สิ่งที่น่าสนใจ 8 minutes 14 ธันวาคม 2022

ทำความรู้จัก 6 เชฟจาก 6 ร้านอาหารไทยที่ดีที่สุดในโลกนอกแดนสยาม

คุณรู้จัก 6 ร้านอาหารไทยติดดาวนอกแดนสยามเหล่านี้หรือยัง?

ย้อนกลับไปสัก 2 ชั่วอายุคน ชาวต่างชาติที่รับประทานเนื้อและมันฝรั่งเป็นหลักมักคิดกันว่าอาหารไทยมีไว้ให้ผู้กล้า เพราะอาหารรสจัดเป็นเรื่องปกติของคนไทย แต่ชาวตะวันตกต้องเตรียมใจทุกครั้งก่อนตักอาหารอันอุดมด้วยเครื่องเทศรสจัดจ้านเข้าปาก พร้อมจะกระตุ้นประสาทสัมผัสสะท้านไปทุกส่วน

แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้กระจายไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้คนเริ่มสนุกสนานกับรสชาติแปลกใหม่ จนวันนี้นักชิมทั่วโลกต่างคุ้นเคยกับผัดไทย แกงเขียวหวาน หรือต้มยำเป็นอย่างดี

ดูออสเตรเลียเป็นตัวอย่าง เพราะถ้าไม่นับประเทศไทย แดนจิงโจ้มีร้านอาหารไทยมากถึงราว ๆ 3,000 แห่ง และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะตั้งแต่ พ.ศ. 2545 รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนร้านอาหารไทยหลายพันแห่งทั่วโลกผ่านโครงการ Global Thai หรือที่ตอนนี้รู้จักกันในนาม Thailand Kitchen of the World ซึ่งตอนเปิดตัวโครงการมีร้านอาหารไทยนอกประเทศประมาณ 5,500 ร้าน และเมื่อถึง พ.ศ. 2558 ก็มีร้านมากถึง 15,000 แห่งด้วยกัน

แม้อาหารไทยจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็มีเพียงไม่กี่ร้านที่สามารถคว้ารางวัลดาวมิชลินอันทรงเกียรติมาครองได้ และในปี 2565 ก็มีร้านอาหารไทยถึง 2 ร้านด้วยกันที่คว้ารางวัล 2 ดาวมิชลินมาครอง ได้แก่ ร้านศรณ์ และ R-Haan ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านรางวัล 1 ดาวมิชลินที่มีทั้งหมด 16 ร้านทั่วไทย แต่รู้ไหมว่ายังมีอีก 6 ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่นอกแดนสยามเมืองยิ้มที่คว้าดาวมิชลินมาครองอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งเผยแพร่รสชาติไทย ๆ ไปสู่นานาชาติไปพร้อมกัน


สาวไทยเบื้องหลังความสำเร็จของร้าน Boo Raan ในเบลเยียม (© Boo Raan)
สาวไทยเบื้องหลังความสำเร็จของร้าน Boo Raan ในเบลเยียม (© Boo Raan)

ความคิดสร้างสรรค์อันเกิดจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหล่าเชฟที่ต่างช่วยกันยกระดับอาหารไทยบนเวทีโลกคือ มีเชฟแค่ 2 คนจากทั้งหมด 6 คนที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย

คนหนึ่งบินลัดฟ้าจากอีสานไปท้าทายปุ่มรับรสของชาวเบลเยียม ส่วนอีกคนเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญาในซิลิคอนแวลลีย์

นอกจากนั้นยังมีนางแบบไทยที่เกิดในรัฐเท็กซัสแต่มาเติบโตในไทย และชาวออสเตรเลียที่พูดไทยฉะฉานจนเป็นบุคคลที่คนครัวไทยยกย่องด้านความเชี่ยวชาญในอาหารไทย รวมถึงชาวเดนมาร์กที่เชี่ยวชาญงานครัวไทยจนได้รับหน้าที่มาเป็นที่ปรึกษาที่กรุงเทพฯ และชาวไทยที่เติบโตในฝรั่งเศสผู้ชื่นชอบการนำรสชาติอันท้าทายแบบไทยมาเสนอแก่นักชิม

เชฟมากพรสวรรค์แต่ละคนต่างก็ภูมิใจกับวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ประสบมา นำมารังสรรค์เมนูรสล้ำ สร้างความประทับใจแก่คนทั่วโลก บางคนยึดมั่นในประเพณีการรังสรรค์แบบดั้งเดิม นำเสนอรสและกลิ่นไทยแท้ ๆ ให้คนต่างชาติได้เปิดใจ บ้างก็ฉีกกฎตำราอาหารไทยเพื่อจุดประกายความสร้างสรรค์ด้วยการนำเสนอสไตล์ยุโรป

เราชวนคุณไปทำความรู้จักเชฟร้านอาหารไทยรางวัลดาวมิชลินทั้ง 6 แห่งทั่วโลก พร้อมหาคำตอบว่าพวกเขาช่วยยกระดับอาหารไทยอย่างไรกัน

เชฟดาลัด กำภูและทีมงานจากร้าน Kin Dee (© Robert Rieger/ Kin Dee)
เชฟดาลัด กำภูและทีมงานจากร้าน Kin Dee (© Robert Rieger/ Kin Dee)

Kin Dee, เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
รับรางวัล 1 ดาวมิชลินต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562

จริง ๆ แล้วเชฟดาลัด กำภูเกิดในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา แต่เธอเติบโตในกรุงเทพฯ ท่ามกลางครอบครัวนักชิม และในช่วงวัย 20 กว่า ๆ เธอทำงานเป็นนางแบบและทำงานร้านอาหารเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนในนิวยอร์ก

แม้ไม่เคยผ่านโรงเรียนสอนทำอาหาร แต่เธออุทิศชีวิตให้กับการเป็นเชฟผ่านพรสวรรค์และพรแสวงจากการเป็นลูกมือร้านอาหารของคุณป้าในปารีส ปัจจุบันเชฟดาลัดเป็นหัวหน้าเชฟร้านอาหารร่วมสมัย Kin Dee ที่เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2559

บรรยากาศของร้านล้อไปกับความเป็นเมืองเบอร์ลิน Kin Dee ตกแต่งสบาย ๆ ดูเยาว์วัย และเป็นสไตล์คนเมือง เชฟดาลัดตั้งใจใช้วัตถุดิบยุโรปเพื่อนำมาตีความอาหารไทยใหม่ ไม่ตรงตามขนบอาหารไทยแบบดั้งเดิม ผสานรสชาติแบบเอเชีย ออกมาเป็นเมนูไทยฟิวชันที่รสจัดจ้านแบบพอดิบพอดี

แต่บางเมนูก็แหกขนบโดยสิ้นเชิง เช่น เธอใช้แอปเปิลแทนมะม่วงในส้มตำกะหล่ำปม (โคห์ลราบี) แกงส้มของเธอใส่ปลาแมกเคอเรล ลูกพลัม และกะปิ และยังมีผัดฉ่าที่ใช้หอยหลอด น้ำพริกตำเอง และผักสวิสชาร์ด


ร้าน Aaharn ของเชฟเดวิดในฮ่องกง (© MICHELIN Guide, Aksorn)
ร้าน Aaharn ของเชฟเดวิดในฮ่องกง (© MICHELIN Guide, Aksorn)

Aaharn, ฮ่องกง
รับรางวัล 1 ดาวมิชลินต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2563

Aaharn หรือ “อาหาร” ในภาษาไทย ถือเป็นการค้นคว้าทดลองอาหารของเชฟเดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) เขาสร้างชื่อด้วยการทำงานในร้านต่าง ๆ ทั่วกรุงซิดนีย์ในช่วงปี 1990 ก่อนจะมาเปิดร้าน Nahm ในกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นร้านที่ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกอย่างท่วมท้น และกลายเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกที่ได้รับการบรรจุในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’

และเมื่อ พ.ศ. 2543 เชฟเดวิดก็ตัดสินใจย้ายมายังดินแดนอันอบอุ่นของกรุงเทพฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขา เขาตัดสินใจปิดร้านในกรุงลอนดอนแล้วเปิดร้านชื่อเดียวกันที่ในโรงแรม COMO Metropolitan Bangkok หลังจากนั้นไม่นานร้าน Nahm ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยไฟน์ไดนิงที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ ด้วยความเชี่ยวชาญและฝีมืออันช่ำชองของเชฟชาวออสซีผู้เต็มไปด้วยความซ่าและอารมณ์ขันช่วยให้ร้านคว้ารางวัล 1 ดาวมิชลินมาครอบครองนับตั้งแต่คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2561

ด้วยความที่เชฟเดวิดอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เขาอุทิศเวลาค้นคว้าประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมอาหารไทย ความทุ่มเท ความหลงใหล และความสามารถของเขาช่วยให้ร้านอาหารหลายแห่งที่เขาบริหารคว้าดาวมิชลินมาครองได้เสมอ ใน พ.ศ. 2562 เขาแยกไปเปิดร้านที่นำเสนอเมนูแปลกใหม่ในฮ่องกง และเกิดเป็นร้าน Aaharn ที่นำเสนอเมนูไทยที่หายากและดั้งเดิม รังสรรค์ด้วยสมุนไพรและพืชผักที่นำเข้าจากไทยทุกวัน รวมถึงกะทิที่ใช้ในแกงก็คั้นมือเองอีกด้วย

ปัจจุบันเชฟเดวิดยังเปิดร้านอักษร ที่เขานำสูตรอาหารไทยในยุคพ.ศ. 2483 ถึง 2513 มานำเสนอเพื่อให้คนยุคปัจจุบันได้ลิ้มลอง และได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลินมาตั้งแต่คู่มือ 'มิชลิน ไกด์' ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2565 จนถึง 2566 ฉบับล่าสุด

เชฟพิม เตชะมวลไววิทย์และร้าน Kin Khao ในสหรัฐฯ (© MICHELIN Guide, Kin Khao)
เชฟพิม เตชะมวลไววิทย์และร้าน Kin Khao ในสหรัฐฯ (© MICHELIN Guide, Kin Khao)

Kin Khao, ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
รับรางวัล 1 ดาวมิชลินต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558

เชฟพิม เตชะมวลไววิทย์ถือเป็นหนึ่งในคนที่เก่งรอบด้าน ประสบความสำเร็จในทุกอย่างที่เธอลงมือทำ เมื่อ พ.ศ. 2546 บล็อก Chez Pim ของเธอได้รับการโหวตผ่านหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่าเป็นบล็อกด้านอาหารที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดเกี่ยวกับเชฟพิม สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือการที่เธอเกิดในกรุงเทพฯ แล้วย้ายไปทำงานในซิลิคอนแวลลีย์โดยเป็นนักวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบ

เชฟพิมเคยเล่าไว้ว่า “ร้าน Kin Khao ถือเป็นงานแรกของฉันในธุรกิจร้านอาหาร ฉันไม่เคยต้องรับออร์เดอร์เสิร์ฟอาหารมาก่อน แต่ฉันรู้ว่าฉันมีวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นจะทำมันให้เป็นจริง”

เมื่อ พ.ศ. 2557 เชฟพิมได้ทิ้งปากกาคู่ใจมาจับมีดเพื่อเปิดร้าน Kin Khao ในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งฝีมือของเธอได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ และทางร้านก็ได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลินในปีถัดมา

เชฟพิมนำเสนออาหารไทยแท้รสจัดจ้าน เคารพรากเหง้าของอาหารผ่านการใช้วัตถุดิบจากทางเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย

เมนูพิเศษคือก๋วยเตี๋ยวเป็ดน้ำ 5 สมุนไพร ซึ่งเคี่ยวกระดูกเป็ดออกมาเป็นน้ำซุปเคี่ยว เสริมรสด้วยผักกวางตุ้ง เสิร์ฟพร้อมขาเป็ดกงฟี และส้มตำของเธอก็แปลกใหม่ด้วยมะละกอสับคลุกเคล้าเข้ากับมะเขือเทศเหลือง ถั่วฝักยาว กุ้งแห้ง และพริกบด

ปัจจุบันเชฟพิมเทียวไปเทียวมาระหว่างซานฟรานซิสโกและกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เครือ COMO Group ทาบทามเธอมารับตำแหน่งหัวหน้าเชฟร้าน Nahm ในโรงแรมต่อจากเชฟเดวิด ทอมป์สัน


อาหารไทยในแบบของเชฟเฮนริก อูล-แอนเดอร์เซน (© Henrik Yde-Andersen/ Kiin Kiin)
อาหารไทยในแบบของเชฟเฮนริก อูล-แอนเดอร์เซน (© Henrik Yde-Andersen/ Kiin Kiin)

Kiin Kiin, โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
รับรางวัล 1 ดาวมิชลินต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551

เชฟเฮนริก อูล-แอนเดอร์เซน (Henrik Yde-Andersen) เจ้าของและหัวหน้าเชฟยังจำครั้งแรกที่เขาได้ลิ้มรสอาหารไทยได้ราวกับเกิดขึ้นเมื่อวาน “ผมนั่งน้ำตาไหลริมหาดเพราะความเผ็ดของพริกและความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสรสชาติใหม่ หลังจากนั้นผมก็หยุดกินอาหารไทยไม่ได้อีกเลย”

ด้วยความที่เขามาจากดินแดนตอนเหนือของยุโรปที่กินมันฝรั่งกับกะหล่ำเป็นนิจตามคำกล่าวของตัวเชฟเอง เชฟเฮนริกจึงคุ้นเคยกับรสชาติที่เบาบางและไม่จัดจ้าน และเขาเคยมาทำงานในประเทศไทยกับหัวหน้าคนไทยที่ดุมาก ตอนที่เขากลับประเทศเมื่อ พ.ศ. 2547 อาหารไทยและจีนยังถูกมองว่าเป็นแค่อาหารทอดราคาย่อมเยา เหมาะกับจัดบุฟเฟต์หรือมื้อด่วนเท่านั้น

เชฟเฮนริกทดลองคิดค้นอาหารไทยในแบบฉบับของเขา เป้าหมายคือต้องใช้วัตถุดิบไทยที่สร้างความตื่นเต้นซาบซ่าให้กับลิ้นชาวยุโรป เขาไม่ได้เกิดและเติบโตในไทย ไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยขนบดั้งเดิม จึงสามารถสนุกไปกับการปรับเปลี่ยนสร้างสรรค์สูตรต่าง ๆ ได้

ตอนที่ออกแบบเมนูชุดแรกเขาคิดว่าไม่ควรนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งที่ห่างจากร้านถึงกว่า 8,000 กิโลเมตร เขาจึงตัดสินใจใช้ผักในประเทศนำมารังสรรค์อาหารไทยริมทางที่ตีความขึ้นมาใหม่ ผสานรสจัดจ้านเข้ากับความงามแบบยุโรป

Kiin Kiin มาจากคำชวนกินข้าว “กิน ๆ” ตัวร้านทรงเสน่ห์ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก เชฟเฮนริกนำเมนูคลาสสิกมาพลิกแพลงได้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นต้มยำล็อบสเตอร์ ข้าวเกรียบต้มข่ากุ้ง และทาโก้กุ้ง เมนูพิเศษอีกจานคือนกกระทาในกะทิปรุงรส เสิร์ฟพร้อมเห็ดแชนเทอเรลและข้าวโพด

เมื่อโรงแรมสยามเคมปินสกี้เชิญเขามาช่วยบริหารร้านสระบัว บาย กิน กิน เขาก็ไม่ลังเล เพราะนี่เป็นโอกาสที่เขาจะได้นำเสนออาหารไทยในแบบของเขาให้แก่นักชิมที่เอาใจยากที่สุดในโลก หรือก็คือคนไทยนั่นเอง หลังจากนั้นเพียงปีเดียวเขาก็ได้รับดาวมิชลินเป็นครั้งที่ 2 ในอาชีพ และปัจจุบันร้านสระบัว บาย กิน กิน ก็ได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลินในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย มาติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีจนถึงฉบับประจำปี 2566 ซึ่งนำทีมโดยเชฟเบิ้ม-ชยวีร์ สุจริตจันทร์


อาหารไทยในมุมมองของเชฟฉันชัย กลั่นกลอง (© Lucas Muller, Chatchai Klanklong / L'Orchidée)
อาหารไทยในมุมมองของเชฟฉันชัย กลั่นกลอง (© Lucas Muller, Chatchai Klanklong / L'Orchidée)

L'Orchidée, เมือง Altkirch ประเทศฝรั่งเศส
รับรางวัล 1 ดาวมิชลินต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562

เชฟฉันชัย กลั่นกลองเกิดที่จังหวัดเพชรบูรณ์แต่ไปเติบโตที่ฝรั่งเศส ดินแดนที่เขาเก็บเกี่ยวและฝึกฝนเทคนิคการทำอาหาร แม้เริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานในร้านดังในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ แต่เขาก็ไม่เคยลืมรากเหง้าความเป็นไทย

ด้วยความร่วมมือจากพี่ชาย (เชฟเกรียงไกร) และคุณแม่ (ไก่) เชฟฉันชัยจึงได้เปิดร้าน L’Orchidée ขึ้น โดยตั้งชื่อตามดอกไม้พื้นถิ่นไทยชนิดโปรดของพ่อเลี้ยง เขาอยากรังสรรค์สิ่งที่แปลกใหม่เพื่อดึงดูดชาวฝรั่งเศสผ่านเครื่องปรุงไทย ผสานรสชาติเครื่องเทศต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์

ในช่วงแรก ๆ ที่เปิดร้านเสียงวิจารณ์แตกเป็นสองฝั่ง ชาวไทยบางคนบอกว่านี่ไม่ใช่การรังสรรค์แบบไทย แต่คนอีกส่วนก็บอกว่าเมนูที่ร้านโดนใจ และประทับใจกับวิธีที่เชฟนำเสนออาหารไทยด้วยรูปแบบที่ต่างออกไป

แต่คนฝรั่งเศสกลับยังคิดว่าร้านของเขาเป็นแค่ร้านอาหารจีนอีกร้าน มักมีคนมาถามว่า “ไม่มีเปาะเปี๊ยะเหรอ” “บุฟเฟต์ล่ะ” ซึ่งเชฟต้องอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า “ต้องขอโทษด้วยครับ ร้านเราเป็นร้านอาหารไทย”

เมนูไทยสมัยใหม่ของเชฟฉันชัยนั้นหน้าตางดงามและรังสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือไร้ที่ติ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้งล็อบสเตอร์สีฟ้าที่ผสานกะทิและข่า หรือลูกนกเสิร์ฟพร้อมข้าวโพดหวาน เห็ด Girolle โพเลนตาและแกงแดง เมนูซิกเนเจอร์ 2 จานคือการ์ปัชโชเนื้อเสิร์ฟพร้อมครีมอะโวคาโดและเจลซอสส้มตำ และหอยเชลล์ปรุงร่วมกับพูเรผลควินซ์และเคเปอร์ บรอกโคลีอบ และโฟมแกงเขียวหวาน


เชฟดอกคูณ กาเผือกกับความดีใจผ่านหน้าจอประกาศรางวัลดาวมิชลินในเบลเยียม (© MICHELIN Guide, Annick Vernimmen, Eleonor Van Bavel/ Boo Raan)
เชฟดอกคูณ กาเผือกกับความดีใจผ่านหน้าจอประกาศรางวัลดาวมิชลินในเบลเยียม (© MICHELIN Guide, Annick Vernimmen, Eleonor Van Bavel/ Boo Raan)

Boo Raan, เมือง Knokke-Heist ประเทศเบลเยียม
รับรางวัล 1 ดาวมิชลินใน พ.ศ. 2564 และ 2565

ด้วยสูตรความอร่อยที่ส่งต่อกันมาเป็นพันปี เมนูของเชฟดอกคูณ กาเผือกเรียกได้ว่าเป็นการจัดนิทรรศการแสดงวัตถุดิบสดใหม่พร้อมเครื่องเทศและรสชาติอันมากมี เธอเป็นหัวหน้าทีมลูกมือจากอีสานที่ช่วยกันนำเสนอความอร่อยจนกลายเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกในเบลเยียมที่คว้ารางวัลดาวมิชลินมาครอง

ห้าสาวอีสานรวมพลเสิร์ฟเมนูไทยรสชาติไทยแท้ ๆ ที่เชฟดอกคูณบอกกับเราว่าเคล็ดลับความสำเร็จคือการนำสูตรอาหารในวัยเด็กที่คุ้นเคยมารังสรรค์ใหม่ และการยืนกรานไม่ลดระดับความเผ็ดร้อนเด็ดขาด

เพื่อนหญิงจากแดนอีสานแสนถ่อมตนไม่ได้ทำงานเพื่อคำชม ดาว หรือความนิยม พวกเธอทำอาหารด้วยความรักและตั้งใจ ผสานสมุนไพรไทยสดใหม่ นำเสนอประสบการณ์ไทยแท้ให้แขกทุกรายรื่นเริงเหมือนได้กินอาหารร่วมกับเพื่อนในช่วงวันหยุด พวกเธอโขลกน้ำพริกกันเอง ทั้งยังคั้นกะทิด้วยวิธีที่คุณย่าคุณยายเคยสอนอีกด้วย

แอบดูเบื้องลึกของ 6 ร้านอาหารไทยที่ดีที่สุดในโลกนอกประเทศกัน

Kin Dee, เยอรมนี – นำโดยอดีตนางแบบไทยที่เกิดในรัฐเท็กซัสแต่โตที่กรุงเทพฯ
Aaharn, ฮ่องกง – นำโดยเชฟชาวออสเตรเลียที่ได้รับการยกย่องเรื่องการทำอาหารไทยจากทั่วโลก
Kiin Kiin, เดนมาร์ก – นำโดยเชฟชาวเดนมาร์กที่เก่งกาจจนได้รับการเชื้อเชิญมาเป็นที่ปรึกษาในไทย
L'Orchidée, ฝรั่งเศส – นำโดยเชฟชาวไทยที่โตในฝรั่งเศส ผู้ดัดแปลงรสชาติไทย ๆ ขึ้นโต๊ะผสมการนำเสนอแบบฝรั่งเศส
Boo Raan, เบลเยียม – นำทีมโดยหญิงชาวอีสานและทีมงานชาวไทยที่นำรสชาติเผ็ดร้อนมาสู่ชาวเบลเยียม 
Kin Khao, สหรัฐอเมริกา – อดีตนักวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวมาเปิดร้านอาหารไทย และได้รับการเชื้อเชิญมาเป็นที่ปรึกษาในประเทศไทย

เมื่อคนไทยย้ายถิ่นฐานไปทั่วโลก วัฒธรรมการกินและรสชาติความเป็นไทยก็ออกเผยแพร่ให้แก่ทั่วโลกเช่นกัน

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้เสนอเงินกู้แก่คนไทยที่มีเป้าหมายในการเปิดร้านอาหารในต่างประเทศ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยยังได้จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเงินกู้สูงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการทำอุตสาหกรรมอาหารในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงร้านอาหารไทยเช่นกัน ภารกิจของโครงการนี้คือการรักษามรดกทางวัฒนธรรมโดยสนับสนุนร้านอาหารที่ให้บริการอาหารไทยต้นตำรับ แต่เมื่อรสนิยม กระแสนิยม และโลกาภิวัตน์มาบรรจบกัน เส้นแบ่งระหว่างการตีความแบบดั้งเดิมหรือของแท้และความร่วมสมัยของอาหารไทยก็ผสมรวมกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้แต่ในเมืองไทยก็ตาม

คนบางส่วนอาจมองว่านี่เป็นการกัดเซาะมรดกและรสชาติที่แท้จริงของไทย ในขณะที่บ้างอาจเห็นว่าเป็นการปูทางไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ที่ต่อยอดต่อไปได้ไม่มีหยุด

เห็นได้ชัดว่าอาหารไทยกำลังเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นอย่าได้แปลกใจหากในอนาคตเราจะได้เห็นคนญี่ปุ่นต่อคิวเข้าร้านลาบเล็ก ๆ ในโตเกียว หรือร้านข้าวซอยที่เปิดตัวในกรุงเคปทาวน์ กระทั่งร้านจิ้มจุ่มขวัญใจชาวมาลิบู


สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ