สิ่งที่น่าสนใจ 3 minutes 01 มิถุนายน 2021

ร้านอาหารในภูเก็ตเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างไร

1 กรกฎาคม 2564 นี้ ไข่มุกอันดามันพร้อมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

ตลอดปีที่ผ่านมามีเรื่องราวมากมายบอกเล่าถึงความยากลำบากที่ร้านอาหารรวมถึงธุรกิจการโรงแรมและการบริการต้องประสบเนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 แต่พวกเขาก็ยังคงสู้ต่อ ทั้งยังสานต่อสิ่งที่พวกเขารักด้วยการทำอาหารมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือมากมาย รวมไปถึงความสร้างสรรค์ในการคิดหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงคนรักอาหารในยามที่ยากลำบาก

แล้วร้านอาหารในสถานที่ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นเลือดหล่อเลี้ยงล่ะ?

เกาะภูเก็ต ไข่มุกแห่งอันดามันอันเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่วโลก เม็ดเงินที่หมุนเวียนเข้ามานั้นเปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงของผู้คนบนเกาะที่ต่างพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งนับเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ แต่เมื่อการเดินทางลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ก็ส่งผลให้ตัวเลขของนักเดินทางลดลงอย่างน่าใจหาย

ชายหาดของภูเก็ตยามค่ำคืนช่างเงียบเหงา เช่นเดียวกับโรงแรม ร้านอาหาร บาร์ และร้านสะดวกซื้อ พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นที่รกร้าง จากเดิมที่เต็มไปด้วยสีสันและเสียงดนตรี EDM ที่ดังกึกก้องไปทั่วท้องถนนเรียกความสนุกคึกคักให้แก่นักท่องเที่ยวผู้หนีหนาวมาพึ่งพาแสงแดดจัดจ้าของไทย รวมทั้งร้านค้าหลากหลายประเภทที่มีบริการให้แก่นักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ขณะนี้กลับเหลือเพียงเสียงคลื่นและเสียงรถผ่านไปมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

แล้วธุรกิจท่องเที่ยวของที่นี่ปรับตัวกันอย่างไร?

เกาะสวาทหาดสวรรค์ และถนนถลางของภูเก็ต (© Surasaki / Shutterstock.com)
เกาะสวาทหาดสวรรค์ และถนนถลางของภูเก็ต (© Surasaki / Shutterstock.com)

เชฟจิมมี โอฟอสต์ (Jimmy Ophorst) แห่งร้าน PRU (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน และรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2564) ร้านที่ซ่อนตัวอยู่ในเนินเขาอันเป็นที่ตั้งของตรีสรา รีสอร์ท ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เขาเป็นคนหนึ่งที่ต้องปรับตัว โดย PRU นำพืชผักสวนครัวจากสวนผักปลูกเองของทางโรงแรมและร่วมงานกับผู้ผลิตท้องถิ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ นำผลผลิตมาทำอาหารสไตล์ยุโรปควบคู่ไปกับเทคนิคชูรสชาติวัตถุดิบ เช่นเดียวกับเมนูของเขาที่ระบุถึงวัตถุดิบและแหล่งที่มา

แม้หลายคนอาจมองว่าร้านอาหารเช่น PRU อาจกลายเป็นเหยื่อของพิษโรคระบาดที่นอกจากคร่าชีวิตคนแล้วยังพรากภาคธุรกิจบริการไปมากพอกัน เนื่องด้วยคอนเซปต์ที่เป็นอาหารไฟน์ไดนิ่งในโรงแรมห้าดาวสุดหรู (ทั้งยังอยู่ไกลจากตัวเมืองภูเก็ตราว ๆ หนึ่งชั่วโมง) แต่พวกเขากลับอยู่ได้

เช่นเดียวกับร้านอาหารจำนวนมาก PRU เริ่มทำบริการอาหารสั่งกลับบ้านในช่วงล็อกดาวน์ด้วยตะกร้าอาหาร “PRU at Home” ซึ่งเชฟจิมมีบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างร้านและเกษตรกร ซัปพลายเออร์ คู่ค้า ไปจนถึงผู้ผลิตจานชาม คนกลุ่มนี้ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อตอนเข้าหน้ามะม่วงออกผลปีก่อนเราต้องปิดร้าน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรต้องเสียเปล่า”


เชฟจิมมี โอฟอสต์กับอาหารเพื่อความยั่งยืนในแบบของเขา (© PRU)
เชฟจิมมี โอฟอสต์กับอาหารเพื่อความยั่งยืนในแบบของเขา (© PRU)

เมื่อร้านอาหารเปิดได้อีกครั้ง พวกเขาก็พบว่าต้องหันมาเรียกลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ จากเดิมที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ซึ่งหายไปพร้อมกับจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงเหลือหยิบมือ

แต่กระนั้นเที่ยวบินในประเทศยังคงดำเนินต่อ ชนชั้นกลางชาวไทยที่มักเดินทางออกนอกประเทศเพื่อพักผ่อนเริ่มหันมาเดินทางในประเทศกันมากขึ้น “ร้านของเราเต็มเกือบทุกวัน” เชฟชาวดัตช์บอกกับเราพร้อมเผยว่า PRU มีข้อได้เปรียบ “ผมว่าเราอยู่ในจุดที่ได้เปรียบจากการได้ดาวมิชลิน และหลายคนมาเยือนภูเก็ตเพียงเพื่อจะมารับประทานอาหารที่นี่”

ยิ่งไปกว่านั้นภูเก็ตยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในประเทศมายาวนาน ส่งผลให้แม้การเดินทางระหว่างประเทศยังคงจำกัด แต่ด้วยโปรโมชันและการตลาดที่เน้นกิจกรรมภายในประเทศก็ทำให้ผู้คนเดินทางภายในประเทศกันมากขึ้น แม้จะแทนที่เม็ดเงินจากนอกประเทศไม่ได้แต่ก็ทำให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยยังคงอยู่รอด

เชฟจิมมีมองว่ามากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของแขกที่มาใช้บริการขณะนี้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และเพื่อตอบรับความต้องการของคนกลุ่มนี้ ร้านอาหารจึงเปิดบริการ 4 วันต่อสัปดาห์ จากเดิม 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งช่วยให้เขาและทีมงานได้มุ่งไปที่การให้บริการแก่คนกลุ่มนี้ที่มาพักผ่อนสุดสัปดาห์กันที่ภูเก็ตโดยเฉพาะ

หาดกะตะน้อย (© Shutterstock)
หาดกะตะน้อย (© Shutterstock)

เชฟยังสังเกตเห็นอีกว่าเสียงตอบรับของแขกที่มาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “กลุ่มคนไทยที่มาที่นี่มองหาประสบการณ์ที่ต่างออกไป” เขาบอกกับเราว่าแขกชาวไทยโดยมากตั้งใจมาเพื่อจับจ่ายให้แก่มื้ออาหารที่น่าจดจำมากกว่าชาวยุโรป นอกจากนั้นในแง่การตลาดก็ยังสามารถต่อยอดไปได้ด้วยตัวเองอีกด้วย “แขกที่มาจะบอกต่อกันปากต่อปากในกลุ่มเพื่อน และแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยเรียกลูกค้าใหม่ ๆ มาได้เรื่อย ๆ” เรื่องนี้สวนทางกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แม้จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่คงไม่ง่ายที่เพื่อน ๆ หรือครอบครัวของพวกเขาจะยอมข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพียงเพื่ออาหารสักมื้อ

แต่ความหวังอยู่ไม่ไกล เมื่อรัฐบาลไทยเร่งสร้างโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์เพื่อเปิดประตูภูเก็ตดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ โดยเร่งฉีดวัคซีนให้แก่คนในจังหวัดครั้งใหญ่ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวผู้โหยหาแสงแดดและสายลมของอันดามันจะกลับมาเยือน PRU ได้เหมือนดังเช่นก่อนการเกิดโรคระบาดหรือไม่ หรือเทรนด์การท่องเที่ยวจะเบนเข็มเปลี่ยนทิศไปจากเหตุ COVID-19 และนักท่องเที่ยวท้องถิ่นชาวไทยจะมองหาสถานที่ยอดฮิตใหม่ ๆ ไปพักพิงนอกจากภูเก็ตหรือเปล่า

แต่ที่แน่ ๆ มีสองสิ่งที่คงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือทีมงานของ PRU ที่ยึดมั่นในปรัชญาการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นคุณภาพดี และการมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารที่เอื้อแก่ความยั่งยืนให้ผู้ที่มาเยือนไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ซึ่งเชื่อว่าเกาะภูเก็ตจะยังคงหาทิศทางในการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์กันต่อไป และธุรกิจจำนวนมากก็จะสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

แล้วในที่สุดภาพของภูเก็ตทั้งแสง สี ดนตรีจังหวะชวนโยก ชาวยุโรปผู้โหยหาแสงแดดอันอบอุ่นริมท้องทะเล และชาวเอเชียผู้เล็งหามุมถ่ายรูปที่เจ๋งที่สุดโพสต์ลงอินสตาแกรมจนเป็นวิวที่ชินตาก็จะทยอยกลับมา เช่นเดียวกับทั่วทุกมุมของไข่มุกอันดามันที่จะเต็มไปด้วยผู้คน และอาหาร เครื่องดื่มแสนอร่อยที่พร้อมเสิร์ฟให้แก่พวกเขาอีกครั้ง


สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ