สิ่งที่น่าสนใจ 6 minutes 25 ตุลาคม 2020

อร่อยเมืองไชโย แวะตลาดศาลเจ้าโรงทอง รำลึกถิ่นวีรชน เปิดตำรับบ้านระจัน

ออกต่างจังหวัดทั้งที แวะเยี่ยมสองจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียง แวะชิมอาหารโบราณพร้อมล่องเรือดูรังนักกระจาบ

อ่างทอง-สิงห์บุรี สองจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงที่หยัดยืนข้ามผ่านทุกหน้าประวัติศาสตร์มาด้วยกัน จนพันผูกวิถีชีวิตของผู้คนทั้งสองเมืองให้สนิทแน่น ใครจะไปเที่ยวสิงห์บุรีมักจะแวะเยี่ยมอ่างทอง เช่นเดียวกับคนที่นิยมไปไหว้พระที่อ่างทองก็มักจะเลยไปกราบหลวงพ่อที่สิงห์บุรี เช่นนี้แล้วมัดรวมทั้งสองเมืองมาไว้ในเส้นทางเดียวกันจึงเป็นความคิดที่ดี ทั้งนี้ หากใครได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายช่วงเสียกรุง น่าจะคุ้นหูชื่อเมืองวิเศษชัยชาญและชาวบางระจันเป็นอย่างดี แต่นอกจากจะได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์แล้ว หากใครได้มีโอกาสแวะไปอ่างทอง-สิงห์บุรี ควรหาโอกาสไปเปิดครัวในเมืองประวัติศาสตร์ทั้งสอง ที่มีสูตรลับเลิศรสถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของการเดินทางไปยังสองเมืองนั้น ก็สะดวกใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เพียงแค่ขับรถออกจากกรุงเทพฯ ไปบนถนนเอเชีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่กี่อึดใจก็จะถึงอ่างทองและสิงห์บุรีในที่สุด จะเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับก็ได้

วัดม่วง
วัดม่วง

พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก วิถีริมน้ำ ตำนานบ้านระจัน
เริ่มต้นจากอ่างทอง สิ่งแรกที่พลาดไม่ได้คือการแวะเข้าวัด เนื่องจากอ่างทองเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีวัดทุกมุมเมือง หากจะพูดถึงวัดที่ผู้คนนิยมไปกราบสักการะ หนึ่งในนั้นคงจะหนีไม่พ้นวัดม่วง ที่ อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 63.05 เมตร ความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดเกศาขนาด 95 เมตร เป็นอังพระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างถึง 16 ปี โดยความเชื่อมีอยู่ว่า ผู้ที่ได้มากราบไหว้และสัมผัสที่ปลายนิ้วของพระองค์ใหญ่ จะได้รับพรให้มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระอุโบสถ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกลีบบัวสีชมพูซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงวิหารแก้วซึ่งงดงามด้วยการะจกชิ้นเล็กๆ ตระการตา ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เนื้อเงินแท้ ส่วนชั้นล่างของวิหารเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าเยี่ยมชม ควรเช็คกับทางพิพิธภัณฑ์ก่อนไปถึง เนื่องจากพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ นั้นเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์เท่านั้น

หลังจากนั้นสักการะพระพุทธรูปและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แล้ว แวะหาของอร่อยที่ ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ตลาดเก่าแก่อายุนับร้อยปี ที่อำเภอวิเศษชัยชาญ ตลาดศาลเจ้าโรงทองนั้นเป็นตลาดโบราณเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำน้อยของจังหวัดอ่างทอง โดยมีคำเล่าลือกันว่าตลาดแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากชุมชนที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง ซึ่งหากนับอายุจริงๆ อาจแปลว่าตลาดแห่งนี้เก่าแก่ยิ่งกว่ากรุงเทพเสียอีก ตลาดศาลเจ้าโรงทองนั้นคลาคล่ำไปด้วยขนมหวาน ที่สาวกขนมไทยน่าจะชื่นชอบ โดยเฉพาะขนมโบราณชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม และสีสันละมุนชวนให้ลิ้มลอง พร้อมด้วยวิธีการทำที่แปลกจากขนมอื่นๆ ขนมชนิดนี้ก็คือ ขนมเกสรลำเจียก อันเป็นขนมพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง

TAT_0027.jpg

ขนมเกสรลำเจียกนั้นทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิเพียงหมาดๆ โดยอาศัยความชำนาญในการผสม เพราะตัวแป้งนั้นต้องไม่แฉะหรือแห้งจนเกินไป จากนั้นจึงนำแป้งไปร่อนผ่านตะแกรง ปล่อยให้ผงแป้งกระจายตัวลงบนกระทะร้อนๆ เป็นแผ่นบาง อันเป็นที่มาของชื่อเกสรลำเจียก เนื่องจากลักษณะของแป้งที่กระจายตัวบนกระทะนั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับละอองดอกเกสรลำเจียกนั่นเอง เมื่อผงแป้งโดนความร้อนได้ที่ จะเกาะตัวแล้วขอบจะยกตัวขึ้น จากนั้นวางไส้ที่ได้จากการใช้มะพร้าวขูดนำไปผัดกับน้ำตาล ผสมกับน้ำใบเตยจนสุกเหนียวนุ่ม เมื่อทิ้งให้เย็นแล้วจึงนำมาปั้นเป็นลักษณะคล้ายลูกรักบี้ ขั้นตอนสำคัญในการทำขนมชนิดนี้ คือการวางไส้ไปบนแป้งแล้วม้วนจนสุด หากม้วนไม่ดีแป้งก็จะแตกร่วนไม่เกาะไส้ ขนมเกสรลำเจียกควรรับประทานตอนร้อนๆ เนื้อแป้งจึงจะนุ่มลิ้น แทรกด้วยรสชาติหวานหอมกลิ่นใบเตยอ่อนๆ หากใครอยากทดลองทำหรือดูวิธีทำขนมชนิดนี้ ควรแวะไปตลาดตลาดศาลเจ้าโรงทองในช่วงเช้า เนื่องจากหลายร้านในตลาดจะมีการทำขนมกันสดๆ หรือใครอยากจะแค่ลองชิม ก็สามารถซื้อเป็นแพ็คมาทานได้สะดวก เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะพบขนมเกสรลำเจียกทำสดใหม่ รอให้ผู้ที่แวะไปเยี่ยมชมได้ลิ้มลอง

เนื่องจากอ่างทองเป็นเมืองริมน้ำ อาหารจานเด็ดหลายจานจึงนิยมทำมาจากปลาท้องถิ่น โดยหนึ่งในปลาที่ขึ้นชื่อและนิยมนำมารับประทานกันมากก็คือปลาเนื้ออ่อน ซึ่งหากใครมาถึงอ่างทองแล้วต้องห้ามพลาดฉู่ฉี่ปลาเนื้ออ่อนผัดกับผักบุ้ง ที่มีรสชาติจัดจ้านด้วยเครื่องแกงฉู่ฉี่ ผัดขลุกขลิกคลุกเคล้าให้เข้ากับปลาเนื้ออ่อนทอดกรอบ ได้รสสัมผัสกรุบกรอบทั้งตัว แนมกับผักบุ้งเพื่อสุขภาพ ซึ่งทั้งปลาเนื้ออ่อนและผักบุ้งนั้น ต่างก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชาวบ้านริมแม่น้ำอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา หรือการเด็ดผักบุ้งจากท่าน้ำ แล้วนำมาปรุงด้วยเครื่องแกงที่โขลกใหม่ๆ จนส่งกลิ่นหอมของน้ำมันระเหยที่ซ่อนอยู่ในข่า ตะไคร้ และผิวมะกรูด ได้เสน่ห์ของเครื่องแกงไทยอย่างแท้จริง

หลังลิ้มลองเมนูที่ปรุงด้วยวัตถุดิบจากแม่น้ำ กิจกรรมที่เหมาะสมย่อมเป็นการนั่งเรือชมความงามของสองฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ของอำเภอวิเศษชัยชาญ ภายใต้แนวคิด ‘ล่องเรือ แม่น้ำน้อย ตามรอยรังนกกระจาบ’ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไหว้พระทางน้ำ ผ่านเส้นทางธรรมชาติของนกกระจาบ ซึ่งพบได้ตลอดเส้นทางของการล่องเรือเปรียบดังตัวแทนจากธรรมชาติที่มาคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือน การล่องเรือนั้นเริ่มต้นที่ท่าน้ำของเทศบาลตำบลบางจัก จากนั้นจึงล่องเรือขึ้นไปทางเหนือของแม่น้ำน้อย มีจุดหลักๆ ได้แก่การไหว้พระและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของอำเภอวิเศษชัยชาญ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ได้แก่ วัดสี่ร้อย และวัดไทรยืด เป็นต้น ตามด้วยไฮไลท์ของการนั่งเรือท่องเที่ยวแม่น้ำน้อย ซึ่งก็คือการตามรอย "รังนกกระจาบ" เนื่องจากตลอดสายน้ำแห่งนี้ จะพบรังของนกกระจาบเรียงรายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนกกระจาบได้มาทำรังในแม่น้ำน้อยแห่งนี้มาเป็นเวลานานโดยที่ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ปล่อยให้นกกระจาบทำรังอยู่บนต้นไม้แบบนี้มาตลอด โดยไม่ได้เอารังของนกกระจาบไปขายแต่อย่างใด จึงกลายมาเป็นเสน่ห์ดึงดูดสายตาของผู้มาเยือน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการล่องเรือชมรังนะกระจาบ คือช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน

วัดสี่ร้อย
วัดสี่ร้อย

ออกจากจังหวัดอ่างทอง เมืองไชโย มุงหน้าไปยังสิงห์บุรี ถิ่นวีรชน สถานที่แรกที่ควรแวะไปย้อมหนีไม่พ้น อนุสาวรีย์วีระชนค่ายบางระจัน ซึ่งปัจจุบันนี้ นอกจากนักท่องเที่ยวจะมาเคารพเหล่าบรรดาวีรชนคนบางระจันที่ช่วยกันปกป้องบ้านเมืองจากข้าศึกแล้ว อีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจคือ ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยตัวตลาดนั้นเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นตลาดที่มีการจำลองบรรยากาศในสมัยนักรบบางระจัน ทำให้บรรยากาศนั้นมีกลิ่นอายของความเป็นสนามรบ มีการสร้างรั้วรอบขอบชิดพร้อมป้อมปราการไม้จำลองเป็นฉากให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป อีกทั้งภายในตลาด เหล่าพ่อค้าแม่ขายเองก็ล้วนแล้วแต่แต่งตัวย้อนยุค และสนทนากันด้วยภาษาสมัยอยุธยา พร้อมทั้งจัดซุ้มขายของดังตลาดในอดีต ที่มีอาหารและขนมสูตรโบราณหารับประทานกันยาก โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ต้มปลาร้าหัวตาล

อนุสาวรีย์วีระชนค่ายบางระจัน
อนุสาวรีย์วีระชนค่ายบางระจัน

ต้มปลาร้าหัวตาลนั้นถือว่าเป็นอาหารโบราณที่แท้จริง โดยหลังจากส่วนที่หวานของลูกตาลโตนดได้ถูกนำไปทานแล้ว ส่วนหัวตาลจะถูกนำมาแกงกับน้ำปลาร้าและปลาย่างเครื่องแกงสมุนไพรทั้งหลาย ให้รสชาติออกเค็ม เผ็ด เปรี้ยวเล็กน้อย เนื่องจากสิงห์บุรีนั้นเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งมีต้นตาลจำนวนมาก เมนูนี้จึงเป็นเมนูโบราณที่ได้ถูกจารึกไว้ในบันทึกเหตุการณ์รับเสด็จล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จฯ ประพาสหัวเมืองสิงห์บุรี ในบันทึกเหตุการณ์ ได้มีการจัดต้มปลาร้าหัวตาลเป็นเครื่องเสวย อันเป็นที่ทรงโปรดปรานของพระองค์มาก สำหรับเมนูนี้ วัตถุดิบหลักในการปรุงคือ หัวตาลอ่อน ซึ่งจะนำมาแกงกับกะทิ ผสมด้วยพริกแกง ยกรสชาติด้วยน้ำปลาร้าอย่างดี และตัดรสด้วยน้ำตาลปึก ทำให้รสชาติของต้มปลาร้าหัวตาลนี้กลมกล่อม หอมยวลใจนักชิมต่างถิ่นและต่างแดน เมื่อมาถึงตลาดนี้ ย่อมพลาดไม่ได้กับเมนูโบราณที่นับวันจะหาทานยากขึ้นทุกวันอย่างเมนูนี้

ต้มปลาร้าหัวตาล
ต้มปลาร้าหัวตาล
TAT_0164.jpg

นอกจากเมนูโบราณอย่าง ต้มปลาร้าหัวตาล หากเอ่ยชื่อสิงห์บุรีแล้ว ทุกคนย่อมต้องนึกถึงปลา โดยเฉพาะเมนูปลาขึ้นชื่ออย่าง ปลาแม่ลาเผา ปลาแม่ลานั้นแท้จริงแล้วคือชื่อที่ใช้เรียกปลาที่ได้จากลำน้ำแม่ลา ไม่ใช่ปลาที่มีชื่อพันธุ์แม่ลาแต่อย่างใด โดยลำน้ำแม่ลานั้นเป็นชื่อของแหล่งน้ำสำคัญ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภออินทร์บุรี มีเมนูขึ้นคือ ‘ปลาช่อนแม่ลาเผา สะเดาฟาดไฟ’ เนื่องจากลำน้ำแม่ลานั้นเป็นแหล่งน้ำที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก ปลาช่อนที่นี่จึงมีความพิเศษไม่เหมือนปลาช่อนที่อื่น สังเกตุได้จากส่วนครีบที่หูซึ่งมีสีชมพู นอกจากนั้น ยังมีริ้วสีชมพูแทรกอยู่ระหว่างเนื้อสีขาวของตัวปลาด้วย ปลาช่อนแม่ลาจะมีเนื้อที่แน่นแต่ไม่แข็ง แทรกด้วยรสหวานตามธรรมชาติจากเนื้อปลา ส่วนวิธีทำคือนำปลาช่อนมาย่างไฟอ่อนๆ ให้สุกจนเกล็ดและหนังเกรียมดำ บางสูตรอาจะนำปลาไปอบต่อกับกาบมะพร้าว เพื่อให้เนื้อปลานุ่มแน่นสีขาวฟูนั้นร่อนออกจากหนังโดยง่าย นอกจากนั้นยังทำให้เนื้อปลามีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของกาบมะพร้าวเผา ช่วยชูรสชาติให้เนื้อปลาหอมยิ่งขึ้น วิธีทานปลาเผานี้ คือทานคู่กับน้ำจิ้มรสจัดจ้านหรือทานคู่กับน้ำปลาหวาน แนมกับยอดสะเดาที่นำไปเผาแบบสะดุ้งไฟ เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ช่วยชูรสชาติความสดใหม่ของวัตถุดิบท้องถิ่นได้อย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยเสน่ห์

หลังจากลิ้มลองอาหารและชมเมือง แวะเจริญสติที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร หรือ วัดพระนอนจักรสีห์ ซึ่งมีเรื่องเล่าขานกันว่าวัดโบราณแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยภายในตัววิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ปางโปรดอสุรินทราหู ขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความอ่อนช้อยงดงาม นับว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรี ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไทย ต่างก็ล้วนแล้วแต่เคารพนับถือกันมาก ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จึงมีผู้คนมากราบสักการะกันอยู่ตลอด ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ ต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติที่ยังผลิดอกบานสะพรั่งให้ชมอยู่เสมอ นับว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะได้ชมต้นสาละในพุทธประวัติ

อ่างทองและสิงห์บุรี สองจังหวัดใกล้เคียงที่เที่ยวได้ครบทุกรสและประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้จิตใจผ่องใส ท่องเที่ยวชมธรรมชาติ รวมถึงการลองอาหารพื้นถิ่นที่อร่อยและสดใหม่ มีเอกลักษณ์แตกต่างเฉพาะถิ่น เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ต้องห้ามพลาด

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเส้นทางอ่างทอง-สุรินทร์
1. สักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ณ วัดม่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ
2. เดินเที่ยวตลาดศาลเจ้าโรงทอง ชมตลาดเก่าไทยเชื้อสายจีน ชิมขนมไทยนานาชนิด
3. ล่องเรือ แม่น้ำน้อย ตามรอยรังนกกระจาบ (ติดต่อเทศบาลตำบลบางจัก โทร 08-4540-8351)
4. วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร พร้อมตลาดต้องชม ภายในเขตวัด
5. สักการะอนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน
6. เที่ยวตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน ค่ายบางระจัน ชิมของกินพื้นบ้าน

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ