นักเขียนของเราเล่าถึงประสบการณ์เข้าพักที่ราชินีแห่งโรงแรมของกรุงเทพฯ และหาเหตุผลว่าอะไรทำให้โรงแรมแห่งนี้โดดเด่นไม่เหมือนใครในดลก และเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของสยามประเทศ อ่านรีวิวอย่างเป็นทางการของทีมงานผู้ตรวจสอบของ ‘มิชลิน ไกด์’ ที่กล่าวถึงโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ได้ที่นี่
หากจะมีโรงแรมสักแห่งที่เด็กสาวชาวกรุงผู้โตมาในยุคเพลง "One Sweet Day" ของ มารายห์ แครี (Mariah Carey) ครองบิลบอร์ดชาร์ตใฝ่ฝันที่จะได้มาเยือนสักครั้ง คำตอบนั้นคือ แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ (Mandarin Oriental, Bangkok) สถานที่ที่ผู้หลักผู้ใหญ่มักเคยยกย่องให้ฟังตั้งแต่เด็กว่าเป็นโรงแรมระดับห้าดาวแห่งแรกของไทย และเป็นที่สุดของสถาบันด้านงานบริการ เลยไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะเล่าอย่างภาคภูมิถึงยุคที่เคยทำงานที่ "โอเรียนเต็ล" ชื่อครั้งแรกของโรงแรมตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2419
เจ้าหน้าที่ของทางโรงแรมเล่าให้ฟังว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มาเยี่ยมชมที่นี่ในปี 2434 ที่พักแห่งนี้ยังได้ต้อนรับแขกคนแรก คือ มกุฎราชกุมารนิโคลัสแห่งรัสเซีย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานประกอบการแห่งนี้ก็ได้สืบสานประเพณีการต้อนรับแบบราชวงศ์ โดยดึงดูดทั้งบุคคลสำคัญ และบรรดาคนดังผู้กระหายการพบเห็นว่าตัวเองกำลังถือแก้วจิบค็อกเทลสวย ๆ อยู่ในห้องเต้นรำ หรือกำลังกรีดกรายลงบันไดงามอันโดดเด่นเพื่อจิบมาชาที่ Author’s Lounge


แม้จะเคยได้มาเยี่ยมเยือนราชินีแห่งกรุงเทพฯ แห่งนี้อยู่หลายครั้ง ทว่านี่กลับเป็นการเข้าพักจริง ๆ เป็นครั้งแรกของผู้เขียน การเดินทางจากทองหล่อไปย่านริมน้ำอันทรงเสน่ห์แถบเมืองเก่าของฉันติดปัญหาเล็กน้อย แต่ทันที่ที่ได้เห็นพนักงานต้อนรับในชุดเครื่องแบบไทยดั้งเดิมที่ออกมาเปิดประตูรถต้อนรับก็ชวนอุ่นใจขึ้นมา
ฉันรู้สึกประหลาดใจทุกครั้งที่ได้ย่างเท้าเข้าโรงแรม ที่นี่ไม่ได้ชูเรื่องความเรียบง่ายด้วยสไตล์มินิมอลสีขาวบนพื้นสีเบจที่เห็นได้ดาษดื่นในโรงแรมยุคใหม่ ทว่ากล้าแก่นเล่นสีไม่เคยกลัวอย่างมีรสนิยม การได้เห็นแดดส่องผ่านหน้าต่างที่สูงจากพื้นจรดเพดานปลุกให้การตกแต่งภายในยิ่งดูหรูหราเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา โคมไฟทองเหลืองเข้ากับสีเอิร์ธโทนสดบนผืนพรมและเบาะรองนั่ง และแน่นอนว่าต้องพูดถึงดอกไม้สดที่จัดโดยนักจัดดอกไม้ชื่อดังชาวไทยถึงสองคนที่คอยปรับเปลี่ยนการตกแต่งดอกไม้ตลอดทั้งปี เติมชีวิตชีวาให้กับทุกซอกมุมแบบพลาดไม่สังเกตไม่ได้ และความรู้สึกประทับใจกับล็อบบี้นี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน
พนักงานต้อนรับยิ้มเก่งเตรียมห้องให้เช็คอินตั้งแต่เนิ่น ๆ นัดหมายสปาให้เสร็จสรรพเพื่อเข้ากับตารางเวลาของฉัน แถมยังให้เลทเช็คเอาท์ในวันอาทิตย์อีกด้วย ห้อง Deluxe Premier ตรงปีกแม่น้ำของฉันมาพร้อมเตียงขนาดคิงไซส์ แถมยังใหญ่เกินคาดหมายด้วยพื้นที่ 43 ตร.ม. มีโซฟาสี Tiffany Blue อ่อนชวนมอง พื้นไม้ และพรมได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ฉาบบาง ๆ ด้วยความเป็นไทย ชวนรู้สึกเหมือนอยู่รีสอร์ท ห้องนี้ยังตกแต่งด้วยไม้สัก ผ้าไหมไทย และภาพพิมพ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ความรู้สึกราวดุจเดินเข้ามาในกระเป๋าวินเทจที่ตัดเย็บอย่างประณีตไร้ที่ติ


พนักงานต้อนรับฉันด้วยเครื่องดื่มตะไคร้เย็นชื่นใจ พร้อมพวงมาลัย ห้องของเรามาพร้อมลำโพงบลูทูธที่ใช้ง่าย ทีวีขนาดใหญ่ และเสื่อโยคะ และแม้ที่อาบน้ำฝักบัวจะขนาดกะทัดรัดไปหน่อย แต่อ่างอาบน้ำขนาดกำลังดี ทั้งยังมีสุขภัณฑ์ทันสมัยแบบญี่ปุ่นที่เซ็นเซอร์ฉับไวมาช่วยทดแทนได้ไม่มีบ่น
หลังจากนั่งมองคนแหวกว่ายอยู่ในสระน้ำสีฟ้าระยิบระยับพร้อมลวดลายงามสีทองอร่ามจากบนห้องในช่วงบ่าย ฉันอดใจไม่ไหวที่จะลงลิฟต์ไปรับแดดริมสระสักหน่อย พนักงานริมสระต้อนรับอย่างอบอุ่น แนะด้วยว่ามีครีมกันแดดสำหรับแขกสำหรับคนที่ลืมพกมาแบบฉัน และขณะกำลังเล่นซ่อนหากับแดด ซุกหน้าอ่าน "Lunch with the FT" ของไลเนล บาร์เบอร์ (Lionel Barber) กับแก้วค็อกเทล Gin Rickey เย็นเจี๊ยบในมือ เมฆสีเทาไม่น่ารักก็เคลื่อนตัวมาบังแดด พอพระอาทิตย์ออกมายิ้มอีกครั้ง ฉันแหงนมองฟ้าอย่างฉงน พวกเขาก็รีบมาหุบร่มให้ราวกับอ่านใจออก
หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ฉันพาตัวเองไปจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ชอบแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นั่นคือร้านอาหารริมแม่น้ำของโรงแรมที่ชื่อ The Verandah เพราะในบรรดาบาร์ริมแม่น้ำราคาสูงลิ่วซึ่งมีอยู่ทั่วย่านนี้ ที่นี่ไม่เหมือนที่อื่นเพราะไม่ใช่บาร์ แต่เป็นร้านอาหารพิกัดดีที่เสิร์ฟค็อกเทลประณีต อาหารกินเล่นอร่อย และบริการไม่เคยตกพร่อง
และแมนดาริน โอเรียลเต็ล ไม่ได้มาเล่น ๆ เรื่องอาหาร ที่นี่มีร้านอาหารถึง 12 แห่ง รวมถึงร้านที่ได้รับรางวัลมิชลินถึง 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันอาหารฝรั่งเศสระดับตำนานอย่าง Le Normandie (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน) อัญมณีแห่งอาหารญี่ปุ่นสไตล์ไคเซกิอย่าง Kinu by Takagi และร้านบ้านพระยาที่เสิร์ฟอาหารไทยตำรับดั้งเดิมในบ้านโบราณอายุกว่า 120 ปี โดยทั้งหมดล้วนได้รับการแนะนำอยู่ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับปี 2567


หลังอาหารค่ำ ฉันมุ่งหน้าไป The Bamboo Bar สวรรค์ของคนรักแจ๊สที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นสถานที่โปรดปรานอีกแห่งของผู้เขียน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา Bamboo Bar ดึงดูดแฟน ๆ มาจากทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของยุค 1950 อันเร่าร้อน จะหาว่าฉันเชยก็ได้ แต่ยังไงที่นี่ก็ยังเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนคลั่งแจ๊สอยู่ดี ค่ำวันเสาร์ที่คนแน่นขนัด แต่เมื่อพนักงานทราบว่าเป็นแขกที่มาพัก ฉันก็ได้ที่นั่งทันฟังเพลง “I Got a Kick Out of You” จากนักร้องหญิงเสียงดี พร้อมจิบค็อกเทลเนโกรนีที่ชงได้อร่อย จะเรียก Bamboo Bar ว่าเป็นมากกว่าบาร์ก็ได้ เพราะเป็นสถานที่ที่ผสมผสานความสง่างามคลาสสิกและการบริการที่ดีเยี่ยม เขย่าเชคใส่ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมดนตรีมาเสิร์ฟไว้ด้วยกันได้อย่างไม่เคยผิดหวัง
หลังจากได้พักผ่อนยามค่ำคืนและแช่ตัวในอ่างที่ช่วยรู้สึกผ่อนคลายราวกับแมวขี้เซาใต้แสงตะวัน ฉันก็ตื่นมากินอาหารเช้าริมแม่น้ำ แม้ตัวเลือกอาหารเช้าของที่นี่จะมีไม่มากนัก ทว่าไข่สไตล์ฝรั่งเศสที่แอบขอให้ทำพิเศษอร่อยตรงใจ และแม้แต่ผ้าเช็ดปากที่ปลิวว่อนซ้ำ ๆ ราวกับมีชีวิตของผู้เขียนก็ได้รับการเก็บจากพนักงานหน้าเปื้อนยิ้มแทบจะในทันที ที่นี่คุณภาพชนะเหนือปริมาณอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับคนกรุงเทพฯ ยิ้มสยามอันเลื่องชื่ออาจเลือนหายไปกับยุคสมัย แต่ที่แมนดาริน โอเรียนเต็ล รอยยิ้มนั้นยังคงเปล่งประกายอย่างอบอุ่น จริงใจ และปรากฏอยู่บนใบหน้าของพนักงานมาตลอด 148 ปี ขณะจิบกาแฟยามเช้า ฉันอดรู้สึกภูมิใจไม่ได้ในฐานะคนไทย มันไม่ได้อยู่ที่ความมากกว่า หรือใหม่กว่า แต่อยู่ที่ความละเอียดละออของการใส่ใจในทุกรายละเอียดอย่างไร้ที่ติมากกว่า และทำให้แขกที่มาเยือนรู้สึกอบอุ่นราวกับอยู่บ้าน นี่แหละคือแก่นแท้ของการบริการแบบไทยอย่างแท้จริงที่เราไม่เป็นสองรองใคร นอกเหนือจากการต้อนรับอันไร้ที่ติ แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ แห่งนี้ยังเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ กับหัวใจเแห่งการบริการที่เต้นไม่หยุดจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยไปแล้ว
จองโรงแรม Mandarin Oriental, Bangkok กับ 'มิชลิน ไกด์' →
Hero image: Mandarin Oriental, Bangkok — Bangkok, Thailand