแม่อีกด้วย


คุณป้าบานเย็น เรืองสันเทียะ (© MICHELIN Guide Thailand)
คุณป้าบานเย็น เรืองสันเทียะ (© MICHELIN Guide Thailand)

บานเย็น เรืองสันเทียะ

เชฟร้านสวนทิพย์, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

“วัยเด็กป้ายากลำบากมาก เส้นทางชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ ป้าเรียนจบแค่ ป.4 เขียนหนังสือไม่ค่อยได้ไม่มีความรู้อะไรเลย แต่เรามีใจรักในอาหาร อยากให้ลูกค้าได้กินของอร่อย คนทำอาหารทำแค่ผิวเผินไม่ได้หรอก ต้องใจรักจริง ๆ เพราะฉะนั้นป้ามักสอนคนในทีมเสมอว่าต้องมั่นใจในอาหารที่เสิร์ฟ ทั้งความสะอาด คุณภาพ และรสชาติ รวมถึงพยายามให้โอกาสเชฟรุ่นใหม่ในครัวได้แสดงฝีมือ"

จากเด็กสาวชนบทผู้ยากจนในโคราชเคยรับจ้างแบกมันแลกค่าแรงวันละ 10 บาท เมื่อถึงวัยเพียง 13 ปี เด็กหญิงบานเย็น เรืองสันเทียะ หรือ ‘บุญมี’ ระหกระเหินมาเสี่ยงโชคเป็นแม่บ้านในกรุงเทพฯ เธอค่อย ๆ พัฒนาฝีมือด้านการครัวขึ้นมาทีละน้อยจากการฝึกฝนโดยนายจ้าง ด้วยความใส่ใจและใฝ่ เธอเรียนรู้แบบครูพักลักจำมาเรื่อย ๆ ภายหลังตระกูลกิตติขจรได้ปรับเปลี่ยนกิจการโรงผ้าริมน้ำในจังหวัดนนทบุรีให้กลายเป็นร้านอาหารสวนทิพย์เมื่อปี 2528 เธอจึงได้รับการชักชวนให้มาช่วยทำงานภายในร้าน ไต่เต้าจากเด็กเก็บโต๊ะ แล้วจึงได้เข้ามาช่วยงานในครัว ภายหลังเมื่อป้าสะอิ้ง จิตบรรเทา อดีตหัวหน้าแม่ครัวของสวนทิพย์หมดหน้าที่ลง เจ้าของจึงไว้วางใจให้ป้าบุญมีขึ้นเป็นหัวหน้าแม่ครัวแทน เธอรังสรรค์เมนูจากสูตรดั้งเดิมของตระกูลกิตติขจร และเมนูอาหารไทยมากมายที่อร่อยเรียบง่ายในแบบฉบับของตัวเอง จนร้านสวนทิพย์ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาตั้งแต่ปี 2562 จวบจนทุกวันนี้ เรื่องราวของป้าบุญมีคือบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งผู้มีใจรักในอาหารและไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาจนได้ดีอย่างแท้จริง


เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ หญิงไทยผู้คว้ารางวัลสองดาวมิชลินให้กับร้านอาหารไทยมาครองได้เป็นคนแรกของโลก (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ หญิงไทยผู้คว้ารางวัลสองดาวมิชลินให้กับร้านอาหารไทยมาครองได้เป็นคนแรกของโลก (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

ตาม-ชุดารี เทพาคำ

เชฟและเจ้าของร้านบ้านเทพา, รางวัลสองดาวมิชลิน และรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

“ชีวิตเชฟไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องแน่ใจก่อนว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ เราต้องพัฒนาต่อยอดตัวเองไปเรื่อย ๆ ต้องรู้สึกถึงแรงกดดันของครัวมืออาชีพ แต่เราต้องอดทน เอาชนะมันให้ได้โดยเร็ว และเราต้องโตขึ้นทุก ๆ วันด้วย ตามรู้ว่ามันยาก โดยเฉพาะในไทยที่คนไม่ชินเวลาถูกวิจารณ์เรื่องงาน แต่คุณต้องจำไว้ว่าร้านอาหารมีเป้าหมายร่วมกัน และการไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องรู้จักทำงานเป็นทีม”

ในวัยเพียง 27 ปี เชฟตามแสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ในด้านการทำอาหารและสร้างชื่อให้กับตัวเองด้วยการเป็นผู้ชนะในรายการ Top Chef Thailand ซีซันแรก หลังจากเปิดร้านบ้านเทพาของตัวเองในบ้านของครอบครัว เธอก็คว้ารางวัลดาวมิชลินดวงแรกมาครองได้สำเร็จกับคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2566 ก่อนในงานประกาศผลประจำปี 2567 เชฟตามได้รับทั้งรางวัลพิเศษ MICHELIN Young Chef Award และเพียงไม่กี่นาทีถัดมา เธอก็นำร้านบ้านเทพาไปสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดาวมิชลินถึงสองดวงมาครอง และล่าสุดในงานประกาศผลประจำปี 2568 เธอได้รับรางวัลที่เฝ้ารอมานานอย่างรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก (MICHELIN Green Star) ที่มอบให้ร้านอาหารซึ่งดำเนินการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในวัยเลข 3 เชฟตามยังคงเป็นเชฟเลือดใหม่ไฟแรงที่คนทั้งประเทศจับตามองทุกฝีก้าวในขณะนี้


สุภิญญา จันสุตะ หรือเจ๊ไฝ (© Shutterstock)
สุภิญญา จันสุตะ หรือเจ๊ไฝ (© Shutterstock)

สุภิญญา จันสุตะ (เจ๊ไฝ)

เชฟและเจ้าของร้านเจ๊ไฝ, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

“ถ้าเป็นไปได้ เจ๊ไฝอยากทำงานทุกวัน แต่ตอนนี้ก็อายุมากแล้ว คิดว่าอนาคตของร้านเราก็เป็นสิทธิ์ของรุ่นลูกหลาน เขาอาจได้สมบัติของเราไป แต่เขาจะนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็เป็นสิทธิ์และอนาคตของเขา เชื่อว่าเขาต้องทำได้ คนรุ่นใหม่เก่ง เรามองเห็นอนาคตไกลในตัวเขาว่าจะต้องทำอะไรดี ๆ ได้อีกหลายอย่าง การทำอาหารโดยเฉพาะอาหารดี ๆ นั้นไม่มีวันสิ้นสุดหรอก”

ภาพจำที่ทุกคนเห็นราชินีอาหารริมทางของประเทศจนชินตาคือผู้หญิงที่มากด้วยประสบการณ์ชีวิตทว่ายังคงกระฉับกระเฉงใส่แว่นประดาน้ำปรุงอาหารอยู่หน้าเตาร้อนระอุ จากผู้หญิงที่เรียนจบเพียงชั้น ป. 4 อดีตลูกจ้างร้านตัดเสื้อผู้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาและผันตัวมาเปิดร้านอาหารคนนี้ ด้วยคุณภาพและฝีมือปรุงที่ไม่ธรรมร้านเจ๊ไฝจึงเป็นร้านอาหารริมทางเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ได้รับดาวมิชลินไปครองตั้งแต่คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2561 เปิดตัว ทำให้เธอโด่งดังชั่วข้ามคืนและได้ร่วมงานกับเชฟชั้นนำชื่อดังระดับสากลมากมาย รวมถึงสตรีมมิ่งค่ายยักษ์อย่าง Netflix สายการบินแห่งชาติ และแบรนด์ดังต่าง ๆ ทั้งยังเป็นทูตให้กับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย เจ๊ไฝยังคงควงตะหลิวอยู่แม้วัยล่วงเข้า 80 ปีแล้วก็ตาม แม้เธอไม่รู้ว่าจะต้องแขวนมันวันไหน แต่เจ๊ไฝก็ตั้งใจว่าจะยังคงทำมันต่อไปตราบเท่าที่ยังมีแรง และที่สำคัญที่สุด เธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเชฟรุ่นใหม่อีกมากมาย


เชฟมิเชลล์ โกห์ (Michelle Goh) (© Mia)
เชฟมิเชลล์ โกห์ (Michelle Goh) (© Mia)

มิเชลล์ โกห์ (Michelle Goh)

เชฟและเจ้าของร้าน Mia, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568

"การเติบโตมาในครอบครัวชาวจีนเชื้อสายมาเลเซียดั้งเดิมทำให้เข้าใจว่าคนอื่นคาดหวังอะไรจากตัวเราบ้าง แต่ฉันโชคดีที่ได้รู้จักผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นคนหัวก้าวหน้าและกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทำให้กล้าที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง เมื่อต้องออกไปหาประสบการณ์ต่างประเทศตอนอายุ 18 ปี และเริ่มทำงานในขณะที่เรียนทำอาหารไปด้วย ฉันต้องสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง และทำให้เชื่อจริง ๆ ว่าไม่ว่าอะไรจะขวางคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือเชื้อชาติ ห้องครัวก็ยุติธรรมพอ ๆ กับสนามแข่งขัน เพราะยิ่งคุณทุ่มเทมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น"

เชฟพาสตรีคนเก่งอย่างมิเชลล์เกิดและโตที่กูชิง เมืองเล็ก ๆ ในหมู่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย เธอตัดสินใจจากบ้านเกิดเพื่อทำตามความฝันด้วยการเข้าเรียนทำอาหารที่ Le Cordon Bleu ในซิดนีย์ หลังจากเรียนจบและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในออสเตรเลียอยู่สักพัก แล้วจึงย้ายไปประจำที่ร้าน Pollen ในสิงคโปร์ จนอายุ 23 มิเชลล์ก็โยกย้ายอีกครั้งมายังกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเชฟขนมหวานให้กับร้าน Sühring ที่ได้รับรางวัลสองดาวมิชลินในเวลาต่อมา เธอและคนรัก เชฟท็อป-พงศ์ชาญ รัสเซล (Pongcharn ‘Top’ Russell) เป็นหัวเรือใหญ่ของร้าน Mia ด้วยการปลุกปั้นจนร้านอาหารได้รับการคัดเลือกในคู่มือก่อน ๆ หน้า และคว้ารางวัลดาวมิชลินดวงแรกมาครองได้สำเร็จ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

“แม้สามีจะไม่เห็นกับคำพูดเหล่านี้ แต่ฉันมองว่าผู้หญิงมีวินัยมากกว่าโดยธรรมชาติ พวกเรามีวิธีรับมือกับความเครียดที่ต่างจากผู้ชาย เราเห็นอกเห็นใจพนักงานใหม่มากกว่าเวลาฝึกอบรมที่ร้าน ความหลากหลายในห้องครัวไม่เพียงแต่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ว่าคุณจะเพศใด สถานที่ทำงานก็ควรสนับสนุนและเสริมพลังให้กับทุกคนที่สมควรได้รับ ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานในกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยผู้นำหญิง โดยเฉพาะด้านอาหาร เรามีเชฟผู้หญิงหลายคนที่เป็นแรงบันดาลใจและปูทางให้กับคนรุ่นต่อไอย่างน่าชื่นชม ตั้งแต่เชฟโบจากโบลาน เชฟบีจาก Paste เชฟแพมจากโพทง เชฟตามจากบ้านเทพา เชฟการิมาจาก Gaa และแน่นอนว่ารวมถึงเจ๊ไฝในตำนานด้วยค่ะ”


บทสัมภาษณ์

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ

เลือกวันที่เข้าพักของคุณ
อัตราใน THB สำหรับ 1 คืน, 1 แขก