ท่องเที่ยว 5 minutes 12 เมษายน 2021

เปิดสำรับสงกรานต์ เที่ยวตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทย

ชวนคุณมาเก็บข้อมูลต่อไปนี้เข้าเช็กลิสต์การเดินทางแล้วเก็บกระเป๋าออกไปปักหมุดกัน

เมื่อฤดูร้อนมาเยือน พืชพรรณและเมนูอาหารประจำแต่ละท้องถิ่นไทยก็เปลี่ยนไปด้วย จากอาหารเพิ่มความอบอุ่นในฤดูหนาวก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารแห่งความสดชื่นรับลมร้อน มากกว่านั้นฤดูร้อนยังมาพร้อมกับเทศกาลสำคัญ นั่นคือ “ปีใหม่ไทย” หรือ “สงกรานต์” ซึ่งก็แน่นอนว่าแต่ละภูมิภาค แต่ละพื้นถิ่นย่อมมีประเพณีเกี่ยวกับสงกรานต์ที่แตกต่างกันไป รวมถึงเมนูอาหารการกินและขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสงกรานต์ด้วยเช่นกัน

เราชวนคุณมาเก็บข้อมูลต่อไปนี้เข้าเช็กลิสต์การเดินทางแล้วเก็บกระเป๋าออกไปปักหมุดกัน ทั้งนี้โปรดตรวจสอบสถานการณ์ COVID-19 ก่อนเดินทาง และอย่าลืมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ เพื่อความปลอดภัยกันด้วย

ภาคเหนือ

ไปเชียงใหม่ กินขนมเทียนล้านนาโบราณ
“ปี๋ใหม่เมือง” ไม่ได้มีแค่การรดน้ำดำหัว การขนทรายเข้าวัด หรือการแห่ไม้ค้ำสะหลีเท่านั้น เรื่องอาหารการกินก็เป็นไฮไลต์ในงานสงกรานต์ของชาวเหนือไม่น้อย โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ เริ่มจาก “ขนมจ็อก” หรือที่ภาคกลางเรียกว่าขนมเทียน บ้างเรียกขนมนมสาว ซึ่งที่เชียงใหม่นั้นพิเศษตรงที่ใส่น้ำอ้อยหอมหวานลงไปผัดกับมะพร้าวขูด เป็นเมนูที่อยู่คู่กับเทศกาลสงกรานต์มาช้านาน มักนิยมทำตามบ้านและนำไปถวายพระในวันเนา นอกจากนี้ยังมี “ขนมปาด” ขนมไทลื้อที่ยังคงต้องใช้ครกกระเดื่องขนาดใหญ่ในการตำข้าวเหนียวให้เป็นแป้งแล้วนำมากวนกับน้ำตาลและกะทิในกระทะใบใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังพอมีให้ชิมแถวอำเภอหางดง ส่วนขนมมงคลอีกอย่างสำหรับสงกรานต์ก็คือ “ข้าวเหนียวแดง” ซึ่งตรงกับ “ข้าววิตู” หรือ "เข้าอี่ทู" ของล้านนา นิยมทำถวายพระ แต่หากินได้ไม่ง่ายในปัจจุบัน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กินข้าวปุ้นสงกรานต์ที่นครพนม
นครพนมไม่ได้มีแค่ตำนานพระธาตุพนมซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา แต่ยังมี “ข้าวปุ้น” หรือขนมจีน อาหารที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่เป็นเมนูประจำเทศกาลสงกรานต์ที่ชาวอีสานส่วนใหญ่นิยมกินกัน เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานซึ่งไปทำงานต่างถิ่นกลับมาบ้าน การทำข้าวปุ้นกินกันที่บ้านจึงเหมาะสำหรับการต้อนรับคนจำนวนมาก ซึ่งถ้าจะกินข้าวปุ้นให้อร่อยก็ต้องกินแบบเส้นสด หมายถึงการบีบแป้งเป็นขนมจีนเส้นสดกินคู่กับแจ่วหรือน้ำปลาร้า อร่อยและได้ความแซ่บนัวแบบสำรับอีสาน อีกทั้งที่นครพนมยังมีถนนข้าวปุ้น ซึ่งทุกปีมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ รวมทั้งมีอาหารจากข้าวปุ้นให้ได้กินอย่างอิ่มหนำตลอดถนน



ภาคกลาง

กะละแม ของดีสมุทรสงคราม
แม้ปัจจุบันกะละแมกะทิเป็นขนมไทยที่หากินได้ง่ายตามร้านขายของฝากทั่วประเทศและเป็นของฝากชื่อดังประจำเกาะสมุย แต่ทราบหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว “กะละแม” เป็นอาหารงานประเพณีคู่เทศกาลสงกรานต์ที่มีข้อแม้ว่าต้องกวนกะละแมให้เสร็จก่อนเข้าวันสงกรานต์เพื่อจะได้นำไปถวายพระ เหตุที่การกวนกะละแมต้องทำเฉพาะงานสำคัญเพราะเป็นขนมที่ต้องใช้แรงคนมาร่วมทำ ตั้งแต่ถ่านที่ต้องใช้ไฟอ่อน ๆ ต้องใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่มากในการกวน และต้องใช้แรงคนสับเปลี่ยนกันใช้ไม้พายกวนกะละแมตลอด 6-7 ชั่วโมงให้ได้ความเหนียวนุ่ม ไม่แข็งตัว ปัจจุบันประเพณีกวนกะละแมยังมีให้เห็นที่วัดศรัทธาธรรม ซึ่งเป็นชุมชนมอญในจังหวัดสมุทรสงคราม แหล่งขึ้นชื่อเรื่องการผลิตกะทิ น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลโตนดที่เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศของการทำกะละแม

นนทบุรี ข้าวแช่ตำรับมอญ
เกาะยอดฮิตของการท่องเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์อย่างเกาะเกร็ดนั้นโดดเด่นด้วยวัฒนธรรมชาวมอญ หรือรามัญ ที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผา เพราะชาวมอญที่อพยพมายังเกาะเกร็ดคือกลุ่มกวานอาม่านผู้มีความเชี่ยวชาญในงานเครื่องปั้นดินเผาไม่ว่าจะเป็นโอ่ง ไห ซึ่งได้กลายมาเป็นงาน OTOP ของดีขึ้นชื่อของเกาะ ส่วนใจกลางเกาะคือที่ตั้งของวัดปรมัยยิกาวาส วัดที่ยังคงเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญไว้ และที่จะพลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนเกาะเกร็ดก็คืออาหารมอญ นั่นคือ “ข้าวแช่” อาหารงานเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่ชาวมอญทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อถวายพระ มีเครื่องเคียงหลากหลายครบคาวหวาน ทั้งลูกกะปิทอด หมูกับปลาเค็มปั้นทอด ไชโป๊หวาน ปลาหวาน พริกหยวกสอดไส้ หัวหอมทอดสอดไส้ และผัก สามารถแวะกินได้ทั้งปีเพราะมีร้านที่เปิดขายข้าวแช่สูตรมอญให้ได้เลือกกัน


(© สุนันทา ไหมดี / MICHELIN Guide Thailand)
(© สุนันทา ไหมดี / MICHELIN Guide Thailand)

สมุทรปราการ สงกรานต์พระประแดง
นครเขื่อนขันธ์ หรือพระประแดง เป็นชุมชนชาวมอญที่อพยพมาไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยประเพณีวัฒนธรรมที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนก็คือสงกรานต์พระประแดง หรือสงกรานต์ปากลัด ตามปกติจะจัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งถ้าเทียบระดับความสนุกในการเล่นสาดน้ำ สงกรานต์พระประแดงนั้นติดอันดับไม่แพ้ถนนข้าวสาร แต่มากกว่านั้นคือเกร็ดทางวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดเปลี่ยนผ่านจากมอญในครั้งอดีตจนมาเป็นสงกรานต์มอญพระประแดง เทศกาลนี้ไม่ได้มีแค่ประกวดนางสงกรานต์ แต่ยังมีการประกวดหนุ่มลอยชายในชุดรามัญ รวมทั้งขบวนแห่ปล่อยนกปล่อยปลา ส่วนการละเล่นพื้นถิ่นก็มาครบทั้งสะบ้ารามัญและทะแยมอญที่หาชมได้ยาก และในปี 2564 นี้ที่งดสาดน้ำวันสงกรานต์ ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการก็ได้จัดลอยกระทงในวันสงกรานต์ท่ามกลางประวัติศาสตร์เมืองโบราณจำลองที่ย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดประดิษฐาราม ความลับของกรุงเทพฯ
เอ่ยชื่อวัดประดิษฐาราม คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจไม่รู้จัก และที่นี่ก็ยังคงถูกเก็บเป็นความลับของกรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน ชุมชนรอบวัดประดิษฐารามนั้นเรียกขานมาแต่ดั้งเดิมว่า “บ้านมอญ” แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญทวายและชาวมอญมะริดที่อพยพเข้ามาในไทยช่วงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ในยามปกติรอบชุมชนก็ใช้ชีวิตตามวิถีสมัยนิยม แต่พอเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์เมื่อใด ลูกหลานชาวมอญจะกลับมารวมตัวกันแล้วจัดประเพณีสงกรานต์มอญขึ้น ผู้คนต่างแต่งกายด้วยชุดมอญมายังวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธา มีทั้งการละเล่นสะบ้า แห่ธงตะขาบและเสาหงส์ พร้อมรักษาธรรมเนียมสรงน้ำพระด้วยรางไม้ขนาดยาวไว้ และที่จะขาดไม่ได้คือการร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญชุมชนวัดประดิษฐ์ฯ ทำข้าวแช่ถวายพระตามธรรมเนียมของชาวมอญ ซึ่ง “ข้าวแช่” ถือเป็นอาหารงานประเพณีที่ในหนึ่งปีชาวมอญจะทำขึ้นสำหรับเพื่อถวายพระในวันสงกรานต์เท่านั้น


อ่านบทความเกี่ยวข้อง: ข้าวแช่ เมนูประจำฤดูร้อน


ภาคตะวันตก

เพชรบุรี จังหวัดแห่งข้าวแช่
ทุกฤดูร้อน “ข้าวแช่” คือเมนูที่แทบทุกร้านอาหารไทยต้องมี แต่ทราบหรือไม่ว่ามีอยู่จังหวัดหนึ่งที่เสิร์ฟข้าวแช่เป็นของว่างกินเล่นตลอดทั้งปี ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง “เพชรบุรี” จังหวัดแห่งข้าวแช่ที่สามารถหาเมนูนี้กินกันได้ตลอดปี แถมราคาก็สบายกระเป๋า มักหาซื้อได้ตามหัวมุมถนนและตลาดทั่วไป แต่ในสถานการณ์ที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มร้อย ถ้าให้ชัวร์เราแนะให้ตรวจสอบหาร้านก่อนล่วงหน้าเป็นดี เพื่อจะได้ไม่มาเก้อ

ข้าวแช่เมืองเพชรบุรีนี้มีตำนานมาพร้อมกับการสร้างพระนครคีรี หรือเขาวัง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งการเสด็จมาประทับแรมของพระองค์ทำให้อาหารชาววังหลายชนิดเริ่มผสมผสานกับสำรับดั้งเดิมของท้องถิ่น หนึ่งในนั้นก็คือ “ข้าวแช่ชาววัง” แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความละเมียดของข้าวแช่ชาววังที่มีเครื่องหลายชนิดก็ถูกตัดทอนเป็นข้าวแช่สูตรของชาวบ้าน มีเครื่องแค่ปลาหวาน หัวไชโป๊ผัด และลูกกะปิ ส่วนน้ำข้าวแช่นั้นหอมด้วยการอบดอกไม้ไทยนานาชนิดและแช่ใส่โอ่งดิน กินหน้าร้อนไม่ต้องใส่น้ำแข็งก็ชื่นใจ (ย้ำว่ากินแบบเพชรบุรีแท้ ๆ ห้ามใส่น้ำแข็งในข้าวแช่เด็ดขาด) ความนิยมของข้าวแช่ทำให้เพชรบุรีตั้งถนนชื่อ “ข้าวแช่” ขึ้นมา และในยามปกติถนนข้าวแช่ก็จะเป็นศูนย์กลางการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ทุกปีอีกด้วย

สงกรานต์มอญสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
การผสมผสานทางวัฒนธรรมคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของสงกรานต์ และถ้ามุ่งหน้าสู่ตะวันตกสุดของประเทศที่อำเภอสังขละบุรี ชายแดนไทย-เมียนมา ที่นั่นมีประเพณีสงกรานต์มอญที่ยิ่งใหญ่และเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นั่นคือสงกรานต์มอญที่วัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ (ผู้สร้างสะพานไม้ความยาว 850 เมตร อันเป็นไฮไลต์การท่องเที่ยวสังขละบุรี) โดยประเพณีหนึ่งที่สืบต่อกันมาคือการที่ผู้มีจิตศรัทธาซึ่งเป็นผู้ชายจะนอนราบลงกับพื้นต่อกันเป็นทางเดินยาวให้พระสงฆ์เดินเหยียบข้ามไปเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และกินความถึงการปวารณาตัวเข้าสู่พระพุทธศาสนา ซึ่งประเพณีนี้เกิดจากความศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะผู้สร้างชุมชนชาวมอญสังขละบุรีให้เข้มแข็ง

ตามปกติทุกปีสงกรานต์มอญสังขละบุรีจะจัดตลอด 5 วันเต็ม มีทั้งงานสรงน้ำพระด้วยรางไม้ไผ่ยาวแบบโบราณ มีการแห่กองผ้าป่า และการทำอาหารพิเศษที่คล้ายกับข้าวแช่ แต่มีวัตถุดิบ รสชาติแตกต่างจากชุมชนมอญที่อื่น ๆ จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานสงกรานต์มอญสังขละบุรีเท่านั้น


ภาคใต้

แห่ “นางดาน” หนึ่งเดียวในไทยที่นครศรีธรรมราช
หากไม่มีเหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 ทุกปีเราจะได้เห็นประเพณีสงกรานต์ในแบบฉบับธรรมเนียมพราหมณ์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กับงานแห่ “นางดาน” หนึ่งเดียวในไทย ซึ่งตอกย้ำความเป็นพหุวัฒนธรรมของเมืองนครศรีธรรมราชและการเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอดีต โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายนของทุกปี ทางจังหวัดมีการอัญเชิญแผ่นไม้แกะสลักที่เรียกว่า “นางดาน” ไปที่หอชิงช้า โดยการแห่นางดานนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมายังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย

หมายเหตุ: งานสงกรานต์ ปี 2564 งดการเล่นสาดน้ำทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยยังทำได้เฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่และสรงน้ำพระ ทั้งนี้โปรดติดตามความเคลื่อนไหวจากทางการอย่างใกล้ชิดผ่าน ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php และ www.tat.or.th/th


อ่านต่อ: เปิดสูตร (ไม่) ลับการทำข้าวแช่

ภาพเปิด: ©Shutterstock

ท่องเที่ยว

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ