สิ่งที่น่าสนใจ 3 minutes 17 กุมภาพันธ์ 2022

ถอดรหัสความอร่อย: ส้มตำ

บทวิเคราะห์ความอร่อยของ “ส้มตำ” จานเด็ดประจำชาติไทยอันโด่งดังซึ่งมีอะไรมากกว่ามะละกอ

เมื่อพูดถึงอาหารไทยที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งเป็นที่นิยมของทั้งมหาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ชื่อของ “ส้มตำ” ย่อมถูกหยิบยกมาเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอน หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำจำกัดความของส้มตำว่า “Papaya Salad” แต่รู้หรือไม่ว่านั่นหาใช่คำอธิบายที่ครอบคลุมความมหัศจรรย์ทั้งหมดของส้มตำ เพราะความจริงแล้วสุดยอดอาหารไทยจานนี้ยังมีความหลากหลายและน่าทึ่งกว่านั้นมาก

shutterstock_1940043733 (1).jpg

ความเป็นมาไม่แน่ชัด
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติของส้มตำอยู่หลากหลายเวอร์ชัน บ้างก็สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการนำมะละกอซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทวีปอเมริกากลางเข้ามาปลูกตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่จากหลักฐานตำราอาหารเก่าแก่ของไทยอย่าง “ตำราอาหารแม่ครัวหัวป่าก์” ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2451 หรือสมัยรัชกาลที่ 5) ไม่พบว่ามีสูตรอาหารที่ชื่อว่าส้มตำ มีเพียงสูตรอาหารคล้ายส้มตำ ชื่อ “ปูตำ” ซึ่งใช้มะขามเป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนหลักฐานอีกชิ้นที่มีการบันทึกไว้คือ “ข้าวมันส้มตำ” ในหนังสือ “ตำรับสายเยาวภา” (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2478) ที่ใช้มะละกอในการทำส้มตำเป็นเครื่องเคียงกินกับข้าวมัน บ้างก็ว่าส้มตำซึ่งใช้มะละกอทำอย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้เพิ่งจะแพร่หลายได้ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง

อย่างไรก็ตามจากคำศัพท์ไทยอีสานว่า “ตำส้ม” ซึ่งหมายถึงการนำของที่มีรสเปรี้ยวมาทำนั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าคนไทยอีสานอาจมีเมนูอาหารจานนี้มานานแล้ว เพียงแต่ใช้ผักผลไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ ที่มีรสเปรี้ยวมาตำ จนภายหลังค่อยเกิดความนิยมนำมะละกอมาปรุง และเมื่อคนอีสานอพยพย้ายถิ่นฐานก็ทำให้ “ตำหมากหุ่ง” หรือ “ตำบักหุ่ง” ซึ่งเป็นส้มตำที่ตำด้วยมะละกออย่างที่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกันแพร่หลายตามไปด้วย


Decoding The Delicious Som Tam (1).jpg

ประเภทของส้มตำโดยทั่วไป
ตำไทย
เป็นส้มตำที่ใส่ถั่วลิสงคั่วและกุ้งแห้ง
ตำลาว หรือตำปลาร้า คือส้มตำที่ใส่ปลาร้า
ตำปู คือส้มตำที่ใส่ปูเค็มหรือปูดอง
ตำปูปลาร้า คือส้มตำที่ใส่ทั้งปูและปลาร้า
ตำโคราช คือส้มตำไทยที่ใส่น้ำปลาร้า

คุณพีรณัช ชูดวง เจ้าของร้านอาหารบ้านส้มตำ รวมทั้งร้านบ้านส้มตำ (สาขาสาทร) ที่ได้รับรางวัลบิบ กูร์มองด์ และคุณธัชชัย นาคพันธุ์ CEO เครือ Supanniga Group แห่งร้านส้มตำเด้อ (สาขาสีลม) ที่ได้รับการแนะนำอยู่ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2565 รวมถึงส้มตำเด้อ ในคู่มือ 'มิชลิน ไกด์' ฉบับนิวยอร์ก มาช่วยเฉลยให้เราเห็นความอร่อยและความมหัศจรรย์ของยอดอาหารไทยจานนี้

Decoding The Delicious Som Tam (5).jpg

ความอร่อยและน่าสนใจของส้มตำอยู่ที่ตรงไหน
“ส้มตำเป็นอาหารที่มีความคล้ายคลึงกับสลัด มีจุดเด่นอยู่ที่ความหลากหลาย รสชาติของส้มตำขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เลือกนำมาปรุง คำว่า ‘ส้มตำ’ หมายถึงการนำผลไม้หรือของที่มีรสเปรี้ยวมาตำ ซึ่งหากเปลี่ยนจากมะละกอเป็นผลไม้อื่น ๆ ก็จะเกิดรสชาติใหม่ ๆ ผสมผสานกันขึ้นมา นี่คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยนิยมรับประทานอาหารจานนี้กันได้บ่อย ๆ” พีรณัชกล่าว

ขณะที่ธัชชัยมองว่า “ส้มตำอร่อยด้วยรสชาติที่กลมกล่อมลงตัว ร่วมกับความสดของวัตถุดิบ มีทั้งรสเค็ม เผ็ด หวาน แต่ต้องกลมถึงรส และที่สำคัญคือรสชาติอูมามิ”

นอกจากนั้นเขายังเสริมอีกว่า “ถ้ามององค์ประกอบของส้มตำว่าคล้ายกับสลัดจานหนึ่ง สิ่งที่ทำให้สลัดอร่อยก็คือเดรสซิงที่ดีกับความสดของวัตถุดิบที่ใช้”

พีรณัชเสริมว่า “ส้มตำเองก็ไม่ต่างจากอาหารอื่น ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกสรรวัตถุดิบ และวิธีการเก็บรักษาและการนำวัตถุดิบนั้นมาปรุง เช่น มะเขือเทศที่เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง ร้านเราไม่ใส่แกนกลางของมะเขือเทศลงไป เพราะทำให้ฝาดและไม่ได้รสชาติที่ต้องการ คั่วถั่วลิสงก่อนจะนำลงไปตำเพื่อให้ได้ความนัวและกลิ่นหอมที่ชัดเจน รวมถึงวิธีการหั่นและฝานเส้นมะละกอ เช่น ความอร่อยของตำหลวงพระบางอยู่ที่เส้นมะละกอฝานบางที่ช่วยซึมซับน้ำส้มตำได้มากขึ้น ไปจนการผสมผสานของวัตถุดิบที่เลือกสรรมาใส่ ถ้าเราพลิกแพลงนิดหน่อยก็จะได้รสชาติที่แตกต่างกัน แต่เราต้องเลือกส่วนผสมให้เหมาะสมและส่งเสริมกัน ความหลากหลายตรงนี้คือเคล็ดลับความอร่อยของส้มตำ”

(© Sunantha Maidee/ MICHELIN Guide Thailand)
(© Sunantha Maidee/ MICHELIN Guide Thailand)

น้ำส้มตำคือตัวประสานรสชาติ
รสชาติของส้มตำนอกจากวัตถุดิบที่เลือกมาใส่แล้ว “น้ำส้มตำ” ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ชี้ขาดความอร่อย ซึ่งมีให้เลือกรับประทานทั้งตำปลาร้า ตำปูปลาร้า ตำไทย และตำลาว

พีรณัชบอกว่าสิ่งสำคัญของน้ำปลาร้าคือสมดุลของรสชาติ ซึ่งน้ำปลาร้าจะทำหน้าที่เสมือนเป็นน้ำสลัดที่ประสานเชื่อมโยงรสชาติของวัตถุดิบเข้าด้วยกัน และน้ำส้มตำแต่ละแบบก็มีรสชาติเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน เช่น ส้มตำปลาร้ามีรสชาติแซ่บนัวซึ่งเกิดจากการหมักดองของปลาร้า ส้มตำปูก็มีรสเค็มนำซึ่งมาจากปูดอง หากปรุงให้ออกรสเปรี้ยวหวานหรือเปรี้ยวเค็มก็จะสามารถเพิ่มวัตถุดิบจากทะเลให้ส่งเสริมกันได้ ในขณะที่โดยมากแล้วส้มตำผลไม้แทบทุกอย่างมักไปด้วยกันได้ดีกับส้มตำไทย เป็นต้น

สำหรับธัชชัยแล้วเขามองว่าน้ำหนักมือของคนตำเองก็มีส่วน “น้ำหนักมือเป็นเรื่องสำคัญ แต่นั่นเป็นความชอบส่วนบุคคลมากกว่า บางร้านตำหนัก มะละกอจะยวบหน่อย บางร้านแค่คลุก มะละกอก็จะกรอบหน่อย แต่สุดท้ายแล้วอาหารจานนี้จะเด่นได้ก็ด้วยน้ำส้มตำและวัตถุดิบที่ต้องเป็นของสดใหม่”

แต่อย่างไรก็ไม่ได้มีกฎที่ตายตัวนัก ทำให้ส้มตำแต่ละถิ่นแต่ละเจ้าต่างก็มีความเฉพาะตัว ซึ่งนี่เองถือเป็นความสนุกของการรับประทานส้มตำที่สามารถผสมผสานและสร้างสรรค์อาหารจานนี้ออกมาได้อย่างหลากหลาย

(© Shutterstock)
(© Shutterstock)

กินคนเดียวไม่อร่อยเท่าแบ่งกันกิน
นอกจากการเลือกสรรส่วนผสมที่เหมาะสมและวิธีการปรุงแล้ว ส้มตำยังมีความอร่อยในเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจอยู่ด้วยเช่นกัน

“ส้มตำรวมถึงอาหารอีสานอื่น ๆ นั้นเป็นกลุ่มเมนูที่กินแบบเงียบ ๆ เพียงคนเดียวไม่ได้ หมายความว่าถ้าเรากินคนเดียวความอร่อยจะน้อย แต่รสชาติจะทวีมากยิ่งขึ้นเมื่อเรารับประทานร่วมกัน” คุณพีรณัชบอก “ถึงขนาดว่าที่ร้านนี่ฝ้าเพดานยังต้องใช้วัสดุซับเสียง เพราะส้มตำเป็นเมนูที่ ‘เอเนอร์จีแรง’ แม้กระทั่งคำว่า ‘แซ่บ’ ที่เรามักพูดถึงอาหารจานนี้ก็มีสองความหมาย คือในเชิงรสชาติ กับในเชิงพลังงาน ความรู้สึกและอารมณ์”

หรือความพิเศษของอาหารจานนี้อาจจะอยู่ตรงนี้ก็เป็นได้ และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แตกต่างจากกับอาหารจานอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือเมื่อได้แบ่งปันกับคนอื่น ๆ อาหารจานนี้จะอร่อยขึ้นไปอีก

(© Baan Somtum)
(© Baan Somtum)

กินส้มตำกับอะไรดี
สาเหตุที่คนมักกินส้มตำกับข้าวเหนียวก็เพราะรสสัมผัสที่เหนียวนุ่มของข้าวเหนียวนั้นสามารถอุ้มน้ำส้มตำอยู่ในเมล็ดข้าวได้ ยิ่งตักส้มตำกินพร้อมกับเคี้ยวข้าวเหนียวในปากก็จะยิ่งส่งเสริมกัน นอกจากนี้การรับประทานส้มตำกับอาหารจานอื่น ๆ ยังสามารถช่วยยกระดับความอร่อยและทำให้ “ครบรส” มากขึ้น เช่น ส้มตำไทยที่ออกรสชาติเปรี้ยวหวานควรรับประทานคู่กับลาบหรือน้ำตกที่มีรสเค็มเผ็ด จะช่วยตัดเลี่ยนและส่งเสริมรสชาติกันมากขึ้น หรือจะสั่งของย่างและของทอดมากินคู่กับส้มตำก็เข้าที แต่อย่าลืมชวนคนสนิมมาแซ่บร่วมกันด้วย มื้อนี้จะอร่อยขึ้นอีกมาก


อ่านต่อ: บ้านส้มตำ: เมนูเด็ดประจำร้านที่ทำให้มิตรภาพบนโต๊ะอาหารแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


ภาพเปิด และภาพบุคคลในรูปตามลำดับ © Shutterstock, Baan Somtum, Somtum Der

เขียนโดย วรัญญู อินทรกำแหง และพฤภัทร ทรงเที่ยง

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ