อาหารไทยและประเทศไทยต่างทยอยขึ้นชาร์ตอันดับต้น ๆ ของเอเชียและของโลกในหมวดปลายทางที่ห้ามพลาด รวมทั้งรสชาติความอร่อยที่ต้องมาลิ้มรสให้ได้สักครั้ง ซึ่งนอกจากภาพจำของสตรีตฟูดรสชาติเยี่ยมที่เสิร์ฟความหลากหลายของอาหารและสามารถพบเจอได้ทุกมุมถนนในทุกเมืองแล้ว อาหารไทยยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนประวัติศาสตร์ บอกเล่าวิถีชุมชน พ่วงด้วยอาหารที่สื่อสารถึงวัฒนธรรมประเพณี การันตีโดยคำบอกเล่าจาก 5 เชฟแถวหน้าระดับเอเชียเหล่านี้ ที่ต่างประสานเสียงบอกว่า “ตกหลุมรักอาหารไทย” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนเชฟคนไหนจะมีเมนูโปรดอะไร และมีพิกัดไหนที่ต้องออกไปตามรอยกันบ้าง กดเซฟลิสต์ไว้ได้เลย
เชฟเจสัน ตัน (Jason Tan)
Euphoria (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศสิงคโปร์ ประจำปี 2566)“ผมรักในความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม และก็แน่นอนว่า...รักอาหารไทย” เชฟเจสัน ตัน ซึ่งประสบความสำเร็จจากร้านอาหารแนว Gastro-Botanica ที่เปิดเสิร์ฟประสบการณ์การกินอาหารแบบใหม่นี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2014 ในประเทศสิงคโปร์ ให้คำตอบสั้น ๆ แต่ขยายภาพเสน่ห์ของเมืองไทยได้อย่างชัดเจน
เชฟเจสันบอกว่าถ้านึกถึงเมืองไทยเขาจะนึกถึงความเป็นมิตรของผู้คน รวมทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่โดดเด่น และในส่วนของอาหารเชฟเจสันบอกว่าความสดใหม่ของวัตถุดิบคือข้อได้เปรียบที่ทำให้อาหารไทยมีความหลากหลาย และการได้ออกไปเดินซอกแซกในตลาดท้องถิ่นเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบและอาหารเป็นสิ่งที่ห้ามพลาดเมื่อมาถึงเมืองไทย
และเมื่อถามถึงเมนูโปรดที่ต้องกินเมื่อมาถึงเมืองไทย เชฟเจสันตอบทันทีว่า “ข้าวเหนียวมะม่วงแบบดั้งเดิมคือที่สุด” โดยเขาบอกเหตุผลว่า “เพราะประเทศไทยสามารถปลูกมะม่วงที่มีรสหวานได้ ซึ่งมันตัดกับรสของข้าวเหนียวได้อร่อยและเข้ากันมาก ๆ เลย”
ลองชิมข้าวเหนียวมะม่วงที่:
ซะอิยุ ฮะเซะกะวะ (Chef Zaiyu Hasegawa)
Den (รางวัลสองดาวมิชลิน และรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับเมืองโตเกียว ประจำปี 2566)“ผมมีสถานที่ที่ประทับใจหลายแห่งมากหากพูดถึงเมืองไทย โดยเฉพาะวัด เพราะผมเองก็เป็นชาวพุทธ อย่างครั้งแรกที่ได้ไปวัดโพธิ์ก็ตื่นเต้นในความยิ่งใหญ่มาก ๆ ส่วนถ้าพูดถึงอาหารผมชอบอาหารแบบโลคัลของไทย”
เชฟซะอิยุ ฮะเซะกะวะย้อนเล่าความประทับใจเมื่อครั้งมาเยือนเมืองไทย ซึ่งแม้จะเป็นชาวพุทธและที่ญี่ปุ่นเองก็มีวัดเก่าแก่มากมาย แต่เมื่อได้มาเที่ยววัดโพธิ์เชฟซะอิยุก็ยังอดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นกับความเป็นไทยในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และอย่างที่เชฟบอกว่าเขาหลงรักอาหารท้องถิ่นของไทย ดังนั้นทริปล่าสุดที่มาเมืองไทยเขาจึงตรงไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อลิ้มรสอาหารท้องถิ่นที่ร้านเรือนปั้นหยา ร้านรางวัลบิบ กูร์มองด์ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2566
“ผมยกให้เรือนปั้นหยาเป็นร้านที่ส่งต่อแรงบันดาลใจเรื่องอาหารท้องถิ่นได้ดีมาก ๆ และทำให้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทย ได้รู้จักรสชาติของอาหารไทยดีขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะได้มากินที่เรือนปั้นหยา ภาพจำของอาหารไทยสำหรับผมหรือกระทั่งชาวญี่ปุ่นเองคือความเผ็ด อาหารไทยต้องเผ็ด แต่พอมากินที่เรือนปั้นหยาถึงได้รู้ว่ารสชาติของอาหารไทยมีมิติที่หลากหลายกว่านั้น เป็นประสบการณ์การกินอาหารไทยที่ประทับใจมากจริง ๆ”
นอกจากร้านเรือนปั้นหยาแล้วเชฟยังกระซิบดัง ๆ ว่า “อาหารริมทาง” ก็เป็นอีกหมุดหมายที่จะพลาดไม่ได้เมื่อมาเมืองไทยเช่นกัน
ลองอาหารไทยดั้งเดิมที่:
อัคมัล อานัวร์ (Akmal Anour)
11 Woodfire (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับเมืองดูไบ ประจำปี 2566)แม้จะเปิดทำการความอร่อยฉบับหนึ่งดาวมิชลินอยู่ที่มหานครดูไบ แต่เชฟชาวมาเลย์-สิงคโปร์อย่างเชฟอัคมัล อานัวร์ กลับคุ้นเคยกับอาหารไทยและประเทศไทยอย่างมาก และตอนที่เชฟอาศัยอยู่สิงคโปร์ก็มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยบ่อยครั้งจนสามารถยืนยันได้ว่า “ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนรักอาหาร”
“ผมยกให้เมืองไทยเป็นราชาอาหารริมทาง (The King of Street Food) คุณสามารถพบเจออาหารที่มีความหลากหลายมากจากหลายภูมิภาคตั้งแต่เหนือจรดใต้ได้ในอาหารริมทาง แล้วผมก็ชอบกินข้าว จึงหาอาหารดี ๆ ได้ไม่ยากเลย ที่เมืองไทยเรื่องอาหารการกินนั้นอยู่ใกล้ตัวมาก และก็ทำให้เรามีความสุข สนุกจากมื้ออาหารได้ง่ายเช่นกัน”
เมื่อถามถึงอาหารไทยที่ประทับใจ เชฟอัคมัลบอกว่าอาหารไทยมีความหลากหลาย จึงยากมากหากจะบอกว่าชอบจานไหนที่สุด แต่ถ้าให้นึกและตอบในทันทีก็จะเป็น “ไข่เจียว” แบบไทยที่แตกต่างจากที่อื่น ส่วนพวกปูหรืออาหารทะเลก็อร่อยมากเช่นกัน นอกจากนี้เขายังปลื้มเมนูข้าวกับแกงประเภทต่าง ๆ หรือต้มยำ หรือจะเป็นส้มตำก็เป็นเมนูที่นึกถึงเช่นกัน
“อีกเหตุผลที่ผมชอบอาหารไทยก็เพราะราคาไม่แพง ซึ่งในความไม่แพงนั้นมีความพิถีพิถันในการปรุงอยู่ จะเรียกว่าเป็นความคราฟต์ก็ได้”
ลองไข่เจียวที่:
ลองส้มตำที่:
ปีเตอร์ ควง แฟรงคลิน (Peter Cuong Franklin)
Ănăn Saigon (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี ประจำปี 2566)“ผู้คน อาหาร สีสัน ความคึกคักมีชีวิตชีวา นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมนึกถึงกรุงเทพฯ”
จากประสบการณ์การทำงานด้านอาหารในฮ่องกงและชิคาโก ทำให้เมื่อเชฟปีเตอร์ ควง แฟรงคลิน ตัดสินใจกลับไปเปิดร้านที่เวียดนาม เขาสามารถผสมผสานความโมเดิร์นลงไปในรสชาติฉบับเวียดนามได้อย่างน่าสนใจ และที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือเชฟปีเตอร์เคยเรียนด้านอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต กรุงเทพฯ อยู่หลายปี จึงทำให้มุมมองต่ออาหารไทยของเขาค่อนข้างคุ้นเคย และรู้จักไฟน์ไดนิงในไทยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นร้านฤดู, โพทง, ศรณ์ ไปจนถึงอาหารริมทาง ที่เชฟเจาะจงเลยว่ามาเมืองไทยต้องได้ลอง “อาหารริมทางแบบอีสาน” เท่านั้น
“จริง ๆ แล้วผมชอบอาหารไทยหลายอย่างมาก แต่ถ้าให้เลือกขอเลือกอาหารบ้าน ๆ แบบอีสานอย่างพวกคอหมูย่าง ไก่ย่าง โดยเฉพาะร้านสองข้างทางในซอยคอนแวนต์ สำหรับผมคอหมูย่างเป็นอะไรที่พิเศษมาก ๆ นะ ทั้งเนื้อสัมผัส รสชาติที่จัดจ้านเมื่อได้กินคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว ซึ่งเป็นน้ำจิ้มต้นตำรับของอาหารอีสาน”
เมื่อถามว่าอะไรเกี่ยวกับแจ่วที่มัดใจเขาได้ขนาดนั้น เขาบอกว่า “ผมชอบรสชาติของน้ำจิ้มแจ่วที่มีทั้งหวาน เผ็ด เปรี้ยว ตัดกับกลิ่นรมควันอ่อน ๆ ที่มากับคอหมู และความกรอบจากเนื้อสัมผัสของพริกแห้งแบบไทย กินกับส้มตำปลาร้า ข้าวเหนียว จับคู่เบียร์ไปด้วยกันคืออร่อยเหาะ”
ลองคอหมูย่างที่
- เผ็ดเผ็ด บิสโทร, กรุงเทพฯ
- ตำกระเทย สาเกต, ขอนแก่น
- ขอนแก่น คอหมูย่าง, ขอนแก่น
- เล ลาว (สาขาอารีย์), กรุงเทพฯ
ลองอาหารไทยไฟน์ไดนิงที่:
ไค โฮ (Kai Ho)
Taïrroir (รางวัลสามดาวมิชลิน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับเมืองไทเป ประจำปี 2566)กว่า 2 ทศวรรษในการตั้งมั่นว่าจะนำเรื่องราวท้องถิ่นของเกาะไต้หวันมาผสมผสานกับการครัวแบบฝรั่งเศส ทำให้เชฟไค โฮ ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของวงการอาหารเอเชีย กับรางวัลสามดาวมิชลินที่ภาคภูมิใจ และสำหรับประเทศไทยนั้นเชฟไคบอกว่าเขาเริ่มรู้จักประเทศนี้ผ่าน “มวยไทย” ก่อนจะรู้จักอาหารและรู้จักมวยไทยตั้งแต่ยังไม่ได้มาเมืองไทยเลยด้วยซ้ำ
เมืองไทยในภาพจำของเชฟมากฝีมือชาวไต้หวันคือประเทศร้อนประเทศหนึ่งที่มีอาหารรสเผ็ดร้อน และแน่นอนว่าอาหารไทยในสายตาคนต่างชาติที่ยังไม่เคยมาสัมผัสเมืองไทยมีเพียงต้มยำ แกงเขียวหวาน และข้าวเหนียวมะม่วง จนกระทั่งเชฟไคมีโอกาสบินมาทำงานช่วงสั้น ๆ ในเมืองไทยเมื่อปี 2562 นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาอยากกลับมาเมืองไทยซ้ำ ๆ
“ครั้งแรกที่มาเมืองไทยผมสัมผัสได้เลยว่าคนไทยน่ารักมาก มีความเป็นกันเอง และเป็นคนสบาย ๆ ก่อนหน้านั้นผมรู้จักมวยไทยและเคยไปยิมมวยไทยที่ไทเป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้จักเมืองไทยดี จนล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาผมเลือกใช้วันพักผ่อนด้วยการบินมาฝึกมวยไทย 10 วันที่พัทยาและกรุงเทพฯ”
นอกจากมวยไทยแล้ว เชฟไคยังบอกอีกว่าเขาปลาบปลื้มอาหารไทยที่ได้กินในเมืองไทยเอามาก ๆ “ถ้าถามถึงเมนูที่ผมชอบที่สุดต้องยกให้ต้มยำของร้านเจ๊ไฝ ก่อนหน้านั้นผมเคยกินต้มยำในร้านอาหารไทยที่ไต้หวันมาก่อน แต่มันเหมือนเป็นเมนูที่เอาทุกอย่างมารวมกันและให้รสเผ็ดกับเปรี้ยวเท่านั้น จนกระทั่งได้มากินต้มยำที่ร้านเจ๊ไฝเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ภาพของต้มยำที่เคยรู้จักก็เปลี่ยนไปเลย”
เชฟไครำลึกถึงรสชาติต้มยำฝีมือราชินีอาหารริมทางของไทยว่า “น้ำซุปต้มยำที่ร้านเจ๊ไฝเป็นต้มยำน้ำใสที่รสชาติชัดเจนมาก ไม่ได้ใส่กะทิลงไปเหมือนที่เคยกิน เราสัมผัสได้ถึงเลเยอร์ของรสชาติแต่ละรส ทั้งมะนาว สมุนไพร สามารถกินทุกอย่างที่ใส่มาในต้มยำได้ เรียกว่าเป็นเมนูในความทรงจำที่เปลี่ยนภาพต้มยำและอาหารไทยไปเลย และอีกเมนูของร้านเจ๊ไฝที่ชอบไม่แพ้กันก็คือก๋วยเตี๋ยวผัดขี้เมาทะเล มันเผ็ดมาก แต่ก็อร่อยสุด ๆ”
หลังจากมาเมืองไทยครั้งแรก เชฟไคก็เลือกกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยอีกหลายครั้ง และแต่ละครั้งก็จะเปิดประสบการณ์ตระเวนชิมอาหารท้องถิ่น ทำให้ค้นพบว่านอกจากต้มยำในความทรงจำแล้วก็ยังมีผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยวเรือ และแน่นอนว่ารวมถึงชานมไทยที่เขาบอกว่าอร่อยมัดใจไม่แพ้ชานมไต้หวันเช่นกัน
“อยากให้ทุกคนมาลองกินหมูกระทะ ปิ้งย่างบาร์บีคิวแบบไทย ๆ เป็นอะไรที่อร่อยและสนุกไปพร้อมกัน”
ลองต้มยำที่
เมืองไทยยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย ทั้งเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวน่าทึ่งไปยันอาหารจานเด็ดที่อร่อยได้ไม่รู้เบื่อ หากต้องการอัปเดตสถานที่ท่องเที่ยวก่อนเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ TAT Call Center เบอร์ 1672 หรือเฟซบุ๊ก TAT Contact Center กันได้เลย
ภาพเปิด: © Courtesy of Taïrroir, Euphoria, Den, 11 Woodfire, Ănăn Saigon, Shutterstock