สิ่งที่น่าสนใจ 5 minutes 04 ธันวาคม 2024

ทำไมเสียงเพลงจึงส่งผลต่อรสชาติอาหาร? สำรวจอิทธิพลดนตรีที่ส่งผลต่องานบริการของกรุงเทพมหานคร

บุคลากรชั้นนำในแวดวงบริการพูดถึงบทบาทความสำคัญของดนตรีที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า พร้อมชี้เป้ามุมฟังเพลงที่ห้ามพลาดในกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ มหานครของประเทศไทยนั้นขึ้นชื่อด้านมาตรฐานการบริการในระดับสูงตลอดมา จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองหลวงของไทยจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางแถวหน้าของโลกในการต้อนรับเหล่านักเดินทาง และนอกเหนือจากรสชาติอาหารและงานออกแบบที่เรียกสายตาให้ชวนมอง รู้หรือไม่ว่าอีกองค์ประกอบที่สำคัญนั้นอยู่ในรายละเอียดที่หลายคนมองไม่เห็น แต่ “ได้ยิน”

บุคลากรแถวหน้าในแวดวงบริการทั้งโรงแรมระดับกุญแจมิชลินและร้านอาหารดาวมิชลินมาให้คำตอบกับเราว่า “ดนตรี” ช่วยสร้างประสบการณ์ความประทับใจให้แก่แขกผู้มาเยือนอย่างไร (แถมพิกัดฟังเพลงที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองฟ้าอมรที่เต็มไปด้วยของอร่อยและที่พักชั้นยอดให้ด้วย)

เชฟแดน บาร์ก และเฟย์-ธัญจิรา ตระกูลวงษ์ สามี-ภรรยาเจ้าของร้าน Cadence by Dan Bark (© Cadence by Dan Bark)
เชฟแดน บาร์ก และเฟย์-ธัญจิรา ตระกูลวงษ์ สามี-ภรรยาเจ้าของร้าน Cadence by Dan Bark (© Cadence by Dan Bark)

แค่ชื่อร้าน Cadence by Dan Bark ที่แปลว่า “ท่วงทำนองแห่งดนตรี” ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหัวเรืออย่างเชฟแดน บาร์ก (Dan Bark) และภรรยา เฟย์-ธัญจิรา ตระกูลวงษ์ ผู้เป็นทั้งผู้จัดการทั่วไปและเจ้าของร้านอาหารแนว Innovative แห่งนี้หลงใหลและให้ความสำคัญกับดนตรีมากแค่ไหน

“เราพิถีพิถันในการเลือกเพลย์ลิสต์มาก เพราะเชื่อว่าเสียงเพลงมีผลอย่างมากเวลารับประทานอาหาร ทันทีที่แขกมาถึงร้านพวกเขาต้องเดินผ่าน Decompression Mirror Room ที่เต็มไปด้วยกระจกสะท้อนเพื่อให้ผ่อนคลาย โดยเราจะเล่นเพลงชื่อ ‘Cadence’ ของเราเอง”

เชฟแดนและเฟย์เล่าว่าเพลงดังกล่าวของร้านแต่งขึ้นมาเป็นพิเศษโดยทีมงานสตูดิโอ “No Sound in Space” เมื่อปี 2563 ทั้งจังหวะดนตรีและโทนเสียงบอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ และจังหวะเมนูอาหารค่ำของ Cadence by Dan Bark ทั้งยังช่วยให้แขกสัมผัสได้ถึงตัวตนของร้านอาหารมากขึ้น พวกเขาให้ความสำคัญต่อบทเพลงเป็นอย่างมากในฐานะหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า

“Cadence เป็นร้านอาหารที่นำเสนอประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหมด เราเลือกเพลงที่ไม่หนักเนื้อเพลง ส่วนใหญ่เป็นเพลงบรรเลงที่มีจังหวะสวย มีชีวิตชีวา ในการสร้างสรรค์เพลย์ลิสต์สำหรับร้านเราพิจารณาถึงบรรยากาศและลักษณะของลูกค้าที่มารับประทานอาหาร รวมถึงระดับพลังงาน (energy level) โดยเลือกเพลงที่ตรงกับมู้ดและโทน ณ ขณะนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นคืนที่คึกคัก ผู้คนคุยกันจนเกือบจะเอาหน้ามาจ่อกัน สิ่งสำคัญคือระดับเสียงเพลงต้องไม่ดังจนแขกต้องตะโกนคุยกัน หรือถ้าบรรยากาศเงียบ เราก็เปลี่ยนเพลงให้มีจังหวะสดใสและดังขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อเพิ่มระดับพลังงานภายในร้านให้มีชีวิตชีวาขึ้น”

Crimson Room บาร์ฟังดนตรีสดย่านหลังสวน และชามแกง ร้านอาหารรางวัลบิบ กูร์มองด์ ในคู่มือ 'มิชลิน ไกด์' ฉบับประจำปี 2568 (© Crimson Room, Charmgang)
Crimson Room บาร์ฟังดนตรีสดย่านหลังสวน และชามแกง ร้านอาหารรางวัลบิบ กูร์มองด์ ในคู่มือ 'มิชลิน ไกด์' ฉบับประจำปี 2568 (© Crimson Room, Charmgang)

พิกัดฟังเพลงที่ไม่ควรพลาด
แน่นอนว่าเมื่อทุ่มเทกับการคัดสรรเพลงที่ร้านขนาดนี้ ทั้งสองย่อมต้องยกให้ร้านของพวกเขาที่อยู่ติดกันอย่าง Caper by Dan Bark เป็นสถานที่ฟังเพลงที่พวกเขาชอบที่สุด เพราะการตกแต่งภายในร้านนำเราสู่ยุค Prohibition ในช่วง ค.ศ. 1920 มอบกลิ่นอายของแกตสบี้ที่สนุกสนานหรูหรา ผสมผสานทั้งความคลาสสิก มีเสน่ห์ และมีชีวิตชีวา ที่นี่ยังมักเปิดเพลงเก่าในตำนานของศิลปินที่ชวนให้คิดถึงอย่างอัล กรีน (Al Green), เจมส์ บราวน์ (James Brown), มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye), สตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder) และ The Isley Brothers ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์จะเปลี่ยนเป็นเพลงที่คึกคักทันสมัยขึ้น ซึ่งก็เหมาะสำหรับมื้อสายช่วงวันสุดสัปดาห์

“นอกจากนี้เรายังชอบบรรยากาศ ค็อกเทล และเพลย์ลิสต์ของร้านชามแกงด้วย คุณคงไม่คิดหรอกว่าร้านอาหารไทยต้นตำรับจะเล่นเพลงตะวันตกสุดคลาสสิก แต่มันกลับเข้ากันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิกตลอดกาลโดยศิลปินอย่าง The Temptations, แนต คิง โคล (Nat King Cole) และแม้แต่เพลงของแฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra) ที่ทั้งผ่อนคลายแต่ผสานด้วยความสนุกสนาน

“เรายังชอบพาเพื่อน ๆ ที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ ไป Crimson Room เพราะเป็นบาร์ที่เหมาะสำหรับนั่งฟังเพลงต่อหลังจากกินข้าว มีวงดนตรีสดเล่นทุกคืน โดยเฉพาะวงดนตรีโปรดของเรา THE BAR ENDERS ที่รู้วิธีดึงดูดผู้ชมให้มีส่วนร่วม แถมยังเล่นเพลงหลากหลายทั้งเพลงไทยและเทศ ทุกคนสามารถร้องและเต้นตามได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเต้นรำ จิบค็อกเทลอร่อย ๆ เพลิดเพลินกับค่ำคืนอันแสนสนุกกับเพื่อน ๆ ไปจนถึงออกเดต”


อมาร์ ลัลวานี ประธานและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของกลุ่มไลฟ์สไตล์เครือไฮแอท (© The Standard Bangkok Mahanakhon)
อมาร์ ลัลวานี ประธานและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของกลุ่มไลฟ์สไตล์เครือไฮแอท (© The Standard Bangkok Mahanakhon)

ด้านโรงแรมไลฟ์สไตล์ระดับแถ้วหน้าบนตึกระฟ้ากลางกรุงเทพฯ อย่าง The Standard Bangkok ซึ่งได้รับรางวัลกุญแจมิชลิน 1 ดอก ก็ให้ความสำคัญกับดนตรีแทบทุกตารางนิ้ว โดย อมาร์ ลัลวานี (Amar Lalvani) อดีตประธานกรรมการบริหาร Standard International ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของกลุ่มไลฟ์สไตล์เครือไฮแอทเล่าให้ฟังว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเสียงดนตรี และแน่นอนว่าดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญของโรงแรมที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างประสบการณ์อย่าง The Standard Bangkok


“เราอัปเดตเพลย์ลิสต์ทุก ๆ ชั่วโมงในทุกเอาต์เลตของโรงแรม เช่น เพลงสำหรับห้องอาหารจีน Mott 32 จะต่างจากเพลงที่ล็อบบี้บาร์อย่าง The Parlor ต่างจากห้องอาหาร The Standard Grill และห้องอาหารเม็กซิกัน Ojo ด้วย รวมถึงที่ Sky Beach โดยเสียงที่แขกได้ยินนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสควบคู่ไปกับกลิ่น ถามว่าเราให้ความสำคัญกับเพลงแค่ไหน เอาเป็นว่าเรามีการจัดแสดงสดจากวงดนตรีไทยที่กำลังมาแรงอย่าง Rosalyn รวมถึงดีเจชื่อดังระดับโลกอย่าง Diplo ที่บินตรงมาเล่นในงานปาร์ตี้เปิดตัวของเราด้วย”

เขาเสริมอีกว่าโรงแรม The Standard Bangkok เน้นการสร้างประสบการณ์ให้สอดคล้องกับพื้นที่และช่วงเวลาของวัน รวมถึงความรู้สึกโดยรวม อันส่งผลต่อแขกที่มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นเพลงสำหรับงานปาร์ตี้บนดาดฟ้าที่สูงที่สุดของประเทศที่มีบรรยากาศคึกคัก เพลงที่ชวนให้รู้สึกสบายตัวเข้ากับบรรยากาศมื้อค่ำสบาย ๆ หรือการพักผ่อนริมสระน้ำที่เพลงเฮาส์และเพลงแดนซ์นั้นชวนให้รู้สึกผ่อนคลายแต่ก็สนุกสนาน ในทางตรงกันข้าม ที่ล็อบบี้บาร์ The Parlor นำเสนอเพลงที่ชวนผ่อนคลายแต่ช่วยบิลด์อารมณ์ ตลอดจนดนตรีแจซที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบไม่ขัดจังหวะบทสนทนา

ร้าน Studio Lam และ Alonetogether สถานที่ฟังเพลงในย่านสุขุมวิท (© Studio Lam, Alonetogether)
ร้าน Studio Lam และ Alonetogether สถานที่ฟังเพลงในย่านสุขุมวิท (© Studio Lam, Alonetogether)

พิกัดฟังเพลงที่ไม่ควรพลาด
“นอกจากการฟังเพลงในโรงแรม The Standard แล้ว พิกัดดนตรีในกรุงเทพฯ ที่ผมชอบคือ Bamboo Bar และ Studio Lam เพราะเป็นพื้นที่สำหรับผู้รักดนตรีที่ขึ้นชื่อในเรื่องดนตรีหมอลำที่เป็นแรงบันดาลใจระดับโลก โดยผสมผสานเครื่องดนตรีดั้งเดิมเข้ากับจังหวะสมัยใหม่ ผมยังชอบร้าน Alonetogether ซึ่งเป็นบาร์แผ่นเสียงในอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นที่มีคอลเลกชันแผ่นเสียงเลิศมาก และมีดนตรีแจซเล่นสดด้วย”


เชฟเจราร์ด เชฟแห่งร้านอาหารหนึ่งดาวมิชลิน (© Elements Inspired by Ciel Bleu)
เชฟเจราร์ด เชฟแห่งร้านอาหารหนึ่งดาวมิชลิน (© Elements Inspired by Ciel Bleu)

สำหรับเชฟเจราร์ด บียาเรต ออร์กาโค (Gerard Villaret Horcajo) แล้ว นอกจากการเป็นหัวเรือแห่งห้องอาหารฝรั่งเศสกลิ่นอายญี่ปุ่นที่ครองรางวัลหนึ่งดาวมิชลินประจำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 อย่าง Elements, Inspired by Ciel Bleu เขายังเป็นผู้เลือกเพลงที่จะเปิดในร้านเพื่อให้เข้ากับเมนูอาหารที่เขาออกแบบ ด้วยความเชื่อมั่นว่าดนตรีคือเครื่องมืออันทรงพลังในการปลุกอารมณ์ สร้างประสบการณ์อันน่าจดจำ และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

“ผมว่าเราสามารถออกแบบประสบการณ์ให้แขกได้ด้วยการเลือกเพลงประกอบที่เข้ากับการรับประทานอาหาร ทั้งยังเติมเต็มอาหาร ธีม และกลุ่มเป้าหมายได้ ร้านของเราเลยเปิดตั้งแต่ดนตรีแจซที่ฟังง่ายไปจนถึงเพลงป๊อปที่ทรงพลัง เพราะผมเชื่อว่าดนตรีมีพลังพิเศษที่ช่วยยกระดับให้มื้ออาหารธรรมดา ๆ กลายเป็นมื้อพิเศษที่น่าจดจำได้”

เชฟเจราร์ดต้องการให้พื้นที่ของร้านเป็นสถานที่รับประทานอาหารที่ทั้งหรูหราแต่ก็มีบุคลิกไม่น่าเบื่อ และต้องเข้ากับการตกแต่งและคอนเซปต์อาหารของเขาด้วย เพื่อช่วยให้นักกินได้ลิ้มลองรสชาติอย่างเพลิดเพลินขณะสนทนาโดยที่เพลงไม่โดดเด่นจนแย่งซีนอาหาร (ที่เขาและทีมตั้งใจทำ) ที่นี่จึงเน้นเพลงที่ไม่ดังจนเกินไปหรือเด่นจนแย่งซีนส่วนประกอบอื่น ๆ

“เราเลือกเพลงที่ฟังง่ายและเป็นที่รู้จักตลอดกาล แต่ก็ชวนให้รู้สึกหรูหราและสงบในเวลาเดียวกัน ผมอยากให้แขกได้พูดคุยกันอย่างออกรส กอปรกับได้ละเลียดศิลปะแห่งอาหารที่นำเสนอลงบนจานได้อย่างเต็มที่”

Stella และ Mami Rose (© Capella Bangkok, Mami Rose)
Stella และ Mami Rose (© Capella Bangkok, Mami Rose)

พิกัดฟังเพลงที่ไม่ควรพลาด
เชฟชาวสเปนแนะนำ Stella บาร์ใน Capella Bangkok โรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รางวัลกุญแจมิชลิน 2 ดอก นอกเหนือจากเจ้านกยูงของตกแต่งที่ตั้งอยู่กลางห้องจนเป็นเอกลักษณ์แล้ว บาร์แห่งนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องดนตรีสดในบรรยากาศสบาย ๆ ให้คุณได้ละเลียดจิบค็อกเทลที่ชงอย่างเชี่ยวชาญ (เขายังแถมเคล็ดลับให้จิบ Bittersweet แก้วโปรดที่มีรสชาติแสนจะลงตัวของที่นั่นขณะเพลินกับการชมดนตรีสดด้วย)

“อีกแห่งที่ผมชอบคือ Mami Rose บาร์ใหม่ในศูนย์การค้า Emsphere ที่ยกบรรยากาศไมอามีวินเทจแบบยุค 1980 มาไว้ มีจัดปาร์ตี้ มีดีเจ และให้บรรยากาศที่สนุกมาก ผมว่าเป็นสถานที่เหมาะจิบเครื่องดื่มและเต้นได้ตอนดึก และสุดท้ายคือบาร์ในฝันของคนรักดนตรีแจซอย่าง Crimson Room กับบรรยากาศที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยุค ค.ศ. 1920”

เมื่อแพลนทริปมากรุงเทพฯ ลองไปสัมผัสศิลปะแห่งดนตรีที่ช่วยสร้างบรรยากาศและชีวิตชีวาให้กับเมืองหลวงของไทยตามพิกัดที่แนะนำโดยนักรังสรรค์ประสบการณ์ระดับมืออาชีพเหล่านี้กันได้ หากต้องการอัปเดตสถานที่ท่องเที่ยวก่อนออกเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ TAT Call Centre เบอร์ 1672 หรือเฟซบุ๊ก TAT Contact Centre กันได้เลย ร่วมสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวไปด้วยกัน Your stories never ends ด้วยการติดแฮชแท็ก #MustDoinThailand และ #AmazingThailand


สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ

เลือกวันที่เข้าพักของคุณ
อัตราใน THB สำหรับ 1 คืน, 1 แขก