สิ่งที่น่าสนใจ 4 minutes 12 พฤศจิกายน 2022

ในน้ำมีปลา: ชวนรู้จักปลาท้องถิ่นหลากชนิดของไทย

เจาะลึกปลานานาพันธุ์ในน่านน้ำไทยอันอุดม

ไม่ใช่เรื่องยากถ้าจะให้นักชิมแยกความแตกต่างระหว่างกุ้งหรือหอยแต่ละชนิด แค่ดูก็รู้ว่าตัวไหนกุ้งแม่น้ำ ตัวไหนล็อบสเตอร์ หรือหอยแมลงภู่กับหอยเชลล์ก็แยกได้ง่าย ๆ แต่เมื่อเป็นปลา แซลมอนอาจมีสีส้มเด่น และนักชิมตัวยงหลายคนก็รู้ได้ด้วยเนื้อสัมผัสที่แห้งหรือมัน แต่ถ้าให้แยกระหว่างปลากะพงกับปลาเก๋าล่ะ คุณว่าจะยังง่ายอยู่หรือไม่?

หลายคนอาจจะงงด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ในยุคที่เราเดินห้างเป็นกิจวัตร การที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตัดแต่งและแช่แข็งปลามาเป็นชิ้น ๆ ทำให้เราไม่เห็นภาพปลาทั้งตัว หรือกระบวนการเตรียมเนื้อปลาให้พร้อมขายก็อาจจะยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างได้ยากขึ้นอีก กระทั่งนักการตลาดก็มีส่วนสร้างความสับสน ถ้าคุณค้นคำว่า “ปลากะพงแดง” ในวิกิพีเดีย คุณจะเห็นรายชื่อปลาสายพันธุ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของสายพันธุ์นี้ และนอกจากการตลาดแล้ว ผู้ค้าหลายรายยังตั้งใจปิดป้ายทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกหลงงงอีกต่างหาก


คุณรู้จักปลาไทยที่เสิร์ฟในร้านอาหารมากน้อยแค่ไหน? (© Shutterstock)
คุณรู้จักปลาไทยที่เสิร์ฟในร้านอาหารมากน้อยแค่ไหน? (© Shutterstock)

ในประเทศไทยที่ยังคงมีค่านิยมชอบปลา “นำเข้า” จากต่างประเทศ ร้านต่าง ๆ ทั่วประเทศภูมิใจนำเสนอปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากตลาดปลาซึกิจิ ลายไขมันบนเนื้อแซลมอนนอร์เวย์ เนื้อขาวบริสุทธิ์ของปลาหิมะชิลี แต่มักไม่ค่อยเห็นใครนำเสนอปลาท้องถิ่น ทำไมหลายคนถึงบีบจมูกเมื่อเห็นอ่อมปลาไหล แต่กลับปลาบปลื้มน้ำตาไหลเมื่อได้รับประทานโรลปลาไหลในร้านซูชิกันล่ะ

จากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมเราจะเห็นได้ชัดถึงผลกระทบ ทั้งพันธุ์ปลาคุณภาพที่ถูกจับมากเกินขนาด และการผลาญเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาลเพื่อขนส่งสู่ปลายทาง ขณะที่มุมมองในเชิงการรับประทานก็เลวร้ายไม่แพ้กัน อาหารทะเลส่วนใหญ่มักไม่ได้คุณภาพ ผู้ขายพยายามลดต้นทุนที่ต้องจ่ายให้แก่กระบวนการขนส่งสุดซับซ้อน แล้วยังมีการตลาดที่ดึงความสนใจคนไปจากปลาท้องถิ่นที่มีพร้อมอยู่แล้ว แถมคุณภาพปลาท้องถิ่นเหล่านั้นยังยอดเยี่ยม

แนวปะการัง ปากแม่น้ำ ทะเล และสายธารของไทยมีผลผลิตคุณภาพระดับโลกแหวกว่ายอยู่มากมาย หลายชนิดเป็นความลับประจำถิ่นที่คนนอกน้อยรายจะรู้ แต่เชฟไทยรุ่นใหม่ได้หันมาจุดกระแสใส่ใจคุณค่าปลาท้องถิ่นเหล่านี้ พร้อมภูมิใจเสิร์ฟเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูสุดอร่อยของพวกเขา

เชฟเทพขอดเกล็ดปลากะมงพร้าวจากภาคใต้ (© Taan)
เชฟเทพขอดเกล็ดปลากะมงพร้าวจากภาคใต้ (© Taan)

ความพยายามผลักดันปลาไทยของเชฟ
หนึ่งในผู้ที่มุ่งเน้นการใช้ปลาท้องถิ่นคือเชฟเทพ-มนต์เทพ กมลศิลป์ แห่งร้านธาน (ร้านอาหารแนะนำในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2565) ที่ตั้งอยู่บนชั้น 25 ของโรงแรมสยามแอทสยาม ดีไซน์ โฮเทล ใจกลางแหล่งชอปปิงกรุงเทพฯ เชฟเทพมุมานะนำวัตถุดิบไทยคุณภาพเยี่ยมมาผ่านการรังสรรค์รสชาติที่น่าสนใจ เชฟเทพกล่าวว่า “เรามีคู่ค้าที่ทุ่มเทกับปลามาก”

ด้วยกระบวนการที่เน้นความยั่งยืน ตาปีซีฟู้ดได้กลายมาเป็นผู้ส่งมอบวัตถุดิบคุณภาพจากท้องทะเลอันอุดมของไทยให้ร้านอาหารมากมาย แต่แม้จะคัดมาแล้ว เชฟเทพก็ยังต้องยอมรับว่าคุณภาพของวัตถุดิบแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล หรือแม้แต่วัน

“วัตถุดิบที่พวกเขาจับได้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ด้วยครับ เหมือนเรือกับเรามีสัญญาใจกันอยู่ บางครั้งเราได้กุ้งมา บางครั้งก็ไม่มี ถ้าเราวางเมนูไว้แล้วก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการหาปลาที่ทอดได้มาใช้แทน เราเลยพยายามคิดเมนูที่ใช้วัตถุดิบได้หลากหลายมาทอด แล้วเราก็ให้ทีมบริการไปนำเสนอกับแขกอีกต่อ”

ว่าแต่วัตถุดิบอะไรที่ได้มาโลดแล่นในเมนูของเชฟเทพอยู่เสมอ?

บางครั้งก็มีปลาพันธุ์เล็กตามฤดูกาลมาเปิดตัว แต่วัตถุดิบหลักเจ้าประจำจะเป็นปลาสองน้ำขนาดใหญ่จากอ่าวไทยและทะเลอันดามันซึ่งแขกส่วนใหญ่มักไม่รู้จัก อย่างปลาช่อนทะเล ปลาอีโต้มอญ (มาฮิ มาฮิ) ปลาเจ้าสมุทรที่ดูคล้ายกับปลากะพงปกติที่นำมาทำเมนูเผ็ดร้อน ปลาเก๋าลื่นซึ่งคล้ายคลึงกับปลาเก๋าทั่วไป และยังมีปลากะมงตัวใหญ่ยักษ์ที่ชาวฮาวายถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ใช้บูชายัญแทนมนุษย์ได้

เชฟเทพยอมรับว่าค่อนข้างยากที่จะนำเสนอให้แขกรู้สึกว่าปลาท้องถิ่นมีคุณภาพสูสีกับปลาพันธุ์ดังจากฮอกไกโดหรือนอร์เวย์

เมื่อต้องจัดเตรียมวัตถุดิบศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องทำด้วยความเคารพ คู่ค้าของเชฟเทพจะใช้เทคนิคที่เรียกว่าอิเคะจิเมะ โดยใช้ลวดปลายแหลมแทงตัดเส้นประสาท ปลาจะสมองตายทันที จากนั้นก็จะดึงเส้นประสาทและระบายเลือดออก

เทคนิคนี้ถือเป็นการฆ่าปลาที่รวดเร็ว ไม่ทารุณ และยังช่วยรักษาคุณภาพเนื้อปลาด้วยการป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมาทำลายความอร่อยของเนื้อปลา และเชฟเทพยังล้ำไปอีกขั้นด้วยการนำมาแขวนเพื่อบ่มเนื้อปลาต่อ เหมือนกับเนื้อที่บ่มมาทำสเต๊ก


ปลาที่เขานำมาดรายเอจ (© Taan)
ปลาที่เขานำมาดรายเอจ (© Taan)

เชฟเทพยอมรับว่าค่อนข้างยากที่จะนำเสนอให้แขกรู้สึกว่าปลาท้องถิ่นมีคุณภาพสูสีกับปลาพันธุ์ดังจากฮอกไกโดหรือนอร์เวย์

“เรื่องแรกเลยคือประสบการณ์ที่ส่งมอบ แขกเหล่านั้นกลัวว่าจ่ายเงินตั้ง 2,800 บาทเพื่อมารับประทานอาหารไทยทั่วไป เมื่อเราใช้คำว่า ‘อาหารไทย’ เราพยายามมองในมุมบวกว่าเราสามารถนำเสนอของดีที่ประเทศเรามี วัตถุดิบที่ใช้ต้องไม่ใช่สิ่งที่แขกคุ้นเคย” เชฟยืนหยัดในจุดนี้ แม้ในบางทีอาจดูขัดกับความรู้สึกของแขก “พวกเขาจะถามว่า ‘กินได้เหมือนกับซาชิมิเลยเหรอ’ เราจูงใจเขาในเรื่องคุณภาพไม่ได้ เรายังจูงใจพนักงานไม่ได้หมดเลย แต่เราให้เขาลองชิมเองได้”

อย่างไรก็ตาม คุณภาพไม่ได้หยุดอยู่แค่ปลาท้องถิ่นและชื่อแปลกหูเท่านั้น แม้แต่ปลาดุกที่หาได้ตามไร่นาและนำมาย่างขายริมทางทั่วประเทศก็ต้องมีคุณภาพ เชฟเทพยิ้มพร้อมกล่าวว่า “เวลาเราออกงานเราจะใช้ปลาดุก เพราะคนคุ้นเคยอยู่บ้าง แม้ชื่อจะฟังดูไม่ได้สวยหรู แต่เราพยายามจะนำเขาก้าวผ่านภาพนั้น เรานำเมนูนี้ไปออกงานกับคนที่กล้าแตกต่างอย่างเชฟแบล็ก”

เชฟเทพหมายถึงเชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ แห่งร้าน Blackitch Artisan Kitchen (ร้านอาหารแนะนำในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2565) ในเมืองเชียงใหม่ เชฟแบล็กร่วมงานกับคู่ค้ารายเดียวกัน และใช้เทคนิคแนวเดียวกันกับเชฟเทพ แม้แต่เทคนิคอิเคะจิเมะ เขาเสาะหาวัตถุดิบคุณภาพทั่วไทยเพื่อมารังสรรค์เป็นเมนูแสนพิเศษและล้ำสมัย

นอกจากใช้ปลาชนิดเดียวกันกับเชฟเทพแล้ว เชฟแบล็กยังมีปลาท้องถิ่นชนิดอื่นที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ เช่น ปลาจรวด ซึ่งมักเทียบได้กับทูน่าครีบเหลือง และยังมีปลาสำลี หรือที่คนรักซูชิรู้จักในนามคัมปาจิ วิถีเชฟแบล็กก็คล้ายคลึงกับเชฟเทพ เฟ้นหาวัตถุดิบจากคู่ค้าที่ดีที่สุด ร่วมมือกับชาวประมงเพื่อเตรียมปลาด้วยวิธีอิเคะจิเมะ หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ตัววัตถุดิบฉายคุณค่าด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปลาซาร์ดีนท้องถิ่นหมักซอสหวาน หรือแกงปลาเข็ม

เมื่อถามถึงปลาดุกที่ใช้ทำมื้อค่ำ เชฟแบล็กกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ปลาดุกทั่วไป แต่เป็นปลาดุกทะเล เราจัดเตรียมเหมือนอุนางิ แต่หนังมีรสชาติดีกว่ามาก เรานำมาบ่มไว้ 3 วันจนกรอบเหมือนหมูกรอบ แม้แต่ไข่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนรับประทานอิคุระ”

เชฟเทพยังเสริมอีกว่า “เราไม่เคยรู้มาก่อนหรอกว่ามีวัตถุดิบไทยแบบนี้ เราตั้งใจปลุกกระแสให้คนหันมาสนใจมัน”

สองเพื่อนเชฟกับการปลุกปั้นวงการปลาไทยให้เป็นที่นิยม (© Jirawat Veerakul / MICHELIN Guide Thailand, Taan)
สองเพื่อนเชฟกับการปลุกปั้นวงการปลาไทยให้เป็นที่นิยม (© Jirawat Veerakul / MICHELIN Guide Thailand, Taan)

วิธีเลือกปลามือโปรระดับ (เชฟ) เทพ และเชฟแบล็ก
สำหรับคนทั่วไป การเลือกซื้อปลาอาจเป็นเรื่องซับซ้อนด้วยตัวเลือกมากมาย ไหนจะมีปลานำเข้า แต่ทุกอย่างดูง่ายไปเลยเมื่อไปนั่งรับประทานและฟังเรื่องราวที่ร้าน แล้วถ้าอยากเข้าครัวเองล่ะ

เชฟแบล็กบอกว่าให้มอง 2 สิ่ง ความแน่นของเนื้อและสีแดงของเหงือก สองอย่างนี้เป็นตัวบอกคุณภาพปลาได้ดีที่สุดและใช้ได้กับปลาทุกชนิด อีกวิธีคือเลือกซื้อจากชาวบ้านและพูดคุยกับคนขาย ซึ่งโดยปกติแล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นปลาตามฤดูกาล จับมาอย่างไร และมาจากส่วนไหนของประเทศ อ่าวไทยที่น้ำตื้นขุ่นหรือทะเลอันดามันน้ำใสลึก

เชฟเทพยกตัวอย่างปลากะพงที่เราคุ้นชิน “ปลากะพงธรรมชาติจะต่างกับปลากะพงเลี้ยงโดยสิ้นเชิง อันดับแรกเลยคือกลิ่น ปลากะพงธรรมชาติจะไม่วนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นน้ำ สารอาหาร สิ่งที่เขากินและพฤติกรรมจะต่างจากปลาเลี้ยง เนื้อก็ไม่เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนรูปร่างเพื่อเอาตัวรอดกลางทะเล ร่างกายคุณคือผลลัพธ์ของอาหารที่กิน ปลาก็เช่นกัน เมื่อเขาต้องออกไปหากินในแหล่งอื่น เขาต้องเอาตัวรอด ต้องฝ่าฟัน เนื้อ ชั้นไขมัน ความแน่น และรสชาติของปลาทะเลจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง”

แหล่งที่ซื้อก็สำคัญ เมื่อพูดถึงความยั่งยืนเชฟเทพยอมรับว่าสำหรับคนทั่วไป “บางครั้งก็ยากที่จะหาวัตถุดิบทุกอย่างจากแหล่งยั่งยืนได้พร้อมกัน” แต่เชฟก็แนะนำให้ลองไปเดินตลาด อ.ต.ก. หรือสำหรับคนที่ไม่เกี่ยงเรื่องราคาลองไปเดินตลาดสามย่านแถวจุฬาฯ (ห่างจากร้านธานไม่มากนักด้วย)

สิ่งที่เชฟทั้งสองเน้นย้ำในฐานะศิลปินผู้จัดการรสชาติคือการนำเสนอวัตถุดิบคุณภาพจากท้องทะเลไทย ผู้บริโภคต่างมองข้ามปลาท้องถิ่นมานาน ดังนั้นยังมีช่องทางอีกหลากหลายให้นำเสนอทั้งสู่สายตาชาวกรุงเทพฯ และชาวโลก ดังที่เชฟเทพกล่าวว่า “ในฐานะเชฟ เราคือตัวกลาง เราพยายามลบความเป็นตัวเองออก” จากนั้นสิ่งที่คุณต้องทำก็มีแค่เปิดใจลองชิม


สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ