สิ่งที่น่าสนใจ 5 minutes 14 กรกฎาคม 2020

แซ่บนัวของกิน ถิ่นช้างเมืองสุรินทร์

เมืองสุรินทร์ ถิ่นคชสาร ละลานตาไหมยกทอง ของกินเลิศรส

สุรินทร์ หรือถิ่นคชสาร เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคอีสานตอนใต้ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งชาวเขมร ไทย กูย จีน และชาวญวน ถึงแม้จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง หากแต่ผู้คนในสุรินทร์กลับอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยแต่ละชนชาติก็สืบทอดเอกลักษณ์และประเพณีที่สวยงามน่าชื่นชมในแบบของตัวเอง นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องช้างแล้ว สุรินท์ยังเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน รวมถึงปราสาทหินต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นมรดกสำคัญของชาติ

แม้จังหวัดสุรินทร์จะประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่ม แต่กลุ่มชนหลักที่มีความสำคัญก่อให้เกิดรากเง้าทางวัฒนธรรม ที่สืบทอดมาแต่ละยุคจวบจนปัจจุบัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชาวสุรินทร์ ก็คือกลุ่มไทยเขมร กลุ่มไทยกูย และกลุ่มไทยลาว ซึ่งวัฒนธรรมอาหารถิ่นของจังหวัดสุรินทร์เองก็ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มชนชาติดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ หนึ่งในอาหารถิ่นที่หารับประทานได้เฉพาะในสุรินทร์ ก็คือ ซันลอเจก ซึ่งมาจากคำภาษาเขมร แปลว่าแกงกล้วย โดย ซันลอ นั้นแปลว่า แกง ส่วน เจก แปลว่า กล้วย ในอดีต การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ไม่สะดวก อาหารการกินจึงล้วนปรุงขึ้นมาจากสิ่งที่หาได้จากเรือกสวน ไร่นา โดยเฉพาะต้นกล้วยนั้นก็เป็นต้นไม้ที่ปลูกกันทุกบ้านเรือน และเมื่อมีการรวมตัวของผู้คนในพิธีสำคัญๆ เช่น งานศพ ซันลอเจกจึงเป็นอาหารหลักในการต้อนรับแขก

ซันลอเจก
ซันลอเจก

ทั้งนี้ ยังมีความเชื่อที่ว่า ซันลอเจก เป็นสัญลักษณ์ของการตัดเยื่อใยหรือความห่วงหาระหว่างผู้ที่เสียชีวิตกับญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้ไปสู่ความสงบสุขที่แท้จริง การทำซันลอเจกนั้น จะเริ่มจากการโขลกพริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม และเกลือรวมกันให้ละเอียดเป็นพริกแกง และมีหัวใจหลักของแกง คือ กล้วยดิบที่ปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ นำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำเกลือ เพื่อไม่ให้กล้วยที่ปอกแล้วกลายเป็นสีดำ จากนั้นจึงนำหัวกะทิเคี่ยวให้แตกมัน ใส่พริกแกงลงผัดให้หอมเติมหางกะทิ รอให้เดือดแล้วใส่ไก่ลงไปผัด พร้อมเติมน้ำกะทิที่เหลือ เมื่อเดือดแล้วจึงใส่กล้วย และปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลาร้า ใส่ใบมะกรูด ใบแมงลัก ใบชะอม แล้วยกลงเสิร์ฟ โดยเมนูนี้มีเอกลักษณ์อยู่ที่สีสันรสชาติที่เผ็ดจัดจ้านและมีความหอม มัน และกลมกล่อมด้วยเครื่องปรุง

สลอตราวหรือแกงเผือก
สลอตราวหรือแกงเผือก

อีกหนึ่งเมนูที่ได้รับอิทธิพลจากเขมรก็คือ สลอตราว หรือแกงเผือก ซึ่งเป็นเมนูที่นิยมทำในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว
หากเป็นสลอตราวสูตรพื้นบ้านจะใส่เผือกและปูนาเนื่องจากปูนาจะมีมากในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเปลี่ยนเป็นใส่ปลาช่อน หรือกบแทนได้ เมนูนี้มีทั้งแบบใส่กะทิและไม่ใส่กะทิ โดยเน้นรสเปรี้ยวจากน้ำมะขามเปียกซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของแกง เคล็ดลับในการปรุงสลอตราวคือ รสชาติที่ชัดเจนของสมุนไพรหลายชนิด และกลิ่นหอมที่ได้จากใบอีออม หรือผักแขยง ชาวเขมรและชาวกูยบางกลุ่ม นิยมปรุงสลอตราวให้มีรสชาติอ่อนลงเพื่อรับประทานเปล่า ๆ เนื่องจากมีเผือกต้มสุกเป็นส่วนผสมที่ใช้แทนข้าวได้ สลอตราวเป็นอาหารจานเด็ดที่ไม่ควรพลาด หารับประทานที่ไหนไม่ได้นอกจากเมืองสุรินทร์เท่านั้น

ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้าง
ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้าง

ว่ากันว่าหากมาสุรินทร์แล้วไม่ได้ไปดูช้าง ก็เหมือนว่ามาไม่ถึง ดังนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่แนะนำเมื่อมาถึงถิ่นช้างไทย ก็คือ ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้าง ณ บ้านตากลาง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนชาวกูยที่มีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวกูยเป็นชนชาติที่มีหน้าที่เลี้ยงช้าง และจัดส่งให้กับกองทัพไทยเพื่อใช้ในสนามรบ แต่ปัจจุบันนี้ ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้างที่บ้านตากลางเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของชุมชนกูย แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ในการใช้ชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องกับช้าง เช่น การฝึกช้าง การแสดงช้าง และประเพณีการบวชนาคช้าง ซึ่งจะเห็นถึงความผูกพันระหว่างคนกับช้างในพิธีการที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ที่ช้างไม่ได้เป็นเพียงสัตว์เลี้ยง หากแต่เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว

ศูนย์คชศึกษาแห่งนี้จึงเป็นสถานที่สืบทอดวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างตามแบบฉบับชาวกูย มีการแสดงความสามารถ ความเฉลียวฉลาดและความน่ารักของเหล่าช้าง อาทิ การเต้นรำ วาดรูป ปาเป้าลูกโป่ง เตะฟุตบอล ฯลฯ โดยจะเปิดให้เข้าชมการแสดงทุกวัน วันละ 2 รอบ ในช่วงเวลา 10.30 น. และ 14.30 น. ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

TAT_0279.jpg

 นอกจากอาหารประเภทแกงแล้ว อาหารประเภทปิ้งย่างที่เป็นอาหารพื้นบ้านของสุรินทร์ก็คือ อังแก๊บบ๊อบ หรือกบย่าง ที่บางคนบอกว่ามีรสชาติคล้ายไส้อั่วผสมกับห่อหมก เพราะมีความเผ็ดร้อนจากพริก หัวหอม ข่า กระชาย ใบมะกรูดและใบกะเพรา แต่หากท่านที่ไม่รับประทานเนื้อกบ ก็มีอีกหนึ่งเมนูที่เป็นภูมิปัญญาในการทำอาหารของชาวสุรินทร์ นั่นก็คือ
อันซอมจรุ๊ก ที่เป็นข้าวเหนียวผสมถั่วลิสงมี มีไส้เป็นหมูติดมันหรือไส้กล้วย ห่อด้วยใบมะพร้าว มีลักษณะเป็นท่อนยาวๆ หน้าตาคล้ายข้าวต้มมัด แล้วนำไปต้มหรือนึ่งจนสุก รสชาติหอมมันคล้ายบ๊ะจ่าง ทำให้รับประทานได้อย่างเพลิดเพลิน เป็นขนมที่มักทำรับประทานกันในงานบุญต่างๆ และช่วงเทศกาลงานประเพณี อาทิ วันเข้าพรรษา งานบวช งานแต่งงาน รวมถึงงานรวมญาติต่างๆ ที่ทุกคนจะมาช่วยกันทำอันซอมจรุ๊ก สร้างความสนุกสนานกันในครอบครัว

ทุกมื้อหลักของอาหารจะไม่สมบูรณ์เลย ถ้าปราศจากขนมหวานอย่าง ขนมโกรจ เป็นขนมพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ที่มีความคล้ายคลึงกับขนมไข่หงส์และไข่เต่าของทางภาคกลาง มีรสชาติหวานหอม ข้างในมี 2 ไส้ ได้แก่ ไส้ถั่วเหลือง และไส้มะพร้าว ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวจ้าว และผงฟู ผสมน้ำแล้วนวดให้เข้ากัน แล้วพักไว้ การทำไส้หวานนั้นใช้น้ำตาลปี๊ป น้ำเปล่า และมะพร้าวทึนทึกหรือถั่วเหลืองมากวนในกระทะ ที่ใช้ไฟอ่อนจนเริ่มแห้งพอที่จะนำมาปั้นไส้ได้ นำแป้งมาหุ้มไส้ให้มิดนำไปทอดด้วยน้ำมันพืชจนเหลืองกรอบ รสชาติหวานหอมของมะพร้าวและน้ำตาล เข้ากันได้ดีกับแป้งทอดกรอบใหม่ๆ

ผ้าไหมยกทอง บ้านท่าสว่าง
ผ้าไหมยกทอง บ้านท่าสว่าง

นอกเหนือจากอาหารแล้ว อารยธรรมของเขมรยังปรากฏให้เห็นชัดเจนในรูปแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างของปราสาทศีขรภูมิ ในอำเภอศีขรภูมิ ซึ่งตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายและอิฐ มีโครงสร้างที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับศิลปะแบบบาปวนและนครวัด

สำหรับท่านที่ชื่นชอบเกี่ยวกับผ้า มาที่จังหวัดสุรินทร์แล้วจะไม่ทำให้ผิดหวังเลยทีเดียว ที่บ้านจันทร์โสมา หมู่บ้านท่าสว่าง เป็นแหล่งทอผ้าไหมที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับ จังหวัดสุรินทร์มีชื่อเสียงเรื่องการทอผ้าไหมที่ยอดเยี่ยมที่สุดมาตั้งแต่อดีต และชื่อเสียงของบ้านจันทร์โสมาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าเป็นอาชีพ เนื่องจากการทอผ้าไหมยกทองที่บ้านจันทร์โสมานั้นมีความสวยงามและทรงคุณค่ามาก จนได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้ทอผ้าไหมยกทองแบบโบราณ เพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อและผ้าคลุมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักในนามหมู่บ้านทอผ้าเอเปคนับแต่นั้นมา ในปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งตลาดต้องชม ที่เป็นแหล่งรวมงานผ้าไหมสวยๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะชมและเลือกซื้อ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยไว้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั้งยังเป็นการช่วยชาวบ้านให้มีรายได้อีกด้วย

รูปปราสาทศีขรภูมิ
รูปปราสาทศีขรภูมิ

ถ้าต้องการรู้ถึงวิถีชีวิตของชุมชนต้องไปเดินเที่ยวตลาด เพราะตลาดเป็นตัวสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์จึงเป็นสถานที่ที่ต้องไปเยี่ยมชมให้ได้ ตัวตลาดตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำลำห้วย หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ปราสาท นอกจากจะเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้แล้ว ที่นี่ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่จะพาทุกคนเลาะเลี้ยวไปตามริมฝั่งลำน้ำห้วยเสนง แหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนในเมืองสุรินทร์มายาวนาน ตลาดน้ำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 18.00 น.

สุรินทร์ เมืองที่งดงามและมีเสน่ห์ด้วยประเพณีโบราณ อาหารเลิศรส เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงและเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมนิลที่ลือชื่อ รวมถึงฝีมือทอผ้าไหมยกทองที่งดงามล้ำค่าที่สุดของประเทศ สุรินทร์นั้นสามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ หรือนั่งเครื่องบินมาลงที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ แล้วจึงต่อรถมาที่ตัวจังหวัด แม้จะเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญ หากแต่ยังคงรักษาความสงบ สวยงาม และสะอาดตาไว้ได้อย่างน่าชม

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์
1. งานประเพณีขึ้นเขาสวาย บริเวณวนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมือง
2. ตลาดน้ำราชมงคลสุรินทร์ ชิมอาหาร เลือกซื้อสินค้าหลากหลาย ชื่นชมกับวิถีชีวิตท้องถิ่น
3. อุทยานหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์
4. ชมการทอผ้าไหมยกทอง บ้านท่าสว่าง (กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา)
5. ชมปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศรีขรภูมิ
6. ชิมกาละแมขึ้นชื่อของอำเภอศีขรภูมิ ที่ร้านกาละแมตราปราสาทเดียว
7. เยี่ยมชมศูนย์คชศึกษาและหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ชมการแสดงของช้าง แวะเยี่ยมสุสานช้าง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) : www.tatcontactcenter.com/en/Main หรือสายด่วน ททท. โทร. 1672

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ