บทสัมภาษณ์ 4 minutes 08 กุมภาพันธ์ 2024

Louise Bourgeois คุยเรื่องยกระดับงานบริการระดับรางวัลที่ร้าน Chef’s Table และบทเรียนจาก Mario Kart

เจ้าของรางวัล MICHELIN Guide Thailand Service Award Presented by the Tourism Authority of Thailand คนล่าสุดคุยเรื่องความเข้าอกเข้าใจ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และการมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพในวัยเพียง 28 ปี

สำหรับหลุยส์ บูร์ฌัวส์ (Louise Bourgeois) ผู้จัดการทั่วไป และเจ้าของรางวัล MICHELIN Guide Service Award นำเสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากร้าน Chef’s Table (รางวัลสองดาวมิชลิน จากคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567) แห่งโรงแรมเลอบัว ผู้รับหน้าที่ยกระดับประสบการณ์มื้ออร่อยที่ชั้น 61 ของโรงแรมหรู การส่งมอบประสบการณ์ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อแขกมาถึงหน้าทางเข้าร้านเหมือนแต่ก่อน

เราชวนดาวรุ่งวัย 28 ปีมาพูดคุยเกี่ยวกับสไตล์การบริการที่เน้นความเข้าอกเข้าใจ การปรับเปลี่ยนประสบการณ์ให้เข้ากับแขกแต่ละราย รวมถึงบทเรียนจากแหล่งที่คุณอาจคาดไม่ถึงอย่างเกมมาริโอ

หลุยส์กล่าวว่า “เมื่อมาถึงร้าน ฉันจะมุ่งใช้เวลาไปกับรายชื่อที่สำรองโต๊ะมา”

หลุยส์ บูร์ฌัวส์ ผู้จัดการทั่วไป และเจ้าของรางวัล MICHELIN Guide Service Award จากคู่มือ 'มิชลิน ไกด์' ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
หลุยส์ บูร์ฌัวส์ ผู้จัดการทั่วไป และเจ้าของรางวัล MICHELIN Guide Service Award จากคู่มือ 'มิชลิน ไกด์' ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

อันดับแรกเธอจะดูว่ามีแขกคนไหนเป็นลูกค้าประจำ แล้วก็จะอ่านโน้ตเกี่ยวกับสิ่งที่แขกรายนั้นชอบหรือไม่ชอบ พร้อมทั้งท่าทางที่เธอสังเกตได้ระหว่างมื้อก่อนหน้า เพื่อปรับเปลี่ยนประสบการณ์ให้ออกมาดีที่สุด แต่ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ เธอจะนึกภาพว่าจะมอบประสบการณ์มื้อนั้นให้พวกเขาอย่างไรได้บ้าง

“ฉันอยากรู้ว่าจะตอบสนองความต้องการของแขกได้ดีขนาดไหน เพื่อที่เราจะได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขา ดังนั้นคุณเลยต้องเตรียมการดีมาก ๆ” เธอเปรียบสิ่งที่เธอทำว่าไม่ต่างจากการที่เชฟจัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบให้พร้อมล่วงหน้าก่อนเริ่มรังสรรค์จานอาหาร

แม้จะอายุเพียง 28 ปี แต่ความมุ่งมั่นพัฒนาตนเองและพรสวรรค์ก็ช่วยผลักดันให้เธอก้าวกระโดดในสายอาชีพบริการ ตำแหน่งของเธอพุ่งทะยานจากพนักงานฝึกหัดสู่ผู้จัดการทั่วไปในเวลาแค่ 5 ปีครึ่ง ถือเป็นความสำเร็จชั้นยอด แต่เธอก็ไม่ละทิ้งความถ่อมตน

เธอบอกว่า “ฉันทุ่มทุกอย่างเพื่อดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย”

แต่แขกทุกรายต่างสัมผัสได้ถึงความใส่ใจนั้น ส่งผลให้หญิงชาวฝรั่งเศสคนนี้คว้ารางวัล MICHELIN Guide Service Award นำเสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่งานประกาศคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 มาครอง และเป็นครั้งที่สองสำหรับร้าน Chef’s Table เพราะผู้จัดการร้านคนก่อนหน้าเคยคว้ารางวัลดังกล่าวมาแล้วเป็นคนแรกของประเทศไทย

เราคุยกับหลุยส์เกี่ยวกับความกดดัน ความสำเร็จ และการรังสรรค์ประสบการณ์มื้อค่ำให้ไร้ที่ติ


“แขกบางคนอาจมาที่ร้านเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ดังนั้นฉันอยากให้พวกเขารู้สึกเป็นคนพิเศษมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ใครจะคิดว่าเทศกาลลอยกระทงจะทำให้หญิงชาวฝรั่งเศสย้ายรกรากมาถึงเมืองไทย (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
ใครจะคิดว่าเทศกาลลอยกระทงจะทำให้หญิงชาวฝรั่งเศสย้ายรกรากมาถึงเมืองไทย (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

คุณมาหยิบจับงานบริการได้อย่างไร
“ฉันโตมาในเมืองออร์เลอ็อง แถบลุ่มแม่น้ำลัวร์ของฝรั่งเศส โดยไม่มีคนในครอบครัวที่ทำงานโรงแรม ร้านอาหาร หรืองานบริการเลย พอเรียนจบปริญญาตรีก็ยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร ตอนที่เรียนฉันเคยลงหลักสูตรวรรณคดีและการละครแบบเร่งรัด ทุกวันนี้ฉันมักบอกตัวเองว่าการทำงานบริการก็เหมือนอยู่บนเวที ถ้าอยากให้ผลงานออกมาดีก็ต้องจำบทให้แม่น และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดเวลา

“ถึงจุดหนึ่งฉันเริ่มรู้ว่าอยากทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ เช่น เขียนข่าว หรือท่องเที่ยว คุณจะเรียกว่าฉันรู้ตัวช้าไปสักหน่อยก็ได้”

คุณมาปักหลักอยู่ที่เมืองไทยได้อย่างไร
“ฉันได้ดูสารคดีเกี่ยวกับเทศกาลลอยกระทงแล้วก็เริ่มสนใจวัฒนธรรมไทย แม้ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยมากนักแต่นั่นก็ทำให้ฉันอยากมาฝึกงานที่นี่ ฉันต้องฝ่าฟันอะไรหลายอย่างเลยก่อนจะได้มา ก่อนบินมาฝึกงานแค่ 3 วัน (ปี 2561) ฉันบาดเจ็บที่เข่า ตอนแรกคิดว่าจะไม่ได้มาแล้ว แต่ฉันฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ เลยถามทางโรงแรมเลอบัวอีกครั้งว่ายังอยากให้ฉันมาไหม พวกเขาบอกว่าได้ แต่ระยะฝึกงานลดเหลือแค่ 4 เดือน จากปกติ 6 เดือน พอฝึกงานจบแล้วทางเลอบัวให้โอกาสฉันสมัครมาเป็น Management Trainee ถึงตอนนี้ก็ยังอธิบายไม่ค่อยได้ว่าทำไมถึงอยากมาเมืองไทยมาก อาจจะสัมผัสได้ว่ามีสิ่งดี ๆ รอฉันอยู่ที่ประเทศไทยก็ได้ ฉันเชื่อว่าชีวิตพร้อมมอบอะไรดี ๆ ให้คุณเสมอ”

หลุยส์ บูร์ฌัวส์ ขึ้นรับรางวัลบนเวทีพร้อมรอยยิ้ม (© MICHELIN Guide Thailand)
หลุยส์ บูร์ฌัวส์ ขึ้นรับรางวัลบนเวทีพร้อมรอยยิ้ม (© MICHELIN Guide Thailand)

ครอบครัวคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าได้รับรางวัลนี้
“เมื่อคุณตัดสินใจไปทำงานประเทศอื่น มันต้องมีเหตุผลสักอย่างใช่ไหม เพราะคุณตัดสินใจตอบรับประสบการณ์ใหม่ ๆ คุณอาจจะพลาดงานวันเกิดคนสนิทที่บ้าน คุณได้เห็นว่าคนในครอบครัวแก่ตัวลง มันเป็นเรื่องยากสำหรับฉันก็จริง แล้วก็เป็นเรื่องยากสำหรับครอบด้วยที่ฉันต้องอยู่ไกล แต่พวกเขารู้สึกภูมิใจเมื่อได้ยินว่าฉันได้รับรางวัล Service Award นี้ ฉันคิดว่าพวกเขาดีใจที่ได้เห็นเครื่องยืนยันความก้าวหน้าของฉัน พวกเขาสนับสนุนฉันมาโดยตลอด”

สไตล์การบริหารงานคุณเป็นอย่างไร
“ฉันพยายามทำความเข้าใจทุกคนที่ร่วมงานด้วย แล้วปรับให้เข้ากับพวกเขา นั่นหมายความว่าคุณต้องรู้ก่อนว่าคุณใช้สไตล์การบริหารงานแบบเดียวกันกับทุกคนไม่ได้ คุณไม่สามารถเข้มงวดหรือสนิทสนมได้กับทุกคน เพื่อให้ทุกคนทำงานได้เต็มที่ คุณต้องอย่าลืมว่าพวกเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่ร้าน Chef’s Table ทุกคนต้องมีทักษะหลากหลาย แต่บางคนก็อาจจะทำบางอย่างได้ดีกว่า ฉันต้องหาทางดึงศักยภาพของพวกเขาออกมา เพื่อให้พวกเราประสบความสำเร็จร่วมกัน

“สิ่งที่เรากำลังทำ และด้วยมาตรฐานกับความคาดหวังที่เราได้รับ เราจะทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ได้ พวกเราทุกคนรู้ว่ามีเป้าหมายอะไรบ้างในแต่ละวัน คุณบังคับให้ตัวเองอยู่ในวงการนี้ไม่ได้ถ้ามันไม่ใช่ตัวคุณ ฉันไม่ต้องผลักดันอะไรมาก แค่ช่วยทุกคนพัฒนาทักษะของพวกเขา”

“ฉันชอบเล่นเกม Mario Kart ฉันจะเลือกแข่งสนามเดียวกัน 10 รอบติด หลังจากนั้นฉันจะจำสภาพสนามได้แม่น รู้เลยว่ากล้วยจะหล่นตอนไหน และนี่ก็เป็นภาพงานบริการของเราตอนนี้”
ผู้จัดการร้านชาวฝรั่งเศสเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังงานบริการที่น่าประทับใจ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
ผู้จัดการร้านชาวฝรั่งเศสเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังงานบริการที่น่าประทับใจ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

คุณจัดการวิกฤตหรือสิ่งไม่คาดฝันอย่างไร
“ฉันเห็นอกเห็นใจคนอื่นอย่างมาก ฉันไม่เคยคิดว่านี่จะเป็นข้อดี แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่ามันเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นไม่ได้แค่ช่วยให้ฉันรับรู้ แต่ยังรู้สึกถึงความเป็นไปต่าง ๆ ได้ เช่น ระหว่างพูดคุยกับแขกฉันจะคิดจากมุมของเขา ฉันจะใช้เวลาสัก 2-3 วินาทีประเมินสถานการณ์ แล้วตอบสนองในรูปแบบที่เหมาะสม”

อะไรที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
“เมื่อคุณเข้าใจว่าแขกบางคนอาจมาที่ร้านเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย คุณอยากจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อส่งมอบประสบการณ์แสนวิเศษ ฉันอยากให้พวกเขารู้สึกถึงความพิเศษมากเท่าที่ทำได้”

คุณต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
“ฉันพยายามสร้างความสัมพันธ์กับแขก เพราะแต่ละคนก็ต่างกันไป บางโต๊ะมาคนเดียว บางโต๊ะมาเป็นคู่ แล้วก็มีทั้งคนที่คุยเก่งกับคนที่เงียบขรึม แต่ละโต๊ะในแต่ละคืนอาจให้ประสบการณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้งานสนุก มันคงน่าเบื่อมากที่ต้องทำงานสไตล์เดียวกันทุกคืน นอกจากอยากรังสรรค์ประสบการณ์ให้แขกแล้ว ฉันยังอยากสร้างประสบการณ์ให้ตัวเองด้วยเหมือนกัน”

หลังจากนี้คุณจะต่อยอดความสำเร็จอย่างไร
“ฉันอยากเติมเต็มประสบการณ์ก่อนแขกจะมาถึงร้าน Chef’s Table เริ่มตั้งแต่ตอนที่พวกเขามาถึงล็อบบี้ด้านล่าง เราทำเรื่องนี้กันอยู่แล้ว แต่เราอยากให้ประสบการณ์ของแขกราบรื่นขึ้นด้วยบริการที่คงเส้นคงวามากขึ้น ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญมากในงานของเรา

“มีเรื่องที่ฉันเพิ่งบอกทีมไป ฉันชอบเล่นเกม Mario Kart ฉันจะเลือกแข่งสนามเดียวกัน 10 รอบติด หลังจาก 10 รอบนั้นฉันจะจำสภาพสนามได้แม่น แล้วฉันจะรู้เลยว่ากล้วยจะหล่นมาตอนไหน และนี่ก็เป็นภาพงานบริการของเราตอนนี้ เรามีพนักงาน 4 คนที่อยู่มาตั้งแต่ร้านเปิด ทุกคนเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตรงกัน เมื่อมีพนักงานใหม่มา พวกเขาสามารถเรียนรู้วิธีการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทุกคนรู้แล้วว่าจะแข่งให้ครบรอบได้อย่างไร และในตอนนี้เราอยากทำคะแนนให้สูงที่สุด”


บทสัมภาษณ์

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ