สิ่งที่น่าสนใจ 5 minutes 21 มิถุนายน 2023

7 อาหารไทยภาคตะวันออกจานเด็ดห้ามพลาด แนะนำโดยเชฟจากร้านอาหารในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’

อาหารไทยภาคตะวันออกเป็นแบบไหน…คุณรู้หรือเปล่า?

เมื่อถามว่าภาคตะวันออกของไทยมีอะไรที่เด่นดังบ้าง หลายคนอาจยังนึกไม่ค่อยออกหากเทียบกับ 4 ภูมิภาคหลักอย่างภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ รวมถึงภาคอีสาน แต่จริง ๆ แล้วภูมิภาคที่ดูเหมือนจะนอกสายตาอย่างภาคตะวันออกนั้นไม่แพ้ภาคไหนเลยในเรื่องความสวยงามของธรรมชาติทั้งภูเขาและท้องทะเล อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมถิ่นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกิน อยากรู้หรือเปล่าว่าอาหารภาคตะวันออกนั้นมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากอาหารไทยภาคอื่น ๆ อย่างไร และมีจานไหนที่เป็นจานเด็ดห้ามพลาด

‘มิชลิน ไกด์’ ขอให้เชฟผู้ยืนหนึ่งในเรื่องอาหารภาคตะวันออกอย่างเชฟแอ๊ค-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ ชาวจังหวัดตราดโดยกำเนิด ผู้มุ่งมั่นจริงจังกับการทำร้านอาหารเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของภาคตะวันออกอย่างศรีตราด และบูรพา ซึ่งได้รับรางวัลบิบ กูร์มองด์ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2566 ด้วยกันทั้งสองร้าน มาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ผู้จะนำเราไปเที่ยวชิมอาหารภาคตะวันออกกันอย่างรู้ลึกรู้จริง

“จริง ๆ แล้วภาคตะวันออกมีอยู่ด้วยกัน 8 จังหวัด แต่เมื่อพูดถึง ‘อาหารภาคตะวันออก’ แล้วจะมีอยู่เพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งอาหารมีความคล้ายคลึงกันด้วยบริบทของภูมิประเทศที่ด้านหน้าติดทะเลและด้านหลังติดภูเขา เพราะฉะนั้นอาหารของภาคตะวันออกจึงเล่าเรื่องของคนภายในท้องถิ่นนี้ ซึ่งรู้จักใช้สินทรัพย์ของเราที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ได้แก่ การนำของทะเลและของป่า รวมถึงวัตถุดิบอีกอย่างหนึ่งที่มีอยู่มากในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด นั่นคือผลไม้ มาประกอบอาหารด้วยเช่นกัน

เชฟแอ๊ค-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ เจ้าของร้านศรีตราด และบูรพา ตัวจริงยืนหนึ่งในเรื่องอาหารภาคตะวันออก (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา / MICHELIN Guide Thailand)
เชฟแอ๊ค-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ เจ้าของร้านศรีตราด และบูรพา ตัวจริงยืนหนึ่งในเรื่องอาหารภาคตะวันออก (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา / MICHELIN Guide Thailand)

“ส่วนเมื่อพูดถึงรสชาติ สมดุลรสชาติของอาหารภาคตะวันออกจะอยู่ระหว่างภาคกลางและภาคใต้ คือไม่กลมกล่อมเท่ากับอาหารภาคกลางที่ได้รับอิทธิพลจากการทำอาหารชาววังให้เจ้านาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เค็มเผ็ดหรอยแรงเท่ากับอาหารปักษ์ใต้ ถ้าจะพูดกันจริง ๆ แล้วชัยภูมิของเราอยู่ติดทะเลคล้ายกับทางภาคใต้ ทำให้ใช้ดอกเกลือสมุทรเยอะ แต่อาหารของเราจะใช้ของป่าและผลไม้ค่อนข้างมากกว่า เราหยิบจับสมุนไพรแปลก ๆ ในภูเขามาใช้เยอะ ใช้น้ำตาลไม่ขัดสี รสชาติเลยออกมากลม ๆ แต่ก็จัดจ้านครบรสในอีกแบบ”


“แกงหมูชะมวง” นำใบชะมวงที่มีรสเปรี้ยวและมีมากในภาคตะวันออกมาปรุงเพิ่มมิติรสชาติ (© ศรีตราด, Shutterstock)
“แกงหมูชะมวง” นำใบชะมวงที่มีรสเปรี้ยวและมีมากในภาคตะวันออกมาปรุงเพิ่มมิติรสชาติ (© ศรีตราด, Shutterstock)

7 จานเด็ดที่เชฟแอ๊คอยากให้ลอง

แกงหมูชะมวง
อาหารถิ่นจากภูมิปัญญา นำใบชะมวงซึ่งมีรสเปรี้ยวและมีอยู่มากในบริเวณภาคตะวันออกมาตัดรสเผ็ดและหวานของแกง เชฟแอ๊คบอกว่าโดยมากแล้วแกงหมูชะมวงมักมีรสอมหวาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างกันในเรื่องรสชาติและสูตรของแต่ละบ้านแต่ละครอบครัวอีกด้วย การใส่ใบชะมวงที่มีรสเปรี้ยวนั้นเป็นสูตรอร่อยที่จะช่วยให้แกงชนิดนี้มีมิติลึกล้ำของรสชาติมากขึ้น และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 รวมถึงแร่ธาตุทั้งแคลเซียม เหล็กและฟอสฟอรัส เมื่อกินพร้อมเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงร่วมกัน ร่างกายจะสามารถนำสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากใบชะมวงแล้ว ลูกชะมวงที่มีรสเปรี้ยวก็ยังนำมาปรุงอาหารได้เช่นกัน

“ข้าวคลุกพริกเกลือ” จานเด็ดแห่งภูมิปัญญาที่แสดงถึงความเป็นภาคตะวันออกที่ห้ามพลาดโดยแท้ (© ศรีตราด)
“ข้าวคลุกพริกเกลือ” จานเด็ดแห่งภูมิปัญญาที่แสดงถึงความเป็นภาคตะวันออกที่ห้ามพลาดโดยแท้ (© ศรีตราด)

ข้าวคลุกพริกเกลือ
คนไทยในยุคหลัง ๆ อย่างเราคุ้นเคยกับการกินอาหารทะเลกับน้ำจิ้มซีฟูด แต่รู้หรือไม่ว่าน้ำจิ้มดังกล่าวเป็นสูตรน้ำจิ้มที่พัฒนาขึ้นมาทีหลัง ซึ่งจริง ๆ แล้วเกิดจากน้ำจิ้มที่นำพริก เกลือ น้ำปลา และน้ำมะนาวมาผสมกันโดยใส่กระเทียมเพิ่มอีกนิดหน่อย สมัยก่อนข้าวคลุกพริกเกลือเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวประมง ซึ่งมักนำน้ำจิ้มที่ปรุงง่ายนี้พกติดตัวไว้ยามออกทะเลหาปลา และเนื่องจากบนเรือไม่สามารถจุดไฟได้ เมื่อจับอาหารทะเลได้ก็จะนำมาสะดุ้งกับน้ำส้มหมักให้สุกคล้ายกับเซบีเช (Ceviche) แล้วคลุกกับน้ำจิ้มพริกเกลือที่เตรียมไว้ แค่อาหารทะเลสด ๆ กินกับข้าวคลุกพริกเกลือก็เป็นอาหารที่อร่อยง่าย ๆ ได้อย่างวิเศษแล้ว นับเป็นอาหารจานเด็ดแห่งภูมิปัญญาที่แสดงถึงความเป็นภาคตะวันออกที่ห้ามพลาดโดยแท้

“ต้มหน่อกระวาน” (© ศรีตราด)
“ต้มหน่อกระวาน” (© ศรีตราด)

ต้มหน่อกระวาน
ต้มหน่อกระวานเป็นอาหารที่เลือกใช้เนื้อขาวอย่างเนื้อไก่หรือเนื้อปลามาปรุงก็ได้ เคยมีการบันทึกถึงหน่อกระวานเอาไว้ในการเสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นพืชสมุนไพรเป็นปล้องต้นยาวที่มีอยู่ทั่วไปในถิ่นภาคตะวันออก ให้รสซ่าเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ไก่ต้มกระวานดั้งเดิมมักใช้ไก่บ้านเนื้อแน่นมาต้มปรุงร่วมกับพริก ตะไคร้ หอมแดง น้ำมะนาว ฯลฯ เป็นซุปใสที่ต้องการมันจากหนังไก่หรือหนังปลา ไม่ตำพริกแต่ตีให้แตกเพื่อให้ได้กลิ่นหอมและไม่ให้เผ็ดร้อนจนเกินไป มีพระเอกคือกลิ่นหอมซ่าของหน่อกระวานเป็นตัวชูโรง ออกรสเปรี้ยว เค็ม และเผ็ดตามเล็กน้อย เป็นซุปสมุนไพรหอมกรุ่นซดอร่อยคล่องคอและมีประโยชน์ต่อร่างกาย


“แกงลูกกล้วย” และเมนูที่พัฒนาต่อยอดมาจากฐานคิดเดียวกันอย่าง “ข้าวมัน แกงพริกเนื้อซี่โครงวัว” ของร้านบูรพา (© ศรีตราด & บูรพา)
“แกงลูกกล้วย” และเมนูที่พัฒนาต่อยอดมาจากฐานคิดเดียวกันอย่าง “ข้าวมัน แกงพริกเนื้อซี่โครงวัว” ของร้านบูรพา (© ศรีตราด & บูรพา)

แกงลูกกล้วย
แกงลูกกล้วยเป็นเมนูอาหารท้องถิ่นทางภาคใต้ ส่วนทางภาคตะวันออกนั้นคือตำรับอาหารป่าพื้นถิ่น และนิยมใช้ไก่ฟ้าหรือนกซึ่งสมัยก่อนมีอยู่มากมาปรุง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เนื้อเป็ด นกพิราบ หมูป่า หรือเนื้อวัว เหตุผลที่เชฟแอ๊คเลือกแกงลูกกล้วยมาทำเป็นเมนูประดับร้านศรีตราดก็เพราะไม่อยากให้เมนูเก่าแก่นี้ต้องสูญหาย นอกจากนี้เชฟยังนำเมนูนี้มาเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดเป็นเมนู “ข้าวมัน แกงพริกเนื้อซี่โครงวัว” ของร้านบูรพาอีกด้วย ถ้าคุณได้เดินทางไปยังภาคตะวันออกอย่าลืมมองหาร้านอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟเมนูแกงลูกกล้วยที่หารับประทานได้ยากนี้ชิมกันดูละ

“แกงเก้อ” แบบต้นตำรับ และ “หมี่กะทิแกงเก้อ” (© ศรีตราด, บูรพา)
“แกงเก้อ” แบบต้นตำรับ และ “หมี่กะทิแกงเก้อ” (© ศรีตราด, บูรพา)

ต้มเก้อ
ในบรรดาแกงต้มไทยที่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 สี (แดง เหลือง เขียว ดำ ขาว) ต้มเก้อเป็นแกงขาว ปรุงด้วยกะทิคั้นสด ผสมผสานความเป็นทะแลและอาหารป่าด้วยการใช้ปูกับหน่อไม้ เข้ากับวัตถุดิบเด่นที่ได้จากทะเลของภาคตะวันออกอย่างกะปิ รวมถึงใช้เครื่องเทศที่ทำให้เกิดรสเผ็ดปลาย ๆ ที่ร้านศรีตราดของเชฟแอ๊คเสิร์ฟต้มเก้อแบบดั้งเดิม ส่วนที่ร้านบูรพาเสิร์ฟต้มเก้อเนื้อปูสด ๆ รับประทานคู่กับเส้นหมี่ที่ทางร้านบรรจงทำขึ้นเอง เป็นแกงต้มโบราณหายากอีกชนิดหนึ่งที่เมื่อคุณเดินทางไปภาคตะวันออกแล้วไม่อยากให้พลาดชิมจานเด็ดนี้

“แมงกะพรุนดองเซียบน้ำจิ้มถั่วตัด” แบบดั้งเดิม และเวอร์ชันของร้านบูรพา (© ศรีตราด & บูรพา)
“แมงกะพรุนดองเซียบน้ำจิ้มถั่วตัด” แบบดั้งเดิม และเวอร์ชันของร้านบูรพา (© ศรีตราด & บูรพา)

แมงกะพรุนดองเซียบน้ำจิ้มถั่วตัด
อีกหนึ่งเมนูที่เกิดจากภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวภาคตะวันออก โดยเฉพาะชาวเล ที่เมื่อจับแมงกะพรุนได้ก็จะนำมาถนอมอาหารเพื่อให้เก็บไว้กินได้นาน โดยส่วนมากมักใช้แมงกะพรุนพันธุ์ลอดช่องนำมาหมักกับน้ำแช่เปลือกต้นโกงกางจนเกิดสีแดงขึ้นมา ซึ่งจะช่วยยืดอายุของเนื้อแมงกะพรุนและทำให้เนื้อกรอบ รับประทานคู่กับน้ำจิ้มถั่วตัดตำใส่พริกเกลือ เป็นอีกเมนูพื้นบ้านภาคตะวันออกที่หารับประทานได้ยาก ซึ่งที่ร้านบูรพานำมาพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นด้วยการนำมาดองซ้ำอีกรอบด้วยน้ำผึ้งและน้ำส้มมะปี๊ดเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับเนื้อแมงกะพรุน แล้วเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มถั่วตัดพริกเกลือ รับประทานคู่กับสมุนไพรผักใบฉุน เป็นอีกหนึ่งจานเด็ดสำหรับรับประทานเล่นที่ชวนให้เจริญอาหาร


“แกงมัสมั่นไก่ทุเรียน” (© ศรีตราด)
“แกงมัสมั่นไก่ทุเรียน” (© ศรีตราด)

แกงมัสมั่นไก่ทุเรียน
อย่างที่เล่าไปว่าภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้แห่งสำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงทุเรียนด้วย คนในท้องถิ่นจึงคิดนำทุเรียนที่มีอยู่ดาษดื่นมาปรุงอาหาร กลายเป็นแกงมัสมั่นไก่ทุเรียน ซึ่งได้ทั้งรสของเครื่องแกงและความหอมหวานของผลไม้อย่างทุเรียน เป็นจานเด็ดที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของอาหารภาคตะวันออกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในจังหวัดตราดและจันทบุรีมีร้านอาหารท้องถิ่นชื่อดังหลายแห่งที่ขายจานเด็ดนี้

ท้องทะเลสีครามของเกาะกูด และน้ำตกกระทิงอันสวยงามของภาคตะวันออก (© Shutterstock)
ท้องทะเลสีครามของเกาะกูด และน้ำตกกระทิงอันสวยงามของภาคตะวันออก (© Shutterstock)

เปิดประสบการณ์เที่ยวชิมรสภาคตะวันออก
แม้ไม่ได้เป็นภูมิภาคหลักที่โดดเด่นเท่าภาคเหนือ กลาง ใต้ และอีสาน และมักจะถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แต่ภาคตะวันออกก็สวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เราได้เห็นผ่านอาหารดังที่เชฟแอ๊คเล่าให้ฟังกันไปแล้ว เชฟหนุ่มยังย้ำอีกว่า “อาหารของภาคตะวันออกเป็นอาหารที่ซื่อตรง เรียบง่าย แฝงความเป็นกันเอง เป็นรสชาติที่เข้าใจง่าย บอกเล่าทั้งวิถีชีวิตและมอบความสุขให้กับคนที่ได้รับประทาน”

นอกจากเกาะช้างและเกาะกูดอันสวยงามจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่หลายคนรู้จักกันดีแล้ว ภาคตะวันออกยังเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจรอให้ทุกคนได้เดินทางไปสัมผัสและเปิดประสบการณ์ชิมรสชาติอาหารถิ่นและท่องเที่ยว โดยเชฟหนุ่มแห่งแดนบูรพาคนนี้ยังได้แนะนำพิกัดน่าแวะ อย่างในจังหวัดจันทบุรีก็มี “น้ำตกกระทิง” น้ำตกสวยที่มีขนาดใหญ่ถึง 13 ชั้น อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” ชุมชนเล็ก ๆ น่ารักในตัวเมืองซึ่งได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของย่านการค้าในวันวาน เต็มไปด้วยร้านรวงทั้งเก่าแก่และกิจการใหม่ ๆ เก๋ ๆ ที่ผสานกันได้อย่างลงตัว ส่วนที่จังหวัดตราดเชฟแอ็คก็แนะนำให้ไปเที่ยวที่ “ป่าชายเลนบ้านท่าระแนะ” แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศขนาดใหญ่กว่า 2,000 ไร่ ซึ่งนอกจากผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์แล้วยังแวะไปจิบชาหัวร้อยรูที่มีสรรพคุณมากมายในชุมชนบ้านท่าระแนะได้อีกด้วย และยังมี “ท่าเรือและชุมชนบางพระ” ให้เที่ยวชมวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่ายในแบบดั้งเดิม พร้อมอย่าพลาดชิมอาหารตำรับชาวบ้านภาคตะวันออกที่อร่อยไม่แพ้อาหารไทยภาคไหน

ชุมชนริมน้ำจันทบูร และท่าเรือและชุมชนบางพระ เที่ยวชมวิถีชีวิตเรียบง่ายของผู้คนในแบบดั้งเดิม (© Shutterstock)
ชุมชนริมน้ำจันทบูร และท่าเรือและชุมชนบางพระ เที่ยวชมวิถีชีวิตเรียบง่ายของผู้คนในแบบดั้งเดิม (© Shutterstock)

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นมากจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นของไทยไปแล้ว แต่ระหว่างการเดินทางก็ต้องไม่ลืมใส่หน้ากาก ล้างมือ และป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด อีกทั้งควรสังเกตตราสัญลักษณ์ SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) อันเป็นโครงการความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่รับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้กับสถานบริการด้านการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในประสบการณ์ที่ปลอดภัยในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการดี ๆ นี้ได้ที่ thailandsha.tourismthailand.org หรือหากต้องการอัปเดตสถานที่ท่องเที่ยวก่อนเดินทาง อย่าลืมให้เราเป็น “เพื่อนร่วมทาง” ไปกับคุณ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ TAT Call Center เบอร์ 1672 หรือเฟซบุ๊ก TAT Contact Center


สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ