ทุกประเทศต่างก็มีเทศกาลและอาหารประจำฤดูร้อนของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แน่นอนว่าประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรที่เต็มไปด้วยสีสันอย่างประเทศไทยก็มีเทศกาลสงกรานต์อันเลื่องชื่อที่บรรดานักเดินทางจากทั่วโลกอยากจะเดินทางมาสัมผัสความสนุกงดงามทางวัฒนธรรมด้วยกันสักครั้ง แต่รู้ไหมเอ่ยว่าอะไรเป็นเมนูเด็ดคลายร้อนเย็นใจประจำเทศกาลสงกรานต์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง คำตอบคือ “ข้าวแช่”

ทำไม "ข้าวแช่" จึงเป็นเมนูเด่นประจำเทศกาลสงกรานต์
“ข้าวแช่” เป็นอาหารโบราณ มีต้นกำเนิดและได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของชาวมอญที่เรียกว่า “เปิงด้าจก์” หรือ “เปิงซังกราน” แปลว่าข้าวน้ำ ซึ่งไม่ได้รับประทานกันเป็นประจำ แต่ทำเพื่อรับประทานและไหว้บูชาขอพรเทพเทวากันในวันมหาสงกรานต์ ต่อมาคนไทยได้มีการปรับให้เข้ารสนิยมจนมีเอกลักษณ์อย่างไทย นิยมรับประทานในช่วงกลางฤดูร้อนเพื่อให้รู้สึกเย็นชื่นใจคำว่า “ข้าวแช่” หมายถึง “ข้าวที่แช่ในน้ำ” นี่เป็นสำรับเมนูที่มีความพิเศษ โดยทั่วไปจะประกอบด้วยข้าวหอมมะลิที่แช่น้ำลอยดอกมะลิให้หอม เสิร์ฟคู่เครื่องเคียงหลากหลาย ซึ่งแต่ละอย่างต้องอุทิศเวลาตระเตรียม เช่น ลูกกะปิ ไชโป๊ผัดหวาน ปลาหวาน หอมทอด พริกหยวกสอดไส้ ฯลฯ ส่วนผักสดเคียงก็อาจมีแตงกวา กระชาย มะม่วงดิบเพื่อตัดรส ฯลฯ ด้วยความที่มีกรรมวิธีและขั้นตอนมากมาย เช่น ข้าวที่ใช้ต้องเป็นข้าวหอมมะลิเก่า น้ำลอยดอกไม้ต้องนำมาอบร่ำควันเทียน เครื่องเคียงหลายอย่างต้องตระเตรียมล่วงหน้านานหลายวัน การจัดสำรับข้าวแช่ก็ต้องงดงามพิถีพิถัน จึงเป็นอาหารแสนพิเศษและละเมียดละไม จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมนูสดชื่นคลายร้อนนี้จะถูกยกให้เป็นราชินีประจำฤดูร้อน
ด้านเหตุผลที่เป็นเมนูเด่นห้ามพลาดประจำเทศกาลสงกรานต์ก็เพราะสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของไทย เป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ไทย การรับประทานข้าวแช่ในช่วงสงกรานต์คือการเฉลิมฉลองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยให้สดชื่นตลอดฤดูร้อนอันร้อนอบอ้าว การทำและรับประทานข้าวแช่จึงเป็นประเพณีสำคัญของชาวไทย ทั้งยังเป็นเมนูพิเศษที่หารับประทานได้ในช่วงนี้เท่านั้น
ปัจจุบันข้าวแช่ก็เช่นเดียวกับอาหารอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายแตกต่างตามแต่ละภูมิภาคหรือวิธีการทำแต่ละสูตรแต่ละตำรับของแต่ละครอบครัว เช่น ข้าวแช่เมืองเพชรนั้นมีเครื่องเคียงเพียง 3 อย่าง หรือข้าวแช่ตำรับตระกูลบุนนาค บ้านสุโขทัย ก็ใช้น้ำลอยดอกไม้ถึง 4 ชนิด และมีกรรมวิธีทำเครื่องเคียงเฉพาะของตนเอง เป็นต้น ความสนุกของการรับประทานข้าวแช่อีกอย่างจึงอยู่ที่การได้ลิ้มรสข้าวแช่แต่ละตำรับซึ่งมีเอกลักษณ์ความอร่อยแตกต่างกัน ทว่ายังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณสดชื่นคลายร้อนประจำฤดูกาลและเทศกาลสงกรานต์ไม่ต่างกัน

รับประทานข้าวแช่อย่างไรให้อร่อย และการเล่นกับสัมผัสทั้งห้า
รูป: นำเสนออย่างวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็นภาชนะที่ใส่ ไปจนถึงการจัดวางและการแกะสลักผลไม้ สมกับที่ว่า “รับประทานด้วยตาก่อนปากเสียอีก”รส: เครื่องเคียงที่รับประทานแนมกับข้าวแช่มีรสชาติจัดจ้าน หลากรส มอบความสนุกในการรับประทาน โดยต้องรับประทานกับหรือเครื่องเคียงก่อน ให้รสชาติเข้มข้นอยู่ในปาก แล้วค่อยรับประทานข้าวในน้ำลอยดอกไม้ตาม จะได้รสชาติอย่างที่สองซึ่งนุ่มนวลขึ้น
กลิ่น: สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการรับประทานข้าวแช่คือน้ำลอยดอกไม้อบควันเทียน เสริมให้ข้าวแช่เป็น Aroma Therapy ไปด้วยในตัว
เสียง: หมายถึงบทสนทนาของคนที่รับประทานข้าวแช่ด้วยกัน หัวใจหลักของสงกรานต์ก็คือการรวมตัวกันของครอบครัว ดังนั้นเวลารับประทานข้าวแช่ควรรับประทานร่วมกันหลายคน แลกเปลี่ยนบทสนทนาดี ๆ จะทำให้ข้าวแช่อร่อยยิ่งขึ้น
สัมผัส: การรับประทานข้าวแช่นั้นต้องล้างมือก่อนรับประทาน เพราะนอกจากจะใช้ช้อนตักข้าวแช่แล้ว มือของเรานี่แหละที่ใช้ในการหยิบจับเครื่องเคียงและผักผลไม้แกะสลักแนมรับประทาน ทำให้ได้สัมผัสถึงผิวสัมผัสที่มีทั้งอ่อนนุ่มและกรุบกรอบ
แถมวิธีการกินข้าวแช่
เคล็ดลับในการรับประทานข้าวแช่ให้อร่อยและถูกต้องนั้น เราควรเริ่มจากรับประทานเครื่องเคียงต่างๆ ซึ่งมีรสชาติเข้มข้นก่อน จากนั้นจึงกินข้าวแช่ และน้ำลอยดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมนุ่มนวลตาม เพราะจะทำให้ข้าวแช่ยังคงความหอมกลิ่นน้ำลอยดอกไม้ และน้ำข้าวแช่ไม่มัน เสียรสชาติ โดยข้อห้ามคือ ไม่ควรตักเครื่องเคียงลงไปใส่ในข้าว และน้ำลอยดอกไม้อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำมันลงไปในน้ำลอยดอกไม้ และกลิ่นคาวหวานจะปะปนกัน ซึ่งจะทำให้ข้าวแช่เสียรสชาติ และความหอมไปอย่างน่าเสียดาย โดยระหว่างที่กินเครื่องเคียงและข้าวแช่นั้นก็รับประทานผักหรือผลไม้แนมตัดเปรี้ยวเพื่อล้างปากก่อนที่รับประทานคำต่อไป
ร้านอาหารแนะนำที่เสิร์ฟข้าวแช่
ดังที่เกริ่นไปแล้วว่าข้าวแช่ มีมากมายหลายตำรับ เป็นอาหารพิเศษที่รับประทานกันเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น ยกเว้นจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นอาหารว่างที่อยู่ในชีวิตประจำวันมีขายตลอดปี กลายเป็นหนึ่งในเนูเด่นที่เมื่อพูดถึงข้าวแช่ ต้องนึกถึง ‘ข้าวแช่เมืองเพชร’ แต่เมื่อถึงฤดูร้อนเมื่อไหร่ ก็จะมีข้าวแช่ให้เลือกอร่อยหลากหลายทั่วไป นี่คือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์และการประชันกันผ่านสำรับข้าวแช่ของแต่ละร้านโดยแท้ ช่วงเวลานี้เองที่ร้านอาหารไทยแต่ละแห่งจะทำสำรับข้าวแช่ออกมานำเสนอให้บริการอย่างไม่ยอมน้อยหน้ากัน แน่นอนว่าร้านอาหารไทยใน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 ย่อมมีข้าวแช่ให้บริการอยู่หลายร้าน ทั้งนี้เราขอเลือกมานำเสนอให้ดูว่าสำรับข้าวแช่ของแต่ละแห่งมีความว้าวและน่าสนใจอย่างไรกันบ้าง
พระนคร
ร้านอาหารแนะนำ, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 ร้านพระนครตั้งอยู่ในโรงแรมเจ้าของรางวัลกุญแจมิชลิน 2 ดอก ประจำปี 2567 อย่าง Capella Bangkok เชฟกรรณิกา จิตรสังวรณ์ เผยถึงสำรับข้าวแช่ของพระนครว่า “ข้าวแช่ของพระนครตำรับนี้มีเอกลักษณ์พิเศษคือเลือกใช้ข้าวหอมมะลิที่นำมาหุงและขัดข้าวอย่างละเมียดละไมเพื่อให้ได้ข้าวเม็ดสวย ก่อนนำไปแช่น้ำลอยดอกไม้หอมอย่างดอกมะลิ ดอกกระดังงาไทย ดอกชมนาด และกุหลาบมอญ จึงทำให้ได้รสชาติและกลิ่นหอมที่แตกต่างจากข้าวแช่ทั่วไป” พร้อมเสริมว่า “นอกจากนั้นเรายังมีเครื่องเคียง เช่น ลูกกะปิทอดจากวัตถุดิบท้องถิ่น พริกหยวกยัดไส้ห่อด้วยแพไข่ หัวหอมสอดไส้ทอดก็ใช้ปลาช่อนยัดไส้ รวมถึงผักแนมในสำรับข้าวแช่ที่จัดเสิร์ฟอย่างสวยงาม”
เธอยังบอกเคล็ดลับวิธีรับประทานโดยให้รับประทานลูกกะปิพร้อมกระชาย ส่วนหอมทอดสอดไส้รับประทานกับมะม่วง พริกหยวกสอดไส้รับประทานกับต้นหอม แล้วจึงรับประทานข้าวแช่ตาม
พิกัด: ล็อบบี้ด้านล่าง โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ 300/2 ถ.เจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ

แก่น
ร้านอาหารแนะนำ, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568แก่น ร้านอาหารไทยร่วมสมัยของเชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ นำวัตถุดิบจากภาคอีสาน โดยเฉพาะขอนแก่น มารังสรรค์สำรับข้าวแช่ที่ไม่เหมือนใคร “เราประยุกต์ความเป็นอีสานเข้ากับข้าวแช่แบบดั้งเดิมโดยใช้ข้าวหอมมะลิเก่าจากทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน เป็นเรื่องแปลกที่คนอีสานกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก แต่หนึ่งในข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในประเทศไทยกลับปลูกที่ภาคอีสาน” เครื่องเคียงของแก่นมีทั้งลูกกะปิ ปลายี่สนกวน ไชโป๊หวาน หอมยัดไส้ พริกหยวกสอดไส้ปลาร้าเค็มจากแก่งละว้า และแคบหมูคาราเมล รวมถึงยำผลไม้เปรี้ยวตามฤดูกาล และปิดท้ายด้วยส้มฉุนที่เชฟไพศาลบอกว่า “เพิ่มความสดชื่นในวันร้อน ๆ ได้ดีมาก ๆ”
พิกัด: 140/64 ซ.อดุลยาราม 7 ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น

ชิม บาย สยามวิสดอม
รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568เชฟหนุ่ม-ธนินธร จันทรวรรณ ไม่ได้มองข้าวแช่เป็นเพียงเมนูประจำสงกรานต์เท่านั้น แต่ยังเห็นว่าเมนูนี้เป็นมรดกอันล้ำค่าของอาหารไทย “เราพยายามรักษามรดกดั้งเดิมของข้าวแช่พร้อมปรุงแต่งด้วยความประณีต ด้วยการเตรียมข้าวหอมมะลิอย่างพิถีพิถัน แช่ในน้ำลอยดอกไม้อบควันเทียน เสิร์ฟแบบเย็นเพื่อให้คงกลิ่นหอมและเนื้อสัมผัสอันละเอียดอ่อน ส่วนเครื่องปรุงแต่ละอย่างเราบรรจงทำด้วยฝีมือทั้งหมด ผสมผสานรสชาติเผ็ด หวาน และอูมามิได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกกะปิทอด ไชโป๊หวาน หอมแดงสอดไส้ และพริกยัดไส้ที่ประณีต ด้วยความเอาใจใส่ในรายละเอียดทุกขั้นตอนอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกคำจะถ่ายทอดถึงความสง่างามและความซับซ้อนที่ทำให้ข้าวแช่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของอาหารไทย”
พิกัด: 315 ซ.องค์รักษ์ 13 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ

หากคุณกำลังแพลนทริปเพื่อสัมผัสประสบการณ์หน้าร้อนและเทศกาลสงกรานต์ของไทย อย่าพลาดเปิดประสบการณ์แห่งรสชาติแวะชิมข้าวแช่ที่ร้านอาหารไทยในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ดูรายชื่อร้านอาหารไทยของเราซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะทำสำรับข้าวแช่ทุกปีได้ที่นี่ และอย่าลืมไว้วางใจให้โรงแรมที่ ‘มิชลิน ไกด์’ คัดสรรเป็นตัวเลือกของคุณ โดยดูรายชื่อของโรงแรมที่ได้รับรางวัลทั้งหมดได้ที่นี่ ทั้งนี้หากต้องการอัปเดตสถานที่ท่องเที่ยวก่อนเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมกับ TAT Call Centre เบอร์ 1672 หรือเฟซบุ๊ก TAT Contact Centre กันได้เลย
