ท่องเที่ยว 4 minutes 02 มีนาคม 2022

ลำปาง เมืองแห่งงานดีไซน์ ต้นกำเนิดจานชามเซรามิกคุณภาพเยี่ยมที่เชฟร้านดาวมิชลินเลือกใช้

ของดีเมืองไทยที่ไปไกลระดับโลก

เคยเป็นไหม เวลาไปกินอาหารนอกบ้านแล้วเจอจานชามสวย ๆ ถูกใจ เรามักจะขอจดพิกัดแหล่งผลิต หรือไม่ก็พลิกดูลายประทับตราของร้านต่าง ๆ ที่ด้านหลัง และแน่นอนว่าถ้ามีโอกาสก็ไม่พลาดที่จะออกท่องเที่ยวตามรอยไปชอปปิงเก็บลายแทงสมบัติบนโต๊ะอาหารเหล่านั้นกลับบ้านด้วยเหมือนกัน

ชามตราไก่ที่คนไทยทั่วทุกภาคต่างรู้จัก (© Shutterstock)
ชามตราไก่ที่คนไทยทั่วทุกภาคต่างรู้จัก (© Shutterstock)

ย้อนรอยต้นกำเนิดเซรามิกลำปาง
สำหรับประเทศไทย เมื่อพูดถึงจานชามเซรามิกแหล่งใหญ่ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงจังหวัดลำปางเป็นอันดับต้น ๆ ทว่าเมื่อย้อนประวัติศาสตร์เซรามิกในไทยพบว่าต้นกำเนิดโรงงานเซรามิกสำหรับผลิตจานชามนั้นเริ่มต้นโดยชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ บริเวณชุมชนวงเวียนใหญ่ ธนบุรี โดยได้ริเริ่มปั้น “ชามตราไก่” เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนชามตราไก่นำเข้าจากจีนที่แพงหูฉี่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังเครื่องถ้วยชามเซรามิกที่มีลักษณะแบบชามตราไก่ต้นตำรับจากจีนกลับกลายมาเป็นสัญลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้แก่ “จังหวัดลำปาง” ไม่เพียงในฐานะสินค้าส่งออกคุณภาพดีที่กระจายไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก สำหรับเมืองไทย ยุคบูมของชามตราไก่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นช่วงพ.ศ. 2498 เมื่ออี้ (ซิมหยู) แซ่ฉินได้ค้นพบดินขาวคุณภาพดีที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม ซึ่งเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในไทย จากนั้นก็ตั้งโรงงานเริ่มผลิตชามตราไก่แห่งแรกในไทยขึ้นโดยขายเฉพาะในประเทศ มีทั้งชามตราไก่ ถ้วยน้ำจิ้ม ถ้วยขนม เน้นกระบวนการผลิตแบบจีน เผาด้วยเตามังกรหรือเตาฟืนแบบโบราณ อันเป็นเอกลักษณ์การผลิตที่ยังคงสืบสานอยู่ในปัจจุบันของลำปาง ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตชามตราไก่คุณภาพดีที่สุดในไทยเท่านั้น แต่เครื่องเซรามิกลำปางยังถูกนำไปเพิ่มมูลค่า ต่อยอดจากมรดกภูมิปัญญา ขยายไลน์การผลิตจากชามตราไก่ ถ้วยใส่น้ำจิ้ม ไปสู่ของแต่งบ้านรวมทั้งหมวดงานศิลปะร่วมสมัยอื่น ๆ อีกด้วย


“ต้มเนื้อใบย่านาง” ในชามที่ร้าน Saawaan คัดสรรจากลำปาง จานนี้ร้านรางวัลหนึ่งดาวมิชลินได้รับแรงบันดาลใจจากซุปเนื้อตำรับอีสานโดยนำสมุนไพรที่มีคุณค่ามาเป็นวัตถุดิบในการปรุง (© Saawaan)
“ต้มเนื้อใบย่านาง” ในชามที่ร้าน Saawaan คัดสรรจากลำปาง จานนี้ร้านรางวัลหนึ่งดาวมิชลินได้รับแรงบันดาลใจจากซุปเนื้อตำรับอีสานโดยนำสมุนไพรที่มีคุณค่ามาเป็นวัตถุดิบในการปรุง (© Saawaan)

ภาชนะคู่ใจของเชฟ
เมื่อมองในส่วนอุตสาหกรรมร้านอาหารในเมืองไทย โดยเฉพาะบนโต๊ะไฟน์ไดนิ่งระดับร้านอาหารรางวัลดาวมิชลิน เครื่องถ้วยชามเซรามิกจากลำปางคือภาชนะคู่ใจที่เชฟระดับร้านรางวัลดาวมิชลินหลายคนเลือกใช้ ซึ่งนอกจากเหตุผลที่มีต้นทางการผลิตจากแหล่งดินขาวคุณภาพดีที่สุดแหล่งหนึ่งในไทยแล้ว ในแง่ดีไซน์นั้นจานชามเซรามิกจากลำปางยังใส่ความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญ “ชามตราไก่ลำปาง” ยังได้ยกระดับเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) ด้วยลักษณะเฉพาะถิ่นที่โดดเด่นทั้งกระบวนการผลิตและลวดลายที่เป็น เอกลักษณ์ของจังหวัดลําปาง ซึ่งที่อื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ ผลิตโดยใช้ดินขาวลำปางที่เหนียว มีความแข็งแกร่ง บ่งบอกลักษณะทางธรณีวิทยาของลำปางที่เป็นแหล่งแร่ดินขาวและดินดำจำนวนมาก ทั้งยังใช้เทคนิคการวาดมือสร้างลวดลายเฉพาะรูปไก่ ดอกโบตั๋น หรือต้นกล้วย แทรกวิถีวัฒนธรรมการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีนได้เป็นอย่างดี

“ประเทศไทยมีงานเซรามิกที่สวยไม่แพ้ใครในโลก ที่ร้าน Canvas เราใช้จานแฮนด์คราฟต์จากร้านเล็ก ๆ ชื่อ Cone No.9 ที่ผลิตในลำปาง และพวกเขาก็เพิ่งขยายสาขามาที่กรุงเทพฯ ได้ไม่นานนี้เอง จานชามของที่นี่คุณภาพสูง และเราก็นำมาใช้เสิร์ฟเมนูที่ผ่าน ๆ มาของร้าน” ไรลีย์ แซนเดอร์ส (Riley Sanders) เชฟชาวอเมริกันแห่งร้านรางวัลหนึ่งดาวมิชลินบอกกับเรา

สตรอว์เบอร์รีเชียงใหม่กับซอสเครื่องเทศ และเมนูปลาจะละเม็ดจากสุราษฎร์ธานีกับพริกไทยของเชฟ Riley Sanders แห่งร้าน Canvas (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน) ที่นำมาเสิร์ฟใส่จานเซรามิกลำปางได้อย่างน่าสนใจ (© Canvas)
สตรอว์เบอร์รีเชียงใหม่กับซอสเครื่องเทศ และเมนูปลาจะละเม็ดจากสุราษฎร์ธานีกับพริกไทยของเชฟ Riley Sanders แห่งร้าน Canvas (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน) ที่นำมาเสิร์ฟใส่จานเซรามิกลำปางได้อย่างน่าสนใจ (© Canvas)

กระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยเส้นทางท่องเที่ยวสายเซรามิก
อันที่จริงชามตราไก่ลำปางเคยหายไปสักพักเมื่อแม่บ้านสมัยใหม่เลือกใช้จานชามพลาสติกที่ทนทานและมีราคาถูกกว่า ทว่าในวันที่คนรุ่นใหม่เริ่มโหยหาความทรงจำในอดีต ชามตราไก่ที่หมดราคาก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้มีให้ได้ค้นหาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งแรกในไทยที่เล่าประวัติเครื่องเซรามิกของเมืองลำปาง พร้อมเปิดให้ชมทุกกระบวนการผลิต และสามารถลงเวิร์กชอปทำเซรามิกกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกได้อีก และอีกแห่งคือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือมิวเซียมลำปาง พิพิธภัณฑ์น้องใหม่ที่เปลี่ยนศาลากลางหลังเก่าของลำปางเป็นสถานที่เล่าเรื่อง “คน-เมือง-ลำปาง” ในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์เครื่องถ้วยชามเซรามิกตราไก่ที่ได้เข้ามาพลิกชีวิตชาวเมืองลำปาง ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยผสมผสานเทคโนโลยีแบบอินเทอร์แอ็กทีฟได้อย่างน่าสนใจ

แต่หัตถกรรมการทำจานของลำปางจากวันนั้นถึงวันนี้ยังคงมีความโดดเด่นอย่างไร “โรงงานที่ออกแบบจานในลำปางมีงานดีไซน์ที่หลากหลาย คนผลิตจานเคยเล่าให้ฟังว่าผลิตจานกระเบื้องเกรดดีให้ร้านอาหารดัง ๆ ระดับโลกในแถบสแกนดิเนเวียด้วย” เชฟอ้อม-สุจิรา พงษ์มอญ แห่งร้าน Saawaan (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน) บอกกับเราไว้เมื่อปีก่อน

เชฟชาวเท็กซัสแห่งร้าน Canvas เสริมว่า “ผมได้เรียนรู้เรื่องสไตล์ที่แตกต่างของงานเซรามิกจากการได้พูดคุยกับผู้ผลิตที่เก่ง ผมยังชอบไปชมการผลิต และมักมองหาผู้ผลิตใหม่ ๆ ที่ช่วยออกแบบจานที่เหมาะสำหรับเมนูใหม่ของเราด้วย เพราะวิธีการจัดแต่งจานของผมหลายครั้งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากจานชามเซรามิกนี่เองครับ”


ชามตราไก่ สัญลักษณ์อันโดดเด่นของลำปางที่เห็นเป็นไม่ได้ (© Shutterstock)
ชามตราไก่ สัญลักษณ์อันโดดเด่นของลำปางที่เห็นเป็นไม่ได้ (© Shutterstock)

ความโด่งดังของชามตราไก่และเซรามิกเมืองลำปางทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวสายเซรามิก ซึ่งช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ถ้านับเฉพาะในส่วนของโรงงานทั้งใหญ่เล็กก็มีร่วม 150 แห่ง นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ที่ทุกบ้านล้วนทำเซรามิกออกมาวางขาย ที่โดดเด่น ได้แก่ หมู่บ้านเซรามิกเกาะคา ซึ่งมีโฮมสเตย์ให้ได้เที่ยวเจาะลึกเข้าคลาสปั้นเซรามิกกับชาวบ้านในชุมชนไปเลย นอกจากนี้ยังมีเซรามิกแฟร์ที่เป็นงานแฟร์เซรามิกประจำปี และเป็นตลาดเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หรืออย่างถนนคนเดินกาดกองต้าเองก็มีงานเซรามิกร่วมสมัยจากศิลปินนักปั้นเซรามิกรุ่นใหม่ของลำปางมาวางขายด้วยเช่นกัน

ทั่วถิ่นไทยนั้นเต็มไปด้วยเรื่องน่าค้นหาที่เหมาะสำหรับการออกไปสำรวจ ซึ่งผลงานหัตถกรรมท้องถิ่นแบบไทย ๆ ฝีมือคนไทยยังสามารถต่อยอดไปไกลระดับเวทีโลกผ่านผลงานอาหารของเชฟมากความสามารถระดับรางวัลดาวมิชลินได้ แถมยังเปิดโอกาสให้นักกินได้ลิ้มรสอาหารอร่อย ๆ เป็นการเปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารไปพร้อมกัน

เรียกได้ว่าแค่เรื่องเล่าบนโต๊ะอาหารจากจานชามก็ทำให้เราอยากเก็บกระเป๋าออกเดินทางสู่ลำปางได้แล้ว

ชามตราไก่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรูปลักษณ์ดั้งเดิมมาสู่สีสันและลวดลายที่แปลกตาขึ้นเรื่อย ๆ (© Shutterstock)
ชามตราไก่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรูปลักษณ์ดั้งเดิมมาสู่สีสันและลวดลายที่แปลกตาขึ้นเรื่อย ๆ (© Shutterstock)

ทั้งนี้ระหว่างการเดินทางอย่าลืมใส่หน้ากาก ล้างมือ และป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด และสังเกตตราสัญลักษณ์ SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) อันเป็นโครงการความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่รับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้กับสถานบริการด้านการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในประสบการณ์ที่ปลอดภัยในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการนี้ได้ที่ thailandsha.tourismthailand.org

และหากต้องการอัปเดตสถานที่ท่องเที่ยวก่อนเดินทาง อย่าลืมให้เราเป็น “เพื่อนร่วมทาง” ไปกับคุณ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ TAT Call Center เบอร์ 1672 หรือ Facebook Fanpage: TAT Contact Center


ท่องเที่ยว

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ