ข่าวสารและกิจกรรม 7 minutes 01 ธันวาคม 2021

ร้านอาหารติดดาวหน้าใหม่ใน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับโตเกียวประจำ พ.ศ. 2565

ไม่ว่าจะเป็นมื้อที่เริ่มด้วยชาประจำฤดูกาลหรือราเมงที่รังสรรค์ขึ้นจากกรรมวิธีชวนตาโต เราขอเชิญคุณมาดูว่าผู้ตรวจสอบมิชลินประทับใจอะไรจากประสบการณ์เข้าเยี่ยมร้านรางวัลดาวมิชลินน้องใหม่กัน

คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับโตเกียวประจำพ.ศ. 2565 เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา คู่มือที่ก้าวเข้าสู่อายุ 15 ปีฉบับนี้ได้รวบรวมร้านอาหารไว้ทั้งหมด 432 แห่ง โดยรวมร้านที่ส่งเสริมความยั่งยืนซึ่งได้รับรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก 14 แห่ง และร้านที่มอบประสบการณ์ความอร่อยคุ้มค่าเงินซึ่งได้รับรางวับบิบ กูร์มองด์อีก 35 แห่ง

ในร้านทั้งหมดที่ได้รับคัดเลือก มีร้าน 3 แห่งได้ติดดาวเพิ่มเป็นร้านรางวัลสองดาวมิชลิน ร้านที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลินเป็นครั้งแรก 20 ร้าน และร้านที่ได้ยกระดับจากบิบ กูร์มองด์เป็นหนึ่งดาวมิชลิน 1 แห่ง คู่มือฉบับนี้ยังมีรางวัลพิเศษอีก 2 รางวัลได้แก่ รางวัล Mentor Chef Award ซึ่งมอบให้แก่เชฟ Hiroyuki Kanda แห่งร้าน Kanda (รางวัลสามดาวมิชลิน) และรางวัล Service Award ที่มอบให้แก่เชฟ Mayuka Arai แห่งร้าน Hommage (รางวัลสองดาวมิชลิน)

ร้านมากมายที่นำเสนออาหารหลากหลายประเภท พร้อมทั้งร้านที่เปิดตัวใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความคึกคักและความสามารถในการปรับตัวของวงการอาหารกรุงโตเกียว

มาดูกันว่าร้านใดบ้างที่คู่มือฉบับนี้มอบรองวัลดาวมิชลินให้ เราขอนำเสนอร้านน้องใหม่ที่เพิ่งได้ติดดาว พร้อมด้วยความประทับใจจากผู้ตรวจสอบมิชลิน

L-R: Hiroyuki Kanda of three-MICHELIN-starred Kanda receives the Mentor Chef Award, and Mayuka Arai of two-MICHELIN-starred Hommage receives the Service Award.
L-R: Hiroyuki Kanda of three-MICHELIN-starred Kanda receives the Mentor Chef Award, and Mayuka Arai of two-MICHELIN-starred Hommage receives the Service Award.

Nihombashi-kakigaracho Sugita (รางวัลสองดาวมิชลิน ประเภทซูชิ)

จุดเด่นของร้าน Takaaki Sugita คือการรังสรรค์อาหารด้วยวิธีการดั้งเดิม อร่อยกับนิกิริซูชิที่หน้าปริมาณเต็มคำวางอยู่บนชิ้นข้าวผสมน้ำส้มสายชูที่ให้รสเปรี้ยวสดชื่น หรือรสชาติของปลาตะเพียนบนเอโดะมาเอะซูชิที่คุณต้องรู้สึกว่า ปลาชนิดนี้เกิดมาเพื่อเป็นหน้าซูชิโดยเฉพาะ ความจริงใจและสุภาพของเชฟก็ขึ้นชื่อไม่แพ้ความอร่อยของอาหาร ลูกค้าที่มาครั้งแรกสามารถขอใช้บริการห้องส่วนตัวได้

ASAHINA Gastronome(รางวัลสองดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

เชฟ Satoru Asahina เน้นรังสรรค์เมนูเบาท้องด้วยวิธีการคลาสสิก เขาสอดแทรกความทันสมัยในเมนูชอฟรอยด์ (chaudfroid) ซึ่งประกอบด้วยอาหารทะเลและเนื้อย่างเสิร์ฟเย็น ทางร้านเสิร์ฟคอนซอมเม่เสิร์ฟพร้อมจานหลักเพราะเชฟหผสานภูมิปัญญาแบบญี่ปุ่นที่จะเสิร์ฟซุปร้อนท้ายมื้อ เมนูต่าง ๆ สร้างสรรค์งามตา พร้อมรสชาติของวัตถุดิบหลัก ซอส และผักประดับที่เข้ากันได้เป็นอย่างดี

Crony(รางวัลสองดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

Crony แปลว่าเพื่อนสนิท และการดื่มชาก็ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ดังนั้น คอร์สอาหารของทางร้านจึงเริ่มต้นด้วยชาประจำฤดูกาล เชฟ Michihiro Haruta สั่งสมประสบการณ์จากหลากประเทศ และนำไปปรับใช้ในร้านที่ยุโรปเหนือและอเมริกา โดยเน้นการรังสรรค์แบบฝรั่งเศส หัวใจสำคัญของเมนูที่ร้านคือวัตถุดิบตามฤดูกาล ความเรียบง่าย และสีที่เข้ากัน ตัวเชฟเน้นนำเสนออาหารที่แปลกใหม่ และพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

Chukasoba Ginza Hachigou(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทราเมง)

ชื่อร้านแปลว่า “แปด ห้า” มาจากหน่วยสึโบะ (ประมาณ 28 ตร.ม.) ที่รองรับลูกค้าได้แค่ 6 ที่นั่ง เชฟ Yasufumi Matsumura เติบโตมาจากการรังสรรค์อาหารฝรั่งเศส ดังนั้น เฉกเช่นกับการรังสรรค์คอนซอมเม่ เขาจะไม่ใช่ซอสทาเร่ในการปรุงอาหาร เชฟผสานความเป็นญี่ปุ่นและตะวันตกเข้าด้วยกันผ่านการใช้วัตถุดิบอย่างสาหร่ายคอมบุ เห็ดชิตาเกะและมะเขือเทศตากแห้ง และแฮมสด โดยใช้ไก่และเป็ดที่มาจากฟาร์มเลี้ยงปล่อยเป็นฐาน แล้วซุปใสตรงหน้าคุณเป็นสีทองเพราะใส่ซีอิ๊วหรือเกลือกันนะ เชิญอร่อยกับรสชาติแปลกใหม่ไม่มีที่สิ้นสุดจากวิธีการรังสรรค์อันล้ำสมัย

DEN KUSHI FLORI(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารเชิงนวัตกรรม)

ชื่อที่ฟังดูน่าฉงนนี้มาจากการผสมคำ 3 คำ “Den” สะท้อนถึงอาหารญี่ปุ่นสุดสร้างสรรค์ “Florilège” สื่อถึงอาหารฝรั่งเศสสมัยใหม่ และ “kushi” (อาหารเสียบไม้) ที่เป็นตัวเชื่อม 2 สิ่งแรกเข้าด้วยกัน ชื่อของเชฟ Hasegawa และ Kawate ยังประกอบด้วยคำที่มีความหมายเดียวกันอีกด้วย (Kawa แปลว่าแม่น้ำ) พวกเขาร่วมมือผสานความเป็นญี่ปุ่นและฝรั่งเศสเข้าด้วยกัน แนวคิดของร้านคือนำเสนออาหารเสียบไม้ โดยแต่ละเมนูเป็นการรังสรรค์ร่วมกันระหว่าง 2 เชฟ Boudin noir (ไส้กรอกเลือด) เสียบไม้ที่นี่จะเสิร์ฟพร้อมแอปเปิลดองรสเปรี้ยวหวาน

nôl(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารเชิงนวัตกรรม)

เชฟ Tatsuya Noda กล่าวว่าแนวคิดของร้านคือการ “หล่อเลี้ยงหัวใจ” เขาเน้นนำเสนอประสบการณ์ทานอาหารที่ไม่เหมือนใคร สร้างทั้งความแปลกใจและแรงบันดาลใจผ่านวิธีที่เขารังสรรค์อาหาร เมนูมังสวิรัติ “Eat from the Field” ได้อิทธิพลมาจากการดองผักด้วยการแช่ในจมูกข้าว ซุปที่เสิร์ฟหลังจานหลักทำจากชิ้นผักที่เหลือจากการตัดแต่ง คติของร้านคือการให้คุณค่ากับวัตถุดิบและหลีกเลี่ยงการสร้างขยะ เชฟได้นำคตินี้ผสานเข้ากับวัฒนธรรมการทานอาหารแบบญี่ปุ่น เกิดเป็นเมนูที่ผสานทั้งวัฒนธรรมและความรักษ์โลกเข้าด้วยกัน

Sushi Kojima(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทซูชิ)

เชฟ Michio Kojima นิยามตัวเองว่า เป็นช่างรังสรรค์ซูชิที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณยุคโชวะ ดังนั้น ซูชิที่เขาปรุงจึงมีปลาหย็องคั่นระหว่างข้าวปั้นและเนื้อปลาตะเพียนหรือกุ้งลายเสือด้านบน น้ำซุปกุ้งชิบะใช้รังสรรค์ทามาโกะยากิ เขาผูกสัมพันธ์กับร้านค้าด้วยการไปคัดเลือกวัตถุดิบที่ตลาด Toyosu เองทุกเช้า ร้านต่าง ๆ จึงรู้ใจ คอยเก็บวัตถุดิบที่สดใหม่ที่สุดไว้ให้เสมอ อย่างเช่นปลาตะเพียนวัยรุ่นที่ถือว่าให้เนื้อสำหรับทำซูชิที่อร่อยที่สุดในบรรดาปลาทั้งหมด

Sushi Masashi(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทซูชิ)

เชฟ Masashi Yamaguchi อยากให้มื้อซูชิบอกเล่าเรื่องราวอันอิ่มเอมใจ ที่มีครบทั้งบทนำ การหักมุม และบทสรุป ในช่วงปีที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ตัวเชฟได้เรียนรู้การนำเสนอจังหวะต่าง ๆ ของเอโดะมาเอะซูชิผ่านการใช้วัตถุดิบเปรี้ยว หวาน ร้อน เย็นมาทำหน้า เขาต่อยอดฝีมือการรังสรรค์ในแบบตัวเองจากเทคนิคแบบดั้งเดิม เขาหมักเนื้อปลาในน้ำซุปดาชิเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม ก่อนนำมาปรุงรสเพิ่ม นอกจากนั้น คุณยังมองเห็นตัวตนของเชฟผ่านเมนูเรียกน้ำย่อยต่าง ๆ อย่างสุกี้ยากี้ทูน่าได้อีกด้วย

Sushi Matsuura(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทซูชิ)

เราขอเริ่มจากเนื้อส่วนหน้าผากทูน่า (Noten) ห่อสาหร่ายอันน่าประทับใจและบ่งบอกถึงสายตาอันเฉียบคมในการคัดเลือกปลาของเชฟ Osamu Matsuura ตัวเชฟเริ่มเส้นทางอาชีพจากการเป็นพ่อค้าปลา ก่อนจะออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับร้านอาหารชื่อดังทั่วโลก และนำกลับมาใช้ที่บ้านเกิด เอโดะมาเอะซูชิของทางร้านไม่เหมือนที่อื่นเพราะเชฟต้องการนำเสนอวัตถุดิบประจำฤดูกาล คุณจะได้อิ่มอร่อยกับหอยลายในฤดูใบไม้ผลิ และรู้ว่าฤดูใบไม้ร่วงมาถึงแล้วเมื่อมีซูชิหน้าปลาซันมะ

Sushi Ryujiro(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทซูชิ)

เชฟ Ryujiro Nakamura บริหารงานอย่างจริงใจ เสียงตะโกนอันเข้มแข็งและท่าทีอันนอบน้อมเวลาตอบลูกค้าช่วยเสริมบรรยากาศร้านให้อบอุ่น ตัวเชฟเน้นรังสรรค์ความอร่อยจากปลาทูน่าครีบน้ำเงิน โดยเขาถือว่ามันคือหัวใจของซูชิเลยก็ว่าได้ อีกสิ่งที่สร้างแรงดึงดูดก็คือรสชาติอันแปรผันไปตามฤดูกาล ข้าวอุ่น ๆ ช่วยดึงรสชาติวัตถุดิบออกมาได้เป็นอย่างดี ประสบการณ์ที่เชฟเก็บเกี่ยวมาสะท้อนผ่านการบริการด้วยเช่นกัน

WASA(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารจีน)

ร้าน WASA เสิร์ฟอาหารรูปแบบดั้งเดิมในบรรยากาศโรงละครจำลอง เชฟ Masataka Yamashita เลือกใช้วัตถุดิบชั้นดี และใช้กระทะเหล็กทำอาหารจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ตัวเชฟเชี่ยวชาญทั้งอาหารกวางตุ้งและเสฉวน อาจารย์ชาวกิฟุได้ถ่ายทอดความรู้ในการคัดเลือกวัตถุดิบและรังสรรค์อาหารทุกรูปแบบ เมนูถนัดของเขาคือวุ้นเส้นคาเวียร์ และเปาะเปี๊ยะไส้ปลาอายุและปูที่มีเฉพาะฤดู แต่ละจานผสานความคลาสสิกเข้ากับความทันสมัย สร้างความประทับใจไม่ลืมเลือน

Tempura Yaguchi(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทเทมปุระ)

ดูเหมือนว่าเปลวไฟและควันร้อนที่ลอยเหนือน้ำมันร้อนฉ่าจะหลอกล่อให้วัตถุดิบเทมปุระพร้อมกระโดดลงกระทะ วิธีที่เชฟ Kazuki Yaguchi ทอดเทมปุระเปรียบเหมือนการนำวัตถุดิบลงไปแหวกว่ายในสระเดือดพล่าน ทางร้านเน้นใช้อาหารทะเลเพื่อคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของเอโดะมาเอะเทมปุระ แม้จะมีกุ้งและปลาหมึกให้เลือก แต่ทางร้านภูมิใจเสนอวัตถุดิบที่ถือได้ว่าเป็น 3 เสาหลักแห่งเอโดะมาเอะเทมปุระ ซึ่งก็คือปลาเห็ดโคน ปลาเมโกะชิ และปลาไหลอะนาโกะ คอร์สอาหารไล่ระดับจากเมนูรสเบาขึ้นไปถึงรสเข้มข้น

Ten Yokota(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทเทมปุระ)

เชฟ Shogo Yokota เรียนรู้ทักษะการรังสรรค์อาหารจากคุณพ่อของเขา แม้จะใช้เทคนิคแบบเอโดะมาเอะเป็นหลัก ตัวเชฟก็คอยเสาะหาเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อสืบต่อวัฒนธรรมอาหาร ทางร้านต้องมีกุ้งชิบะและปลาไหลอะนาโกะอยู่ตลอด อาหารที่นี่ผสานความเคารพในวัฒนธรรมและรสชาติแปลกใหม่ได้อย่างลงตัว ม้วนกระดาษหน้าทางเข้าที่เขียนคำว่า “ลื่นไหลและหยุดนิ่ง” สะท้อนถึงแนวคิดของร้านได้เป็นอย่างดี 

Akanezaka Onuma(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารญี่ปุ่น)

เมื่อพบว่างานออฟฟิศไม่เหมาะกับชีวิต เชฟ Mitsuharu Onuma เลยตัดสินใจผันตัวเข้าวงการอาหารด้วยความฝันว่า สักวันหนึ่งจะมีร้านเป็นของตัวเอง เมนูที่ร้านรังสรรค์บนพื้นฐานจานคลาสสิก คอร์สฮัซซุง (ส่วนหนึ่งของชุดไคเซกิ) ถือเป็นหัวใจสำคัญ เชฟจะจัดเตรียมคอร์สซึคุริอย่างพิถีพิถัน คุณอาจจะได้ลิ้มรสซุปร้อน ๆ ใส่สาหร่ายและซีอิ๊วหรือเส้นโซบะประจำฤดู คุณพ่อของเขาเป็นคนออกเก็บผักและเห็ดมัตสึตาเกะจากป่าในจังหวัดยามากาตะ การเลือกใช้ข้าวทสึยะฮิเมะก็สะท้อนเห็นถึงความรักเมืองเกิดด้วยเช่นกัน

Ensui(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารญี่ปุ่น)

เชฟ Ryosuke Ito ตั้งชื่อร้าน “Ensui” จากการผสานคำว่า “En” อันเป็นสัญลักษณ์ของเปลวไฟจากถ่าน และ “Sui” อันสื่อที่น้ำที่ใช้รังสรรค์ซุปดาชิ ทั้ง 2 อย่างนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นประสบการณ์มื้ออาหารที่ร้าน ความคิดที่ใช้สร้างสรรค์เมนูต่าง ๆ มาจากการศึกษาวัฒนธรรมในอดีตอย่างลึกซึ้ง เชฟจะดึงรสชาติสดใหม่ของวัตถุดิบให้แขกเห็นชัด ๆ ปลาโอแห้งฝานลงหม้อซุปอิจิบัง ดาชิต่อหน้า วัตถุดิบอื่น ๆ อย่างปลาคินเมได ปลาไหล และเป็ดถูกนำไปย่างบนเปลวไฟจากเตาถ่าน


Sharikimon Onozawa(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารญี่ปุ่น)

เชฟที่นี่จัดเตรียมวัตถุดิบด้วยวิธีสุดแหวกแนว แต่นำไปใช้ประโยชน์ได้รอบด้าน ตัวอย่างเช่น เขาจะสไลด์ปลาไหลฮาโมะให้บางด้วยการเลาะก้างออก ก้างปลาซันมะก็ถูกเลาะออกก่อนนำไปอย่างเพื่อให้คุณเริ่มอร่อยได้อย่างไร้กังวล ตัวเชฟสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานที่ร้าน Soba Kappo หลากหลายแห่ง ดังนั้น คอร์สสุดท้ายของที่นี่จึงเป็นเส้นโซบะทำมือ รสชาติที่ร้านนำเสนอผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นกุ้งซากุระ จุนไซ (หน่อพืชน้ำชนิดหนึ่ง) และหอยนางรม

Sorahana(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารญี่ปุ่น)

เชฟ Kanako Wakimoto เริ่มต้นจากการเป็นนักโภชนาการ อาจารย์ของเธอสอนให้เธอเคารพวัตถุดิบและให้ความสำคัญกับรสตามธรรมชาติ เธอเลือกใช้วัตถุดิบจากท่าเมืองมิซากิผ่านประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวจากร้านต่าง ๆ ในเมืองคามาคุระ หอยซาซาเอะจากคาบสมุทรมิอูระถูกนำมาทอดกรอบ ได้กลิ่นสาหร่ายและชวนให้รำลึกถึงชายหาด อาหารที่นี่รังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถัน ทานแล้วรู้สึกอบอุ่นไปทั้งใจ

Nishiazabu Otake(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารญี่ปุ่น)

เชฟ Tatsuya Otake เรียนรู้การสร้างสไตล์ของตัวเองและการรังสรรค์อาหารแบบนอกกรอบจากอาจารย์ชาวกิฟุผู้ถ่ายทอดความรู้ให้เชฟมากมาย เมนูที่ดูเหมือนอาหารญี่ปุ่นทั่วไปแฝงไปด้วยความขี้เล่น ซุปและจานย่างรังสรรค์ตามแบบดั้งเดิม แต่คอร์สของทอดจะเสิร์ฟโครเกต์ที่ใช้ส่วนผสมฤดูกาล เมนูพิเศษประจำฤดูร้อนคือรีซอตโตตับหอยเป๋าฮื้อ ความคิดแปลกใหม่ของคือเครื่องดึงดูดลูกค้าให้หลั่งไหลมาที่นี่

Hakuun(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารญี่ปุ่น)

เมนูของเชฟ Shingo Sakamoto ผันแปรตลอดดั่งเมฆที่ล่องลอย เขาเรียนรู้การปรับเปลี่ยนและไม่ยึดติดกับแนวคิดเดิม ๆ ที่ร้าน Ryugin อันโด่งดัง เขาปรุงดาชิที่ใช้ทำเมนูต่าง ๆ ต่อหน้าแขก เขายังนำเสนอเมนูเนื้อ กวางและเป็ดนอกเหนือจากเมนูญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม มีวลีเซนที่กล่าวว่า เมื่อมังกรขับร้อง เมฆจะก่อตัว (ryu ginzureba kumo okori) และเมฆก็เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและปรัชญาร้าน

est(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

ชื่อของร้านมาจากอักษรตัวแรกของคำว่า “Emotion” (อารมณ์) “Season” (ฤดูกาล) และ “Terrior” (สภาพแวดล้อม) เชฟ Guillaume Bracaval คัดเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลที่เขาถูกใจมารังสรรค์เมนูที่ผสานความเป็นญี่ปุ่นและฝรั่งเศสไว้ด้วยกัน ตัวแทนของความคิดสร้างสรรค์นี้คือเมนูเต้าหู้ที่เสิร์ฟพร้อมน้ำผึ้งและผลไม้รสเปรี้ยว ขนมปังทำจากแป้งถั่วเหลืองเสิร์ฟพร้อมฮัมมูสถั่วลูกไก่ และถั่วเหลืองออร์แกนิค ของหวานที่ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะสมัยใหม่ก็สะท้อนความคิดสุดสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน

SÉZANNE(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

Sézanne เป็นชื่อหมู่บ้านในภูมิภาคผลิตไวน์แชมเปญ พื้นที่รีสอร์ตอันเต็มไปด้วยความทรงจำสำหรับเชฟชาวอังกฤษ Daniel Calvert ซึ่งสะท้อนมาเป็นตัวเลือกแชมเปญอันหลากหลายและการจับคู่เครื่องดื่มของร้าน ตัวเชฟใช้วัตถุดิบญี่ปุ่นมาเพิ่มความทันสมัยให้สูตรอาหารฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม เมนูต้องลองคือปลาแมกเคอเรลรมควันเย็น และเครมบรูเล่


Nœud. TOKYO(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

ความยั่งยืนคือหัวใจหลักของ Nœud ซึ่งทางร้านได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดนี้ในทุกแง่มุม ผักเป็นวัตถุดิบหลักของที่นี่ คอร์สต่าง ๆ ประกอบด้วยเมนูที่ใช้น้ำมันหรือไขมันแต่น้อย ไม่หนักท้อง การนำวัตถุดิบชนิดเดียวมารังสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ก่อให้เกิดความหลากหลาย ช่วยดึงรสตามธรรมชาติออกมาได้เป็นอย่างดี ชื่อร้านแปลว่า “เงื่อน” เพราะทีมงานต้องการผูกผู้คน สิ่งแวดล้อม และอาหารเข้าด้วยกัน

Floraison(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

ร้านนี้ถึอเป็นผลงานร่วมระหว่างเชฟ Sasaki ที่พ่วงตำแหน่งซอมเมอลิเยร์ และเชฟ Narumi ผู้หลงใหลอาหารสไตล์ดั้งเดิม แต่ใช้ทั้งเทคนิคแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ เมนูประจำร้านได้แก่ ไส้กรอกเลือดเนื้อกวาง และฟัวกราย่าง (foie gras poêlé) ทั้ง 2 จานมาพร้อมองค์ประกอบเสริมความเปรี้ยวและซอสเข้มข้น ฝีมือการทำอาหารและไวน์ลิสต์แสดงให้เห็นถึงทักษะของเชฟทั้งสองที่เบ่งบาน สมชื่อร้านที่ให้ความหมายเดียวกันในภาษาฝรั่งเศส

L'ARGENT(รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประเภทอาหารฝรั่งเศส)

ชื่อร้านแปลว่า “เงิน (เหรียญ/ธาตุ)” เช่นเดียวกับคำว่า “Gin” ในกินซ่า และพื้นที่สีเงินแห่งนี้ก็ให้บรรยากาศล้ำยุค เชฟ Junichi Kato ตั้งใจให้ร้านนำเสนอเสน่ห์ของโตเกียว เขาผสานวัตถุดิบญี่ปุ่นเข้ากับเทคนิคฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมและนวัตกรรมแบบยุโรปเหนือ เมนู “Fermented Mushroom” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว อย่าลืมไปดื่มด่ำกับความงามและเสียงดนตรีบนระเบียง พร้อมความรู้สึกดี ๆ ที่ได้มาใช้ชีวิตกลางกินซ่า

สรุปผลการคัดเลือกร้านอาหารสำหรับ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับโตเกียว ประจำปี 2565

  • ร้านที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 432 แห่ง
  • ร้านรางวัลสามดาวมิชลิน 12 แห่ง
  • ร้านรางวัลสองดาวมิชลิน 41 แห่ง (ยกระดับ 3 แห่ง)
  • ร้านรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน 150 แห่ง (ร้านใหม่ 20 แห่ง ยกระดับ 1 แห่ง)
  • ร้านรางวัลบิบ กูร์มองด์ 229 แห่ง (ร้านใหม่ 35 แห่ง)
  • ร้านดาวมิชลินรักษ์โลก 14 แห่ง

เชิญรับชมงานประกาศผลรางวัล ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับโตเกียว ประจำปี 2565 ย้อนหลังได้ที่ช่อง MICHELIN Guide Asia หรือสามารถดูรายชื่อร้านที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดได้ที่นี่



ข่าวสารและกิจกรรม

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ