บทสัมภาษณ์ 4 minutes 25 กุมภาพันธ์ 2019

มาทำความรู้จักกับ “มิชลิน ไกด์” ให้มากขึ้น – ถามตอบกับคุณ Gaëlle Van Hieu

มันไม่ง่ายเลยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องสวมบทบาทคุณแม่ ผู้จัดการเชฟ ซึ่งเป็นวงการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ พร้อมกับดูแลหน่วยงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคู่มือแนะนำร้านอาหารที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ

คุณ Gaëlle มาในมาดสวยเก๋เป็นธรรมชาติแบบชาวปารีส พร้อมลิปสติกสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ และรองเท้า Espadrilles คอลเลคชั่นล่าสุด วันนี้เธอจะมาเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์บ้าง เรามาดูกันว่าบทบาทของเธอใน “มิชลิน ไกด์” มีอะไรบ้าง

“มิชลิน ไกด์:” คุณมาจากประเทศอะไรคะ แล้วต้องทำอะไรบ้างในฐานะรองประธานกรรมการของหน่วยงานจัดทำ “มิชลิน ไกด์” ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณ Gaëlle: ก่อนมาทำงานในประเทศไทย ฉันทำงานในกลุ่มบริษัทมิชลิน ประเทศฝรั่งเศสค่ะ ฉันย้ายจากปารีสมากรุงเทพฯเมื่อปี 2560 เพื่อช่วยเปิดตัว “มิชลิน ไกด์” ฉบับปฐมฤกษ์

นอกจาก “มิชลิน ไกด์” แล้ว ฉันยังมาช่วยก่อตั้งบริษัท Michelin Experiences ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลการจัดงาน การตลาด การสื่อสาร และการขายที่เกี่ยวข้องกับตัวคู่มือ รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

“มิชลิน ไกด์:” คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมิชลินในฐานะยางรถยนต์ พอจะบอกได้หรือไม่ว่า ยางรถยนต์เกี่ยวข้องกับคู่มือร้านอาหารอย่างไร
คุณ Gaëlle: จริง ๆ แล้ว “มิชลิน ไกด์” เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทมิชลินตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้ง คู่มือเล่มนี้ถือเป็นวิสัยทัศน์ของพี่น้องตระกูลมิชลินที่อยากให้คนขับรถมีเพื่อนร่วมทาง

ในช่วงแรก “มิชลิน ไกด์” เป็นแผนที่ระบุตำแหน่งสถานีบริการน้ำมัน ที่พัก และอู่ซ่อมรถ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนเริ่มอยากรู้ว่าจะหาร้านอาหารทานระหว่างทางได้ที่ไหนบ้าง “มิชลิน ไกด์” จึงพัฒนาจากการเป็นแผนที่มาสู่การเป็นคู่มือแนะนำร้านอาหาร

“มิชลิน ไกด์” และยางรถยนต์มิชลินเกี่ยวพันกันตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
“มิชลิน ไกด์” และยางรถยนต์มิชลินเกี่ยวพันกันตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

“มิชลิน ไกด์:” วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของ “มิชลิน ไกด์” ฉบับประจำประเทศไทยคืออะไรคะ
คุณ Gaëlle
: เช่นเดียวกับ “มิชลิน ไกด์” ในประเทศอื่น ๆ เราอยากนำเสนออาหารท้องถิ่น และสิ่งที่น่าสนใจในวงการอาหารและเครื่องดื่ม

เราหวังว่า การประกาศผลรางวัลมิชลินทุกปีจะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายด้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว และนั่นจะนำไปสู่วิวัฒนาการของเชฟชาวไทย ไปจนถึงแหล่งปลูกวัตถุดิบ เราพร้อมสนับสนุนและผลักดันระบบนิเวศน์ด้านอาหาร เครื่องดื่ม และการโรงแรม

“มิชลิน ไกด์:” ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทานอาหารร้านรางวัลดาวมิชลินได้ คุณคิดว่า “มิชลิน ไกด์” เป็นคู่มือสำหรับคนรวยเท่านั้นหรือไม่
คุณ Gaëlle: ไม่จริงค่ะ คู่มือของเรานำเสนอร้านอาหารทุกระดับ คนมักคิดว่า “มิชลิน ไกด์” มีแต่ร้านอาหารหรู ๆ เพราะสื่อมักให้ความสนใจร้านที่ได้รับรางวัลดาวมิชลิน แต่โดยมากแล้ว ร้านพวกนั้นมีเพียงแค่ประมาณ 20% ของร้านทั้งหมดที่ “มิชลิน ไกด์” แต่ละประเทศแนะนำ

เราอยากให้ “มิชลิน ไกด์” นำเสนอประสบการณ์ที่คนทุกระดับสัมผัสได้ สำหรับฉบับประเทศไทย คุณจะเห็นว่าเรามีตั้งแต่ร้าน fine dining ไปจนถึง street food

แน่นอนว่า พวกเราและเหล่าเชฟให้ความสำคัญกับรางวัลดาวมิชลิน เพราะมันเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงคุณภาพอันยอดเยี่ยม และเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่เราก็ยังมีร้านรางวัลบิบ กูร์มองด์และมิชลิน เพลทด้วย

รางวัลบิบ กูร์มองด์เป็นรางวัลมอบให้ร้านที่อาหารอร่อยและขายในราคาสมเหตุสมผล เกณฑ์ของเราคือ คุณสามารถทานอาหาร 4 จานได้ในราคาที่ต่ำกว่า 1,000 บาท

ส่วนร้านรางวัลมิชลิน เพลทคือร้านที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ปรุงอย่างพิถีพิถัน แต่ราคาเกินเกณฑ์รางวัลบิบ กูร์มองด์หรือคุณภาพยังไม่ถึงระดับดาวมิชลิน


“มิชลิน ไกด์:” ทีมของคุณมีผู้ตรวจสอบมิชลินกี่คนคะ
คุณ Gaëlle: ผู้ตรวจสอบมิชลินไม่ได้ขึ้นกับฉันค่ะ พวกเขาเป็นทีมอิสระ ถ้าตามผังองค์กร พวกเขาอยู่ภายใต้ทีมของคุณ Gwendal Poullennec ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” นานาชาติ ซึ่งถือเป็นคนละองค์กรกันค่ะ แม้จะอยู่ภายใต้แบรนด์มิชลินเหมือนกัน ฉันรู้ผลรางวัลพร้อม ๆ กับคนอื่นเลยค่ะ

คุณ Gwendal Poullennec ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” นานาชาติระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อในงานประกาศผลรางวัล “มิชลิน ไกด์” ประจำปีพ.ศ.2562
คุณ Gwendal Poullennec ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” นานาชาติระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อในงานประกาศผลรางวัล “มิชลิน ไกด์” ประจำปีพ.ศ.2562

“มิชลิน ไกด์:” คุณมีส่วนร่วมตัดสินหรือไม่ว่าร้านไหนจะได้รางวัลดาวมิชลิน
คุณ Gaëlle
: ไม่เลยค่ะ ฉันไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกและให้รางวัลร้านแต่อย่างใด ทีมผู้ตรวจสอบมิชลินเป็นทีมที่แยกออกไปต่างหาก เราให้อิสระพวกเขาอย่างเต็มที่ในการทำงาน ผู้ตรวจสอบมิชลินจะเป็นคนเลือกร้านกันเอง และทำงานอย่างอิสระ ฉันไม่เคยรู้เลยว่าพวกเขาจะเลือกหรือไปตรวจสอบร้านไหนบ้าง


“มิชลิน ไกด์:” ร้านอาหารสามารถจ่ายเงินเพื่อแลกดาว หรือเพื่อให้ “มิชลิน ไกด์” ช่วยโปรโมตร้านได้หรือไม่คะ
คุณ Gaëlle: ไม่ได้ค่ะ หนึ่งในข้อกำหนดของ “มิชลิน ไกด์” คือเราจะไม่คิดเงินกับทางร้านแต่อย่างใด เราจะไม่เรียกเก็บเงินจากร้านที่ทีมผู้ตรวจสอบเลือกมา การเลือกร้านของผู้ตรวจสอบจะทำตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และอย่างที่บอกไป ทีมนี้ไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานที่ต้องสร้างผลกำไรแต่อย่างใด


“มิชลิน ไกด์:” ในฐานะรองประธานกรรมการ คุณได้สิทธิพิเศษอย่างทานอาหารฟรีบ้างหรือไม่คะ
คุณ Gaëlle
: ไม่ได้อะไรพิเศษเลยค่ะ และนี่เป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นกลางของ “มิชลิน ไกด์” และจริยธรรมของกลุ่มบริษัทมิชลิน ฉันสามารถเข้าร่วมงานต่าง ๆ และไปทานอาหารได้ แต่ในฐานะลูกค้าเท่านั้น ไม่ใช่ในฐานะผู้ตรวจสอบ

“มิชลิน ไกด์:” เรามีบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนมากมาย ผู้สนับสนุนของ “มิชลิน ไกด์” มีอิทธิพลต่อการเลือกร้านที่บรรจุในคู่มือหรือไม่คะ
คุณ Gaëlle: ไม่ค่ะ อย่างที่ย้ำไปแล้วว่ากระบวนการเลือกร้านทำโดยทีมที่เป็นอิสระ มีบริษัทมากมายที่ต้องการเป็นพันธมิตรกับมิชลิน แต่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกร้านอาหารแต่อย่างใด

ผู้สนับสนุนของเราจะมีส่วนร่วมในการจัดงานด้านอาหาร และกิจกรรมทางการตลาดที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายด้านอาหารสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

แขกคนสำคัญในงานประกาศผลรางวัล “มิชลิน ไกด์” ประจำปีพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา
แขกคนสำคัญในงานประกาศผลรางวัล “มิชลิน ไกด์” ประจำปีพ.ศ.2562 ที่ผ่านมา

“มิชลิน ไกด์:” ผู้สนับสนุนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างคะ
คุณ Gaëlle
: การรับรู้แบรนด์ที่เกิดจากการประกาศผลเป็นประจำทุกปี และจากงานต่าง ๆ ระหว่างปีค่ะ การประกาศผลทุกปีได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะสื่อในประเทศ ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้สนับสนุน เพราะพวกเขาจะได้ประโยชน์จากการตลาด การสื่อสาร และงานต่าง ๆ ที่เราจัดทำขึ้น ซึ่งรวมไปถึงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย

ทุกวันนี้ ผู้คนเดินทางกันมากขึ้น ดังนั้น การมีตัวตนอยู่ในเมืองหรือประเทศที่ “มิชลิน ไกด์” ไปถึงจะช่วยเปิดประสบการณ์แบรนด์ของคุณให้คนทั่วโลกเข้าถึง

“มิชลิน ไกด์:” คุณคิดว่าสิ่งที่ “มิชลิน ไกด์” ประเทศไทยจะสืบทอดต่อไปคืออะไรคะ
คุณ Gaëlle: ฉันว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงมรดกหรือการสืบทอด เพราะ “มิชลิน ไกด์” เพิ่งเข้ามาประเทศไทยได้ไม่นานนัก แต่เราหวังว่าการมาถึงของคู่มือเล่มนี้จะช่วยผลักดันให้เชฟชาวไทยพัฒนาฝีมือ อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานวงการอาหารประเทศไทยในอนาคต

สำหรับผู้บริโภค ฉันหวังว่าเมื่อพวกเขาเห็นสิ่งที่เราคัดสรรแล้ว พวกเขาจะมองหาประสบการณ์การทานอาหารที่ดีขึ้นหรือที่สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยคิดจะทำมาก่อนเลยก็ได้

“มิชลิน ไกด์:” อาหารไทยที่คุณชอบที่สุด 3 จาน
คุณ Gaëlle: ฉันชอบหมูกรอบที่สุดค่ะ รองลงมาคือโจ๊กใส่ขิง และจานล่าสุดที่ฉันชอบคือไข่เจียวปู ร้านเจ๊ไฝ แต่คิวยาวมาก ฉันเลยไปทานไม่ได้บ่อยเท่าที่อยาก

“มิชลิน ไกด์:” คุณต้องพูดว่าอะไรถ้าได้ทานอาหารดี ๆ
คุณ Gaëlle
: อร่อย!

บทสัมภาษณ์

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ