สิ่งที่น่าสนใจ 5 minutes 17 สิงหาคม 2020

ท่องแดนไทยถิ่นของอร่อย เที่ยวชุมชนวิถีคนตราด อาหารถูกปากสงาดนัก

กินข้าวเกรียบ ละเลียดตังเมกรอบ เที่ยวรอบหมู่บ้าน ณ เมืองตราด

เมืองสวยรวยศิลปะ ทิวทัศน์งามพร้อม อีกทั้งของกินเลิศรส ตราดจึงเป็นจังหวัดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ ธรรมชาติ และของอร่อย แต่หากเอ่ยคำว่าจังหวัดตราดแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะนึกถึง “เกาะช้าง” เป็นอันดับต้นๆ แต่แท้จริงแล้ว จังหวัดตราดนั้นไม่ได้น่าดึงดูดเพียงแแค่เกาะช้างที่เดียว เพราะ ตัวเมืองตราดนั้นก็มีเสน่ห์น่าเที่ยวไม่แพ้กัน ด้วยภูมิประเทศที่มีทั้งภูเขา ป่าไม้ และทะเล จังหวัดตราดจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารนานาชนิดจากทะเล แม่น้ำ และการเกษตรกรรม นอกจากนี้แล้ว ในอดีตจังหวัดตราดเป็นเส้นทางสำคัญในการการค้าทางเรือสำเภา ด้วยเหตุนี้ตราดจึงเป็นเมืองที่มีการผสมผสานอารยธรรมของชาวไทย ชาวมอญ ชาวจีน และชาวมุสลิม ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทำให้ตราดเต็มไปด้วยชุมชนน้อยใหญ่ที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นอย่างชัดเจน จนสะท้อนออกมาอย่างโดดเด่นในเมนูอาหารพื้นบ้านที่หลากหลาย ตราดจึงเปรียบเหมือนสวรรค์ของเหล่าบรรดานักชิมทั่วทุกสารทิศ

เกาะช้าง
เกาะช้าง

หากพูดถึงผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองตราดแล้ว แน่นอนว่า ระกำ เป็นผลไม้ที่ต้องห้ามพลาดที่จะลิ้มลอง ด้วยรสชาติความหวานหอมที่แตกต่างไม่เหมือนใคร จนทำให้มีการจัดงาน เทศกาลระกำหวาน ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยผลระกำนั้นนอกจากจะทานสดๆ ได้แล้ว ยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบอาหารได้อีกด้วย ซึ่งเมนูที่พลาดไม่ได้เลยเมื่อไปเยือนจังหวัดตราดก็คือ ต้มส้มระกำ โดยนำระกำที่มีรสหวานอมเปรี้ยวมาใช้แทนมะขามเปียกในการปรุง ทำให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่ไม่เหมือนต้มส้มทั่วไป ยิ่งเมื่อเพิ่มเนื้อไก่ หรือเนื้อปลาสดลงไปเคี่ยวกับน้ำต้มส้มให้เข้าเนื้อ พร้อมเติมกะปิเกาะช้างไปเพิ่มอีกนิดเพื่อความหอม ประกอบกับน้ำซุปที่เคี่ยวกับข่าอ่อนและหอมแดงสด ทำให้ต้มส้มระกำมีรสชาติเฉพาะที่อร่อยลงตัวด้วยรสเปรี้ยวนำและหวานตาม ทั้งนี้ ระกำเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณช่วยลดการกระหายน้ำ ชุ่มคอ และแก้ไอได้เป็นอย่างดี ทำให้เมนูนี้นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย

สำหรับผู้ที่ต้องการทานระกำสด สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไปที่ตลาดเทศบาลเมืองตราด แต่หากมีเวลา อาจลองแวะไปที่สวนระกำ ณ อำเภอเขาสมิงและอำเภอบ่อไร่ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกระกำที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้แล้ว ใครที่ไม่คุ้นชินกับรสชาติจัดจ้านของระกำสด ก็ยังสามาถเลือกสละพันธ์สุมาลี ซึ่งเป็นของดีจังหวัดตราดแทน เพราะเป็นสละที่ให้รสชาติหอมหวาน สำหรับสละพันธุ์สุมาลีนั้นต้องยกให้สวนสมโภชน์ สวนผลไม้ที่บรรจงปลูกสละแบบเน้นคุณภาพ ทั้งยังเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (กรุณาติดต่อล่วงหน้า) นอกจากนี้ เจ้าของสวนยังใจดีพาเดินชมสวนพร้อมอธิบายวิธีการผสมเกสรให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญ สละพันธุ์สุมาลีทุกช่อของที่นี่ จะรุบุวันเกิดไว้หมดว่าผสมเกสรวันไหน และจะต้องนับไปอีก 8 เดือนจึงจะตัดไปทาน แม้ขาดไปเพียงวันเดียว ทางสวนก็ไม่มีทางตัดขายเป็นอันขาด เพราะเหตุนี้สละที่สวนสมโภชน์จึงอร่อยและหอมหวานเหมือนกันทุกลูก

ต้มส้มระกำ
ต้มส้มระกำ

เมื่อแนะนำอาหารคาวแล้วก็มาถึงของหวาน ขนมจ้างโบราณ หรือที่คนตราดแท้ๆ เรียกกันว่า ขนมด่าง เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียมผสม น้ำด่าง หรือน้ำที่ได้มาจากการผสมขี้เถ้าโกงกางนั่นเอง ซึ่งเมื่อข้าวเหนียวทำปฏิกิริยากับน้ำด่าง ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลตามภูมิปัญญาโบราณของชาวตราด จากนั้นนำไปห่อด้วยใบไผ่ มัดด้วยเชือกให้แน่น แล้วจึงนำไปต้มจนเนื้อสุกเหลืองสวย นิยมทานคู่กับน้ำตาลอ้อย หรือราดน้ำเชื่อมทานกับน้ำแข็งคลายร้อน ขนมจ้างนี้เป็นของหวานที่นิยมรับประทานกันมากในจังหวัดตราด โดยจากวิธีการทำจะเห็นได้ว่ามีการใช้น้ำด่างซึ่งได้มาจากขี้เถ้าของต้นโกงกาง เพราะที่ตราดนั้นมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิด

เมื่อพูดถึงต้นโกงกางและป่าชายเลนแล้ว ชุมชนที่เหมาะกับการสัมผัสธรรมชาติของป่าชายเลนก็คือ ชุมชนบ้านท่าระแนะ ชาวบ้านจะพาเรานั่งเรือชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน ที่มีทั้งป่าโกงกางธรรมชาติ ป่าจาก และป่าตะบูน โดยไฮไลท์ของการเที่ยวบ้านท่าระแนะก็คือ การได้เข้าไปดูความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่าง ลานตะบูน ลานกว้างที่มีรากไม้แผ่ขยายเลื้อยเป็นวงกว้างอยู่บนหน้าดินขนาดหลายไร่ สร้างความแปลกตาท้าทายนักท่องเที่ยวให้เข้าไปสัมผัส นอกจากนี้แล้ว ชาวบ้านในชุมชนยังสร้างกิจกรรมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ หอยพอก (สัตว์น้ำประจำถิ่น) ผ่านกิจกรรมปลูกหอยพอก โดยมีวิธีการคือนำหอยไปฝังดินเพื่อให้หอยสามารถขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ

0289.jpg

หลังจากปลูกหอยพอกเสร็จ อย่าลืมเก็บใบโกงกาง เลือกใบเล็กที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป โดยเลือกจากยอดใบหูคู่แรก เพื่อมาทำเมนู ใบโกงกางชุบแป้งทอด ซึ่งวิธีทำนั้นก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่นำไปล้างทำความสะอาดแล้วทิ้งไว้ให้แห้งสักครู่ กรีดเอาแกนกลางใบออก และตัดเป็นชิ้นพอดีคำ ระหว่างรอ ผสมแป้งทอดกรอบให้ได้ที่ จากนั้นจึงตั้งเตาใส่น้ำมันในกะทะให้ร้อน แล้วชุบใบโกงกางลงในแป้งแล้วทอดให้เหลือง จะได้ใบโกงกางชุบแป้งทอดที่กรอบอร่อยไม่ต่างจากเมนูเทมปุระอื่นๆ จะทานเปล่าๆ หรือทานคู่กับน้ำจิ้มไก่ก็อร่อยไปอีกแบบ นอกจากจะอร่อยแล้ว ใบโกงกางยังมีสรรพคุณรักษาแผลในกระเพาอาหารอีกด้วย ทานใบโกงกางแล้ว ก็อย่าลืมดื่มชาร้อยรู ชาสมุนไพรที่มีเฉพาะที่ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่า “จิบชาร้อยรู อยู่ได้ร้อยปี”

หลังจากชิมอาหารกันและเที่ยวชุมชนเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมแล้ว อีกที่หนึ่งที่ทั้งสวยงามและน่าสนใจเห็นทีจะไม่พ้น พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด โดยอาคารที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยาจากสมัยรัชกาลที่ 6 ที่อนุรักษ์ไว้ มีความสวยงามอย่างที่หาไม่ได้ในสมัยนี้ ตัวสถาปัตยกรรมประกอบกับทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทำให้เหมาะกับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางจังหวัดตราดจึงได้ปรับปรุงที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวตราด โดยได้กรมศิลปากรมาเป็นผู้ออกแบบ ประกอบด้วยโซนสำคัญภายในอาคาร ได้แก่ โซนจัดแสดงเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งนำเสนอในรูปแบบห้องเรือรบ ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ในอดีตได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดของประเทศไทย เพียงการเยี่ยมชมที่นี่ไม่กี่นาที จะช่วยให้ทราบถึงรากเหง้าของชาวตราดได้อย่างลึกซึ้ง

พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด
พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด

นอกจากชุมชนบ้านท่าระแนะ และพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด อีกหนึ่งชุมชนที่น่าไปเยือนคือ ชุมชน 2 ศาสนา (ไทยพุทธและไทยอิสลาม) หรือ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ชุมชนตัวอย่างที่ยังคงวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งเอาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน เดิมทีประชากรของตำบลน้ำเชี่ยว เป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธ ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนล่องเรือสำเภามาค้าขายสินค้าที่ท่าเรือบ้านน้ำเชี่ยว และตั้งรกรากอยู่ที่นั้น ทำให้ชาวน้ำเชี่ยวส่วนหนึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีชาวมุสลิมซึ่งเรียกตัวเองว่า แขกจาม หรือ จำปา ซึ่งอพยพหนีสงครามมาจากประเทศเขมร ก่อนจะมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ริมคลองน้ำเชี่ยวและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่ชาวพุทธและชาวมุสลิมต่างก็สามารถแต่งงานข้ามศาสนาได้ ทำให้พี่น้องทั้งสองศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกันในตำบลน้ำเชี่ยวด้วยความสัมพันธ์อันดีตลอดมา

ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว
ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว

ที่มาของชื่อชุมชนน้ำเชี่ยวนั้นมาจากภูมิศาสตร์ของชุมชน ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ นั้นอยู่ติดทะเลและมีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ตัวชุมชนมีคลองขนาดใหญ่ไหลผ่านกลางหมู่บ้านลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยคลองนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เขาวังปลาระหว่างอำเภอแหลมงอบและอำเภอเมืองตราด เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในคลองจะไหลเชี่ยวมาก ชาวบ้านจึงเรียกคลองนั้นว่า คลองน้ำเชี่ยว ทั้งนี้ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ การทำตังเมกรอบ หรือที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่า ขนมน้ำตาลชัก ซึ่งเป็นขนมหวานที่มีแหล่งผลิตดั้งเดิมอยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยว ตัวขนมมีรูปร่างคล้ายแท่งไม้แห้งสีน้ำตาลอ่อน เป็นขนมหวานสำหรับทานเล่น มีรสชาติหวานมัน กรอบอร่อย เนื่องจากใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สด สะอาด จึงทำให้ตังเมกรอบเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนที่ได้ลองลิ้มรสทั้งสิ้น

ชุมชนรักษ์คลองบางพระ
ชุมชนรักษ์คลองบางพระ

อีกหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนที่ไม่ควรพลาดคือ สะพานวัดใจ ด้วยความสูง 6 เมตร ยาว 22 เมตร เงาสะพานที่ทอดบนพื้นน้ำ ก่อให้เกิดเป็นรูปดวงตาที่สวยงามแปลกตา นอกเหนือจากสพานวัดใจและชุมชนป่าชายเลนแล้ว ตราดยังมีออีกหนึ่งชุมชนที่น่าสนใจสำหรับช่างภาพและศิลปิน โดย ชุมชนรักษ์คลองบางพระ นั้นเหมาะแก่การสะพายกล้องไปหามุมสวยๆ เพื่อถ่ายภาพ เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อัดแน่นไปด้วยเสน่ห์อย่างล้นเหลือจนได้รับการขนานนามว่าเชียงคานตะวันออก โดยบ้านเรือนและร้านรวงที่สวยงามในชุมชนนี้เกิดจากความร่วมมือกันอย่างแข็งขันของชาวบ้าน ที่ช่วยกันรังสรรค์ให้เหล่าพื้นที่อาคารบ้านเรือนไม้ดั้งเดิมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ และโฮสเทลเก๋ๆ รวมไปถึงงานสตรีทอาร์ตบนกำแพง ที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักจากการเที่ยวทะเลหรือเที่ยวเกาะ มาท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดวิถีชีวิตชาวบ้านในตัวเมืองตราดแทนบ้าง

หลังจากแวะถ่ายภาพเก็บความประทับใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลองแวะชิมขนมขึ้นชื่ออย่าง ข้าวเกรียบอ่อนน้ำจิ้มกุ้ง ประกอบด้วยข้าวเกรียบอ่อนคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน ราดลงบนปากหม้อที่ตั้งน้ำเดือด แล้วขึงด้วยผ้าขาวบาง เมื่อแป้งสุกได้ที่แล้วจึงตักขึ้นโดยไม่ใส่ไส้ ซึ่งความอร่อยของข้าวเกรียบอ่อนนี้อยู่ที่น้ำจิ้มนั่นเอง ด้วยเป็นน้ำจิ้มรสชาติแปลกอร่อยที่รวมความเปรี้ยว หวาน เผ็ด เข้าด้วยกันแบบกำลังพอดี ตัวน้ำจิ้มประกอบด้วยพริก กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล มะนาว และกุ้งแห้งตำละเอียด ให้รสชาติจัดจ้านถึงใจ เมื่อทานคู่กับแป้งข้าวเกรียบอ่อนที่มีความหอมหวานจึงถือเป็นคู่ที่แตกต่างแต่ลงตัว นอกจากนี้ ทางร้านยังมีให้บริการข้าวเกรียบแบบมีไส้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการทานแบบข้าวเกรียบปากหม้อ ซึ่งไม่ว่าจะมีหรือไม่มีไส้ก็ต่างอร่อยในแบบของตัวเอง

ข้าวเกรียบอ่อนน้ำจิ้มกุ้ง
ข้าวเกรียบอ่อนน้ำจิ้มกุ้ง

การเที่ยวจังหวัดตราดและชุมชนรอบๆ ตัวเมืองนั้น จะทำให้ผู้มาเยือนอิ่มท้องและอิ่มใจจากอาหารพื้นถิ่นและประสบการณ์ที่ได้รับ นับเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่าตราดไม่ได้น่าเที่ยวแค่บนเกาะ เพราะตัวจังหวัดตราดนั้นยังมีเสน่ห์ที่ซุกซ่อนรอให้ค้นพบอีกมากมาย

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวเมืองตราด
1. ชุมชนบ้านท่าระแนะ
2. ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว
3. ชุมชนรักษ์คลองบางพระ
4. หาดทรายดำ และจุดเช็คอินที่สุดแผ่นดินตะวันออก ณ ประภาคารแหลมงอบ
5. สวนสละสมโภชน์

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ