สิ่งที่น่าสนใจ 4 minutes 09 ธันวาคม 2020

ชิมอาหารพื้นถิ่น หอมกลิ่นเครื่องเทศ ณ จังหวัดสตูล

ดื่มด่ำบรรยากาศสตูลเมืองสงบ อาหารถูกปาก ธรรมชาติสะอาด สูดอากาศบริสุทธ์

พอบอกว่าไปสตูล ทุกคนอาจนึกถึงหลีเป๊ะ แต่ที่จริงแล้วหลีเป๊ะไม่ใช่ทั้งหมดของสตูล เพราะที่นี่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ชวนให้ใจเต้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น อุทยานธรณีสตูล ซึ่งนับเป็นอุทยานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจากองค์กร UNESCO ให้เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 36 ของโลก และที่ 5 ของอาเซียน ที่ได้รับการรับรองนี้ นอกจากนี้ สตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยวอย่าง สันหลังมังกร และปราสาทหินพันยอด และไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล แต่สตูลยังมีความงามจากธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ชื่นชอยการล่องป่าเขาลำเนาไพรและการชมน้ำตก เรียกได้ว่า มาสตูลจังหวัดเดียว ก็สามารถเก็บเกี่ยวแหล่งท่องเที่ยวได้ครบทุกรส

เกาะหลีเป๊ะ
เกาะหลีเป๊ะ

ในอดีต สตูลเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี (รัฐเคดาห์ มาเลเซีย) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชาวสตูลส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวมลายู โดยสามารถสังเกตุจากอาหารการกินพื้นเมือง ที่ได้รับอิทธิพลมาไม่น้อยเช่นกัน สำหรับเมนูพิเศษที่ถือเป็นเมนูคู่บ้านคู่เมืองของสตูล จนนิยมยกขึ้นโต๊ะ ต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยืยนอยู่เป็นประจำ ก็คือ ‘ข้าวมัน แกงตอแมะห์’ แกงชื่อแปลกหูชนิดนี้ เป็นคำจากภาษามลายู โดย ตอแมะห์ มาจากคำว่า ตูมิห์ ที่หมายถึงการผัดเครื่องแกงคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำกะทิสดหรือน้ำมัน แกงตอแมะห์ นั้นนิยมรับประทานกับข้าวมันหรือขนมประเภทโรตี นับเป็นอาหารประจำวันมื้อสำคัญ สามารถทานได้ทั้งช่วงเช้า เที่ยง หรือจะใช้เป็นมื้อเย็นก็ยังได้ แต่โดยปกติ หากรับประทานตอนเช้า มักจะนิยมทานกับโรตีเป็นหลัก

TAT_0085.jpg

แกงตอแมะห์นั้นมีเครื่องปรุงหลายอย่าง ได้แก่ ปลาสด น้ำกะทิสด เกลือ มะขามเปียก ขมิ้น พริกแห้งเมล็ดใหญ่ กระเทียม หัวหอมแดง เมล็ดบาลาบา เมล็ดซาหวี เมล็ดผักชี เมล็ดข้าวเล็ก เมล็ดข้าวใหญ่ และใบกาลาปอแหล (ใบสมุยเทศ) ส่วนวิธีทำคือ ตั้งน้ำมันให้ร้อน จากนั้นนำหอมกระเทียมที่ซอยเรียบร้อย พร้อมเมล็ดบาลามาและเมล็ดซาหวีลงเจียว แล้วจึงนำเครื่องปรุงบดละเอียด ลงไปผัดคลุกเคล้ากันจนสุกหอม ตามด้วยน้ำกะทิสดลงไปเคี่ยวจนเดือด ต่อจากนั้นใส่ปลาที่เตรียมไว้ เติมน้ำมะขามเปียกเล็กน้อยให้มีรสอมเปรี้ยว จากนั้นใส่มะเขือยาวลงไปจนสุกดี แล้วจึงใส่ใบกลาปอแหลก่อนยกลงจากเตา และใส่จานปรุงแต่งด้วยพริกชี้ฟ้าให้สวยงามเป็นอันเสร็จ เมื่อพูดถึงแกงตอแมะห์ ย่อมต้องพูดถึงชุมชน บ้านควน ซึ่งเป็นต้นตำรับของแกงตอแมะห์ในสตูล ผ่านอิทธิพลจากไทรบุรี
ซึ่งในชุมชนบ้านควน ได้มีการค้นพบบ้านโบราณทรงปั้นหยา ที่มีอายุถึง 170 ปี หรือเทียบเท่ากับความเก่าแก่ของจังหวัดสตูล มีการคาดเดาว่าบ้านหลังนี้ ในอดีตเคยเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครสโตย พระยาภูมินารถภักดี หรือมหาอำมาตย์ตรีพระยาภูมินารถภักดี โดยว่ากันว่าบ้านหลังนี้ มหาอำมาตย์ตรีพระยาภูมินาถภักดีนั้นเป็นผู้ให้สร้างขึ้นมาไว้ใช้ทำราชการ เปรียบเหมือนเป็นศูนย์ร้องทุกข์ชาวบ้าน 

นอกจากบ้านโบราณแล้ว ชุมชนบ้านควนยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้ได้เพลิดเลพิน เช่น การล่องแก่งบนแหล่งน้ำจืด แต่หากใครต้องการจะเปลี่ยนบรรยากาศ ก็สามารถเลือกที่จะพายเรือคายัคในทะเลที่ปลอดภัยและสวยงาม ที่อุทยานธรณีสตูลซึ่งทางองค์กรยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก นั่นก็คือ ปราสาทหินพันยอด ในหมู่เกาะเภตรา อำเภอและงู อำเภอละงู รบกวนให้คนเขียนดูรายละเอียดตามเอกสารต้นฉบับให้ละเอียดอีกทีนะครับ ไม่ควรผิด นับเป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์เป็นความภูมิใจของชาวสตูล ซึ่งประกอบด้วยยอดเขาหินปูนที่ดูคล้ายปราสาทหินตั้งอยู่กลางผืนน้ำ

TAT_0049.jpg

นอกจากปราสาทหินพันยอด อำเภอละงูนั้นยังมีขนมหวานขึ้นชื่อของจังหวัดอย่าง ‘บุหงาบูดะ’ โดยขนมชื่อแสนไพเราะนั้นมีที่มา เพราะ บุหงา แปลว่า ดอกไม้ ส่วน บุดะ แปลว่าดอกลำเจียก เป็นขนมรูปร่างคล้ายหมอนสี่เหลี่ยมสีขาว มีไส้ทำจากมะพร้าวทึนทึกขูด นำไปผัดกับน้ำตาลจนแห้งสนิท ส่วนตัวแป้งนั้นทำจากแป้งข้าวเหนียวและน้ำเปล่า ผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้าจนแป้งได้ที่ โดยระวังไม่ให้เแห้งหรือแฉะเกินไป ขนมบุหงาบุดะนั้นนิยมทำขึ้นในเทศกาลฮิดิลรัฎฮา และพิธีแต่งงาน จัดเป็นขนมมงคลที่มีความหมายให้คู่บ่าวสาวร่วมเรียงเคียงหมอน ครองรักกันตลอดกาล ปัจจุบันถือเป็นขนมพื้นเมืองที่หาได้ในอำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น เมื่อดูจากวิธีทำ บางคนอาจจะคิดว่าขนมนี้มีวิธีทำเหมือนกับขนมเกสรลำเจียกของภาคกลาง แต่รสชาตินั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งหากใครอยากรู้เรื่องว่ารสชาติต่างกันอย่างไร ต้องมาลองด้วยตัวเอง

อีกหนึ่งในจุดที่ไม่ควรพลาดก็คือ ‘ถ้ำเลสเตโกดอน’ หนึ่งในสมาชิกของอุทยานธรนีสตูล เป็นถ้ำเลที่มีความยาวตลอดแนวกว่า 4 กิโลเมตร โดยคำว่า ‘สเตโกดอน’ นั้นมาจากชื่อซากช้างดึกดำบรรพ์ ซึ่งถูกค้นพบเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ และนอกจากความพิเศษในแง่โบราณคดีและธรณีวิทยาแล้ว ถ้ำเลสเตโกดอนยังมีสเน่ห์จับตา ด้วยประกายระยิบระยับจากแร่แคลไซด์ที่เคลือบอยู่ตามก้อนหินทรงแปลกตาภายในถ้ำ โดยหากมาในหน้าแล้ง จะเห็นเป็นหินงอกหินย้อยที่สะท้อนแสงมลังเมลือง แต่ถ้ามาหน้าฝน จะเห็นผนังถ้ำแปลงเป็นม่านน้ำตกที่สวยจับใจ

ถ้ำเลสเตโกดอน
ถ้ำเลสเตโกดอน

ความงดงามของสตูลนั้นมีตั้งแต่ภูเขาจรดชายฝั่ง จากถ้ำเล เมื่อลงจากเขาไปที่ทะเล มุ่งหน้าไปยัง ‘สันหลังมังกร’ หรือทะเลแหวกสันหลังมังกร คำเรียกขานเกาะของชาวชุมชนตันหยงโป ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์กลางทะเลอันดามัน ที่เมื่อน้ำทะเลลดลง กระแสน้ำจะเปิดทางให้กับสันทรายสีทองน่าอัศจรรย์ เพราะสันทรายนี้ประกอบขึ้นจากซากเปลือกหอยนับล้านที่ทับถมกัน จนเกิดเป็นเส้นทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ที่เชื่อมจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่งอย่างสวยงาม เมื่อมองดูแล้วเปรียบเสมือนกับมังกรที่โผล่พ้นจากผืนน้ำ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินบนสันหลังมังกรที่พลิ้วไหวสวยจับใจ หากใครที่ต้องการไปเที่ยวชมสันหลังมังกรแห่งนี้ สามารถขึ้นเรือจากท่าเรือบ้านบากันเคย ตำบลตันหยงโป โดยจะมีชาวบ้านชุมชนบากันเคยเป็นผู้นำเรือหางยาวมาคอยให้บริการทุกวัน ใช้เวลาเดินทางจากชายฝั่งเพียง 20 นาทีก็จะถึงที่หมาย ทั้งนี้ ควรเช็ควันเวลาน้ำขึ้นน้ำลงก่อนไป เพื่อโอกาสที่จะได้ชมความงามของสันหลังมังกรอย่างเต็มตา

TAT_0211.jpg

เมื่อแวะมาสตูล ของฝากที่หวานทั้งรส หวานต่อความรู้สึก ย่อมหนีไม่พ้นขนมแสนอร่อย มากความหมายอย่าง ‘ขนมผูกรัก’ ขนมชนิดนี้มีอีกชื่อในภาษามลายูว่า ซิมโป้ยซายังกาเซะ ประกอบคำมลายูสามคำที่เรียงร้อยเข้าด้วยกัน ซิมโป้ย (ผูก) ซายัง (ที่รัก) และกาเซะ (ขอบคุณ) ถือเป็นขนมมงคลที่ใช้แทนคำขอบคุณ และใช้มอบให้กันในเทศกาลมงคลต่างๆ ตัวขนมทำจากแป้งปอเปี๊ยะที่นำเข้าจากมาเลเซีย ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำมาใส่ไส้แล้วผูกเป็นโบว์ คล้องไปกับชื่อขนมผูกรัก ตัวไส้ทำจากเนื้อปลาทูแขก หรือปลาทะเลที่มีอยู่ในท้องถิ่น เอามานึ่งแล้วนำเฉพาะเนื้อปลามาบดด้วยมือ ก่อนนำไปผัดกับพริกแกง ที่ประกอบไปด้วยพริกเม็ดเล็ก พริกเม็ดใหญ่ ขิง ข่า ตะไคร้ และหอมแดง ปรุงรสให้เค็มนิดเผ็ดหน่อยอย่างลงตัว ผัดเป็นเวลานานถึง 6 ชั่วโมงจนตัวไส้นั้นแห้งกำลังดี ก่อนจะนำไปใส่แป้งผูกสวยงามแล้วทอดด้วยไฟอ่อนๆ ให้เหลืองกรอบน่ารับประทาน

กินขนมผูกรักรับวัฒนธรรมชาวสตูลแล้ว อย่าลืมแวะสัมผัสวิถีชาวเลที่หมู่บ้านบากันใหญ่ ใช้เวลานั่งเรือออกจากแผ่นดินใหญ่ไปยังหมูบ้านกลางทะเลราว 40 นาที ก็จะถึงท่าเทียบเรือหมู่บ้านเกาะบากันใหญ่ เกาะเล็กๆที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั่งเดิมของชุมชนตัวเอง นอกจากได้สังเกตุวิถีชาวประมงแล้ว ช่วงน้ำลงที่เกาะบากันใหญ่ ผืนกรวดสีแดงจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำเป็นแนวยาวยื่นลงทะเล ทำให้ดูคล้ายกับสันหลังมังกรสีแดงตัวใหญ่กลางทะเล ส่วนในช่วงน้ำขึ้นเต็มที่ หากเหมาเรือชาวบ้านออกไปราว 10 นาทีจากฝั่ง ก็จะพบกับ ศาลาหมึก ซึ่งชาวบ้านเอาทางมะพร้าว มาผูกกับโครงไม้ถ่วงไว้ด้วยล้อรถยนต์เพื่อเป็นบ้านให้ปลาหมึกอาศัย และหากโชคดี จะได้เห็นโลมาหัวขวดออกมาว่ายน้ำอีกด้วย

สันหลังมังกร
สันหลังมังกร

ไม่ไกลจากศาลาหมึก เกาะหินดำและเกาะหินแดงเป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าแวะชม โดยหากไปช่วงน้ำลงจะสามารถเดินเล่นได้โดยรอบ จากนั้นนั่งเรือย้อนกลับไปพบความมหัศจรรย์ของ หอขาว หรือ เกาะหอยกาบ ซึ่งเป็นเกาะที่แตกต่างจากเกาะอื่นๆ เนื่องจากหอขาวนี้อยู่กลางทะเล ล้อมรอบด้วยน้ำเหมือนเกาะตัวไป ที่สิ่งน่ามหัศจรรย์คือเกาะนี้สามารถเคลื่อนที่และเปลี่ยนรูปร่างได้ ตามกระแสน้ำและลม นอกเหนือจากนี้ อีกความมหัศจรรย์ของเกาะหอยกาบ คือหาดขาวโค้งพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งประกอบด้วยเปลือกหอยสีขาวล้วนแทนเม็ดทราย ส่งให้ทุกก้าวเต็มไปด้วยเสียงใสกังวาล คล้ายเสียงโมบายล์ยามลมพัด และเพราะว่าเกาะแห่งนี้ไม่มีผืนดินที่แท้จริง ทั่วทั้งบริเวณเกาะนี้จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่แม้แต่ต้นเดียว ที่สำคัญคือ นอกจากจะได้สัมผัสกับรสชาติของวิถีชาวเลดั้งเดิมแล้ว การไปเที่ยวชุมชนชาวประมง ยังแปลว่าผู้ที่มาเยือน จะได้รับประทานอาหารทะเลที่สดอร่อยอีกด้วย

เกาะหินดำและเกาะหินแดง
เกาะหินดำและเกาะหินแดง

จังหวัดสตูล อาจไม่ใช่จังหวัดใหญ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่กลับงดงามด้วยสิ่งมหัศจรรย์ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหาดเปลือกหอย หรือทะเลแหวก ประกอบกับอาหารสดใหม่ วิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย และน้ำใจของชาวบ้าน ทำให้สตูลเป็นอีกหนึ่งเมืองที่เหมาะแก่การพักผ่อนทั้งกายและใจ สำหรับนักเดินทาง การไปสตูลสามารถทำได้โดยนั่งเครื่องบินไปลงที่หาดใหญ่ และนั่งรถไปที่จังหวัดสตูล เนื่องจากทั้งสองจังหวัดอยู่ห่างกันเพียงชั่วโมงกว่าเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ