บทสัมภาษณ์ 2 minutes 25 กรกฎาคม 2023

เชฟพิม เตชะมวลไววิทย์ หญิงแกร่งผู้ไม่หยุดลัดฟ้าเพื่อคว้าดาว

เชฟหญิง 1 คนกับ 3 ร้านอร่อยใน 2 ทวีป เชฟพิม เตชะมวลไววิทย์จะมาเล่าให้ฟังว่าเธอทำสำเร็จได้อย่างไร

เชฟพิม เตชะมวลไววิทย์ ไม่ได้ขลุกตัวในครัวแต่เด็ก เธอไม่เคยสัมผัสงานในครัวอาชีพเลยจนกระทั่งเปิด Kin Khao, (รางวัล 1 ดาวมิชลิน) ร้านอาหารแห่งแรกในชีวิตเมื่อพ.ศ.2557 แม้ภูมิหลังจะแปลกแยกกว่าเชฟหลายราย แต่เส้นทางในวงการอาหารของเธอกลับพุ่งทะยาน จาก 1 ร้านกลายเป็น 3 ควบระหว่าง 2 ทวีป เมื่อเราถามว่าทำทุกอย่างสำเร็จได้ยังไง เธอตอบว่า “เพราะทีมงานที่เก่งมากของเรา”


จากคอมสู่ครัว

เชฟพิมเริ่มต้นเส้นทางอาชีพในซิลิคอนแวลลีย์ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เธอหันมาถามตัวเองว่า “แก่ตัวไปอยากทำอะไร” เธอจึงเริ่มเขียนบล็อกอาหารในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษที่ 21 ดึงดูดผู้อ่านหนาแน่นในเวลาไม่นาน เธอเปลี่ยนความหลงใหลในผลไม้หน้าตาสวยงานและรสชาติถูกปากของแคลิฟอร์เนียให้กลายเป็นธุรกิจแยมแสนเฟื่องฟู และเมื่อลองตระเวนทานอาหารไทยในซานฟรานซิสโก เธอก็พบว่าวัตถุดิบที่ใช้ยังไม่ได้คุณภาพ จึงกลายเป็นไอเดียที่นำไปสู่ร้าน Kin Khao (กินข้าว) ที่นิยามตัวเองว่า “ครึกครื้น คับคั่ง และสนุกสนาน” ถึงจะมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม แต่ตอนนั้นยังขาดประสบการณ์ เธอขำก่อนเล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดก่อนเปิดตัวร้านคือ นั่งเขียนสิ่งที่ฉันทำไม่เป็นบนกระดาษโน้ต” แน่นอนว่าเธอหาคนมาช่วย จ้างทั้งที่ปรึกษาและคนในพื้นที่มาทำงาน แต่สุดท้ายก็ยังต้องทำอาหารเองอยู่ดี

มิชลินมาเยือน

“ยังจำได้แม่นเลย เราเปิดร้านตอนมีนาคม ปี 2557 ได้ดาวมิชลินครั้งแรกเดือนกันยายน ปี 2558 คิดว่าเป็นเพราะอาหารล้วน ๆ เพราะลูกค้าชอบมาแซวว่า ‘ร้านรางวัลมิชลินอะไรโหวกเหวกมาก’”

โอกาสที่ต่อยอด

Kin Khao กำลังไปได้สวยเมื่อมีคนมาชวนเชฟพิมเปิดร้านใน Hotel Kabuki “พื้นที่สวย หน้าต่างอลังการ” จนเธอปฏิเสธไม่ลง เกิดเป็นร้าน Nari ในซานฟรานซิสโก เธอหัวเราะก่อนบอกว่า “พอมาก็กระหน่ำกันมาเลย” เพราะในช่วงเดียวกัน คริสตินา ออง (Christina Ong) จากเครือ COMO ก็มาชวนเธอไปดูแลร้าน Nahm (รางวัล 1 ดาวมิชลิน) “ถึงจะต้องดูแล 2 ร้านในซานฟรานซิสโก แต่คุณแม่ฉันอก็อยู่กรุงเทพฯ จะปฏิเสธโอกาสนี้ได้ยังไง” เมื่อเชฟพิมบินกลับสู่เมืองเกิด เธอก็ค้นพบว่าเธอสนุกกับการทำทุกอย่างที่ร้าน Nahm “ไม่ว่าจะไปเดินตลาดหรือทำอาหารในครัว รู้สึกสนุกมากเลย” เธอจึงตั้งใจว่าต้องทำให้ร้านประสบความสำเร็จให้ได้

เธอเริ่มบริหารร้าน Nahm ในเดือนเมษายน ปี 2561 อยู่เมืองไทยตลอด 3 เดือนเพื่อเตรียมทุกอย่างให้พร้อม “ช่วงปีแรก ๆ บินไปกลับบ่อยมากจนพนักงานยูไนเต็ดแอร์ไลน์เรียกเราเหมือนเรียกเพื่อน” แต่แล้วโควิดก็พลิกทุกอย่าง เธอบินกลับเมืองไทยไม่ได้ เธอให้เครดิตทีมงานเปี่ยมความสามารถที่ช่วยให้ร้านเดินหน้าต่อไปได้

Adahlia Cole/Kin Khao
Adahlia Cole/Kin Khao
Anson Smart/Nari
Anson Smart/Nari

3 ร้านกับ 2 ทวีป

โดยปกติ แค่ดูแลร้านอาหารแห่งเดียวก็แทบจะไม่เหลือเวลาว่าง แต่วินัยของเชฟพิมทำให้เธอคุมทุกร้านอยู่หมัด “ทำอะไรให้เป็นกิจวัตรสำคัญมาก ฉันจะนั่งเที่ยวบินเดิมเสมอ พอมาถึงกรุงเทพฯ ฉันจะไปเดินตลาดก่อนทุกครั้ง” เธอวางแผนเดินทางล่วงหน้าเป็นอย่างดี โดยจะบินมาไทยปีละ 3-4 ครั้ง และอยู่ครั้งละ 3-4 สัปดาห์

ตัดภาพมาที่แคลิฟอร์เนีย เธอจะเริ่มทำงานที่ร้าน Kin Khao “ถ้าวันไหนไม่มีประชุม ครึ่งหลังของกะกลางวันจะเดินเสวนากับคนในร้าน ทั้งพนักงานและลูกค้า พนักงานบางคนทำงานกับพิมตั้งแต่เปิดร้าน” พอบ่ายแก่ ๆ เธอจะไปดูร้าน Nari “เดินทั่วห้องอาหาร คอยดูว่าทั้งลูกค้าและคนทำงานมีความสุข” บางครั้งก็หมายถึงการทำเมนูโปรดแถมให้ลูกค้าประจำ บางครั้งก็คือช่วยพนักงานรับโทรศัพท์และเสิร์ฟอาหาร ถ้ามีเวลา เธอจะนั่งทานอาหารทั้งมื้อในร้าน “เป็นโอกาสเรียนรู้ที่ดีนะคะ ปรุงอาหารถูกต้องไหม ร้อนกำลังดีหรือเปล่า ซอสเยอะไปไหม”

การสื่อสารที่ชัดเจน

เธอรู้ดีว่าไม่สามารถแยกร่างไปประจำทั้ง 3 ร้านได้ในเวลาเดียวกัน “ฉันแบ่งร่างโดยดูจากความจำเป็น” แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสาร “ฉันเชื่อว่าเราต้องพูดคุยระหว่างกัน ฉันจะลากผู้ช่วยเชฟหรือผู้จัดการของ Nari ไปดูงาน Nahm และคนจาก Nahm ไปเรียนจาก Nari ทุกคนรู้จักกันหมด”

ยังคงสนุก

ชีวิตเธออาจจะวุ่นวาย แต่เธอยังสนุกกับการเดินทางทุกระยะ ไม่ว่าจะสั้น ๆ จาก Kin Khao ไป Nari หรือข้ามฟากมหาสมุทรมาเมืองกรุง “ตอนโควิด มีแวบหนึ่งที่คิดว่า เหนื่อยเหลือเกินที่ต้องคอยแยกร่างไปมา 2 ทวีป แต่พอได้บินอีกครั้งก็นึกได้ว่า เราทำเพราะสนุกกับมัน เดี๋ยวหาทางบริหารเอาได้”

แน่นอนว่า เธอค้นพบหนทางนั้นแล้ว

Sansith Koraviyotin/Nahm
Sansith Koraviyotin/Nahm
Photo: Adahlia Cole
Photo: Adahlia Cole

Hero image: Adahlia Cole

บทสัมภาษณ์

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ