สิ่งที่น่าสนใจ 5 minutes 04 พฤศจิกายน 2020

อาบฝนแปดแดดสี่ที่…ระนอง

ชิมอาหารเปอรานากัน ลิ้มรสการใช้ชีวิตริมหาด ณ เมืองระนอง

ระนอง จังหวัดเล็กๆบนด้ามขวานทองของประเทศไทย ที่อัดแน่นด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพย์ในดินสินในน้ำ มีอุทยานแห่งชาติทั้งบนผืนดินและแผ่นน้ำ ไม่ว่าจะขึ้นเหนือ (ภูเขา) หรือล่องใต้ (ทะเล) มีครบในจังหวัดเดียว ทำให้ระนองเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ใครที่เคยมาเยือนแล้วก็อยากมาซ้ำ ส่วนใครที่เคยมาแล้วก็ไปเล่าให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงฟัง ช่วยกระตุ้นให้อยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะดำน้ำในทะเลสวย พายเรือชมป่าชายเลน นั่งเล่นชมน้ำใสไหลเย็นริมน้ำตก หรือจะอาบน้ำแร่ในออนเซ็นแบบไทย ระนองล้วนแล้วแต่มีสเน่ห์มากมายให้ผู้มาเยือนได้เพลิดเพลินไม่หยุดหย่อน

เสน่ห์อันดามัน เลิศล้ำอาหารระนอง
ชื่อ ”ระนอง” นั้นเดิมทีเพี้ยนมาจากคำว่า แร่นอง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองนี้จะเต็มไปด้วยแร่ธาตุ โดยหนึ่งในแหล่งแร่ธาตุสำคัญของระนอง ก็คือบรรดาแร่ต่างๆ ที่อยู่ในน้ำพุร้อน ระนองจึงมีบ่อน้ำแร่ร้อนซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุชั้นดี ที่ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยบ่อน้ำร้อนยอดนิยมอันดับต้นๆ ของจังหวัดคือ บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน แหล่งน้ำแร่ร้อนเก่าแก่ที่ถูกค้นพบมาเป็นเวลานานแล้ว ที่นี่จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยอดนิยม และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในภาคใต้ มีทั้งบ่อน้ำแร่ร้อนไร้กลิ่นกำมะถันที่มีอุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียล สำหรับแช่เท้า แช่ตัว ส่วนเทคนิคการแช่น้ำร้อนที่ดีคือระวังอย่าแช่น้ำร้อนทีเดียวเป็นเวลานาน แต่ควรสลับขึ้นมาล้างน้ำเย็นด้วย โดยให้ขึ้น-ลงสลับกันราว 3 รอบ นอกจากนี้ บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวารินยังมีลานสุขภาพบำบัด ซึ่งเป็นพื้นปูนที่ร้อนตามธรรมชาติ จากกระแสน้ำแร่ร้อนไหลผ่านอยู่ใต้ดิน ทำให้ผู้คนนิยมมาเล่นโยคะร้อน หรือนอนให้เหงื่อซึมเพื่อเป็นกระตุ้นเลือดลมไหลเวียนที่ลานนี้อยู่เป็นประจำ

บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน
บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน

เนื่องจากระนองเป็นเมืองแห่งแร่ ดังนั้นอุตสาหกรรมที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของจังหวัด ย่อมหนีไม่พ้นการค้าแร่นั่นเอง โดยในอดีตนั้น ผู้ที่บุกเบิกทำกิจการค้าแร่ในระนองนั้นเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ต้นตระกูล ณ ระนอง ซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ในตำแหน่งจางวางเมืองระนอง ซึ่งเทียบเท่าเจ้าเมืองสมัยนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีการนำวัฒนธรรมจีนมาเผยแพร่ไปทั่วระนองด้วย ทั้งเรื่องของความเชื่อ ประเพณี และอาหาร ดังนั้นหากใครได้มาระนองแล้วละก็ คงจะได้ยินชื่อเมนูอาหารแปลกๆ อยู่หลายเมนู หนึ่งในนั้นก็คือ ยาวเย และ ซุนเปี๊ยะ เมนูอาหารที่เชื่อม 2 วัฒนธรรมอย่างมลายูและจีนฮกเกี้ยนเข้าไว้ด้วยกัน ที่เรียกว่า เปอรานากัน นั่นเอง

TAT_0435.jpg

ยาวเย อาหารพื้นเมืองเก่าแก่ของระนองซึ่งแปลงมาจากอาหารจีนฮกเกี้ยน ที่สืบทอดเป็นอาหารทานเล่นจวบจนปัจจุบัน ส่วนประกอบของ ยาวเย นั้นแตกต่างกันไปตามแต่สูตรของแต่ละคน เช่น บางร้านจะใม่ใส่ เนื้อสัตว์ ใส่แต่เต้าหูทอดกับไข่ต้ม แต่ไม่ว่าจะสูตรไหน ก็ล้วนจะมีผักที่ยืนพื้นเหมือนกันคือ ผักบุ้งซอยลวก ซึ่งบางร้านจะใส่ กุ้งลวกสุก ปลาหมึกลวกสุก ปลาท่องโก๋หั่นขวาง กุ้งแห้งชุบแป้งทอด ฯลฯ ไว้ด้วย จากนั้นนำไปราดด้วยน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ คลุกเคล้าให้เข้ากัน เหมาะกับกินเป็นของว่างรสชาติเปรี้ยวนิดเค็มหน่อย แต่อร่อยไม่แพ้อาหารถิ่นจากจังหวัดอื่น หากพิจารณาให้ดีแล้ว ยาวเย ยังถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่า เพราะประกอบไปด้วยอาหาร 5 หมู่ และยังมีรสชาติที่อร่อยจนนักท่องเที่ยวต่างพากันติดใจ เพราะได้ทั้งรสชาติจากอาหารทะเลสดใหม่ และกลิ่นอายวัฒนธรรมจีนอันมีสเน่ห์ รวมไว้ในคำเดียวกัน

TAT_0445.jpg

สำหรับอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนฮกเกี้ยนก็คือ ชุนเปี๊ยะ โดยเมนูนี้หากมองจากภายนอก จะมีลักษณะคล้ายกับหอยจ๊อ เนื่องจากชุนเปี๊ยะจะเป็นฟองเต้าหู้ห่อไส้เป็นชิ้นยาวๆ แล้วนำทอด โดยในสมัยโบราณจะใช้พังผืดหมูแทนฟองเต้าหู้ในการห่อตัวไส้ ส่วนผสมที่ใช้มีทั้งหมูสับ ตับหมู และเนื้อปู นำมานวดและตีให้เข้ากันจนเหนียว จากนั้นนำไปทอดให้กรอบนอกนุ่มใน ได้กลิ่นหอมกรุ่นรสชาติเข้าเนื้อ และเนื้อสัมผัสอร่อยอย่างลงตัว เมื่อทานคู่กับน้ำจิ้มหวานอมเปรี้ยวที่เสิร์ฟมาคู่กัน ยิ่งทำให้ชุนเปี๊ยะที่ดูหน้าตาดูธรรมดา มีมิติในรสชาติและรสสัมผัสที่กรอบนอกนุ่มใน หากใครต้องการรู้ว่าจะอร่อยและหอมขนาดไหน ต้องไม่พลาดที่จะแวะชิมเมื่อมีโอกาสไปเยือนระนอง จากทั้ง 2 เมนูที่ได้กล่าวมา หากสังเกตุจะเห็นว่าทั้งสองเมนูมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ กุ้ง ปู ปลาหมึก เพราะระนองนั้นเป็นจังหวัดที่ติดกับทะเลอันดามันที่สวยงาม ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

หากมาถึงระนองแล้วย่อมต้องแวะสัมผัสน้ำทะเล โดยแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ขึ้นชื่อและเป็นสวรรค์สำหรับคนรักทะเลก็คือ เกาะพยาม เกาะที่มีเสน่ห์แห่งหนึ่งในอันดามัน มีบรรยากาศสงบ ควบคู่กับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนชาวเลมอแกน ที่ได้ชื่อว่าเป็น ยิปซีทะเล ซึ่งทุกวันนี้ชาวเลมอแกนก็ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำ รวมถึงพานักท่องเที่ยวล่องเรือชมความงดงามในมุมต่างๆ ของเกาะ โดยเฉพาะ อ่าวใหญ่ ที่เป็นเหมือนจุดท่องเที่ยวหลักของเกาะ เพราะมีขนาดและพื้นที่ใหญ่สมชื่อ โดยเวิ้งอ่าวมีความยาวราว 4 กม. ในยามน้ำลดจะมองเห็นหาดทรายอันกว้างใหญ่ค่อยๆ ลาดเทลงสู่ทะเล นอกจากนี้ เม็ดทรายในอ่าวใหญ่ยังจัดว่ามีความละเอียดและให้สัมผัสที่นุ่มสบายเท้า โดยทรายที่อ่าวใหญ่นั้นเป็นทราย 2 สีผสมกัน คือสีเหลืองและสีเทา ยามน้ำลงจะมองเห็นเป็นริ้วๆ เหมือนถูกวาดระบายด้วยฝีแปรง คลื่นที่อ่าวใหญ่ค่อนข้างแรง จึงเหมาะแก่การเล่นกระดานโต้คลื่นเป็นอย่างมาก ส่วนหากใครต้องการความสงบ ก็สามารถปลีกตัวมาที่อ่าวต่างๆ เช่น อ่าวแม่หม้าย อ่าวกวางปีบ แหลมหิน และอ่าวมุก หรือหากต้องการเดินชมธรรมชาติก็สามารถมาที่อ่าวเขาควาย ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวโค้งยาวประมาณ 2 กม. มีมุมทั้งสองที่โค้งเข้ามาคล้ายเขาควาย มีที่พักให้บริการหลายแห่ง มีหาดทราย 2 สี คือช่วงหนึ่งเป็นสีขาวเนียน และอีกช่วงหนึ่งเป็นสีอมชมพู อันเกิดจากหอยทับทิมและเศษซากของที่ทับถมกันบริเวณชายหาดจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี หินทะลุ ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาหินลูกเล็กๆ ที่ตรงปลายถูกน้ำกัดเซาะเป็นช่องโพรง ทำให้เราสามารถเดินลอดผ่านไปมาได้ จึงเป็นอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวหลายคนนิยมถ่ายภาพ แและเนื่องจากอ่าวเขาควายตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีของเกาะเลยทีเดียว

เกาะพยาม
เกาะพยาม

และเมื่อมาเยือนที่เกาะพยามแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ขึ้นชื่อนอกเหนือจากความงามของทะเล ก็คือ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งชาวระนองเรียกกันว่า กาหยู และเนื่องจากกาหยูพันธุ์ของระนองนั้นมีรสชาติหวานกรอบอร่อย จึงทำให้ถูกเรียกว่า กาหยูหวาน โดยกาหยูนั้นยเป็นพืชเศรษฐกิจของระนอง สามารถนำมาคั่วและกะเทาะเปลือกออกให้เหลือเพียงเมล็ดภายในซึ่งกำลังสุกพอดี และนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด นอกจากนี้ กาหยูยังมีสรรพคุณทางยามากมาย ไม่ว่าจะช่วยให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง ลดไข้ แก้ไอ แม้แต่เรื่องของลำไส้ก็ช่วยได้ นับว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และอร่อยอีกด้วย อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ สำหรับชาวระนองแล้ว กาหยูนั้นจะไม่ได้ทานกันแค่เมล็ดอย่างปกติ เพราะชาวระนองยังทานยอดใบอีกด้วย ซึ่งเมนูที่นิยมทานกันก็คือ ยำยอดกาหยู หรือยำแบบโบราณที่ใช้ทั้งกาหยู กะปิ และกุ้งแห้ง เป็นการรวมสามของดีเมืองระนองไว้ด้วยกัน ทั้งยอดกาหยูที่มีรสฝาดกำลังดี พร้อมรสชาติจากกะปิและกุ้งแห้งช่วยความเค็มอย่างกลมกล่อม ตามด้วยความหอมหวานจากมะพร้าวคั่ว รสเปรี้ยวจากน้ำมะขามเปียก เรียกได้ว่าเป็นยำที่ครบรส นอกจากนี้ กะปิและกุ้งของระนองนั้นไม่แพ้จังหวัดไหน เพราะระนองนั้นเป็นแหล่งกุ้งและเคยชั้นดีของประเทศ จึงไม่แปลกที่กะปิกับกุ้งแห้งของระนองจะมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ทำให้กะปิและกุ้งแห้งเป็นของฝากที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของทุกคนที่มาเยี่ยมเยือน

TAT_0409.jpg

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงกะปิเมืองระนอง ย่อมต้องพูดถึงเมนู ปลาทูทอดกะปิ ที่นำปลาทูตัวใหญ่ไปทอดให้สุก ราดด้วยซอสกะปิ ที่ทำโดยการเอากระเทียมลงเจียวให้เหลืองกรอบ จากนั้นตั้งน้ำมันในกระทะต้องร้อนด้วยไฟอ่อนๆ ตามด้วยเอากะปิใส่น้ำสะอาดเล็กน้อยละลายเทลงไปและเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ ใส่น้ำตาลปี๊บลงไฟเคี่ยว ใส่พริกไทยดำบุบพอแตก หอมแดง ซอสหอยนางรม และรากผักชี คนให้เข้ากัน จนเหนียวข้นกำลังพอดี ไม่เข้มข้นหรือเหลวมากจนเกินไป จากนั้นจึงเอามาราดลงไปบนตัวปลาทูนึ่งที่ทอดเตรียมไว้แล้ว ตบท้ายด้วยการนำพริกชี้ฟ้าสีแดงและสีเขียวที่หั่นเฉียงไว้มาโรยให้สวยงามพอสมควร เป็นเมนูที่ครบรสและประโยชน์ เหมาะกับการทานพร้อมข้าวหอมมะลิไทยร้อนๆ

จังหวัดระนองอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 568 กิโลเมตร โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดระนองได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และทางเครื่องบิน สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ สามารถออกจากกรุงเทพฯ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือ ถนนธนบุรี-ปากท่อ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ไปจนถึงจังหวัดระนอง หรือหากจะใช้บริการรถประจำทาง ก็มีรถโดยสารปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ-ระนอง ที่ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง หรือหากใครอยากได้ความสะดวกสบายและความรวดเร็ว ก็ยังสามารถเดินทางไปยังระนองด้วยเครื่องบินได้ เพื่อสัมผัสหาดสวย อาหารสดอร่อย และวิถีชุมชนแบบเปอรานากันอันเป็นเสน่ห์ที่งดงามของระนองได้ง่ายๆ

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดระนอง
1. แช่น้ำร้อน ณ บ่อน้ำร้อนสวนสาธารณะรักษะวาริน
2. ชมพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ วัดวารีบรรพต
3. เกาะพยาม ชมวิถีชาวเลมอเกน
4. เที่ยวน้ำตกปุญญบาล
5. ชมวิวที่หาดชาญดำริ ไหว้เจ้าแม่กวนอิมกลางน้ำ
6. ชมพระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขารัตนรังสรรค์
7. อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ