สิ่งที่น่าสนใจ 4 minutes 16 กันยายน 2020

ทำไมเราถึงต้องไปเยือนเมืองละโว้ แหล่งดินสอพอง ลองอาหารถิ่นที่ลพบุรี?

เยี่ยมบ้านท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชิมต้นตำรับไข่เค็มดินสอพองผัดพริกขิง และอีกหลากหลายของดีเมืองลพบุรี

อาณาจักรละโว้ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่สมัยทวารวดีจวบจนสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้ส่งพระราเมศวร พระราชโอรสองค์โตไปปกครอง แต่หลังจากที่พระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาแล้ว ละโว้หรือลพบุรีก็ถูกลดความสำคัญลง จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงทะนุบำรุงให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งและได้สถาปนาเป็นราชธานีแห่งที่สองของสยามประเทศ พระองค์ได้ทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ขึ้นบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำลพบุรีเพื่อเป็นที่ประทับ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี ชาวลพบุรีจะจัดกิจกรรม “งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติของพระองค์ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และคงความเป็นเอกลักษณ์สะท้อนความรุ่งในอดีตได้อย่างน่าชม
เนื่องจากลพบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 160 กิโลเมตร จึงสามารถเดินทางได้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งรถยนต์และรถโดยสารประจำทาง

a Lopburi monkey
a Lopburi monkey

เมืองละโว้ ตำนานอาหารถิ่น แหล่งดินสอพอง
มีตำนานเล่าขานถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองแห่งดินสีขาวที่เต็มไปด้วยฝูงลิง อันมีต้นกำเนิดมาจากเรื่อง รามเกียรติ์ กล่าวถึงคราวที่พระรามรบชนะทศกัณฐ์ พระองค์ให้รางวัลกับหนุมานหรือพญาลิงเผือก โดยให้มาดูแลเมืองละโว้ หนุมานได้นำทหารลิงมาด้วยจำนวนหนึ่ง จึงมีความเชื่อว่าฝูงลิงในจังหวัดลพบุรี ก็คือลูกหลานทหารของหนุมานนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า พระรามได้ทรงแผลงศรออกไป หากศรตกลงที่ใด บริเวณนั้นก็จะเป็นของหนุมาน ด้วยความที่ศรของพระรามนั้นเป็นศรศักดิ์สิทธิ์ เมื่อแผลงมาตกที่ทุ่งพรหมาสตร์ (ลพบุรีในปัจจุบัน) แผ่นดินจึงลุกเป็นไฟ หนุมานเห็นดังนั้น จึงใช้หางกวาดเปลวไฟให้ดับ และดินบริเวณที่ถูกไฟไหม้จึงกลายเป็นสีขาว เรียกว่า ดินสอพอง ปัจจุบันนี้ ดินสอพองเป็นสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาวของจังหวัดลพบุรีด้วย และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำให้ไข่แดงของไข่เค็มมีความเข้มข้นสีแดงสวยรสชาติหอมมันกลมกล่อม

TAT_0194.jpg

ไข่เค็มดินสอพองนั้น สามารถนำมาทำเป็นเมนูไข่เค็มดินสอพองผัดพริกขิงที่ขึ้นชื่อ โดยการนำปลาดุกย่างมาแกะเนื้อออกและสับให้ละเอียด จากนั้นจึงนำมาทอดในน้ำมันร้อนๆ จนฟูเหลืองกรอบและนำมาผัดกับเครื่องแกงเผ็ดที่มีถั่วฝักยาวหั่นเฉียงๆ โรยด้วยใบมะกรูดหั่นฝอยเพื่อเพิ่มความหอม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ไข่เค็มดินสอพอง เมื่อรับประทานเนื้อปลาดุกฟูผัดพริกขิงที่หวานนำกับไข่เค็ม ทำให้ได้รสชาติที่ลงตัว หอมมัน และกรุบกรอบ

ปัจจุบัน แหล่งผลิตดินสอพองของลพบุรี อยู่ที่หมู่บ้านดินสอพอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีดินสีขาวอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีสารอาหารเพียงพอแก่การเพาะปลูกพืชต่างๆ ทุกครัวเรือนจึงนำดินขาวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและลองทำดินสอพองด้วยตนเอง สำหรับวิธีการทำไข่เค็มดินสอพอง สามารถทดลองทำได้ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านดินมดแดง ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลาง ภายในหมู่บ้านตกแต่งด้วยเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่กระถางต้นไม้ เตา หม้อดิน ไห ไปจนถึงประติมากรรมสวยงามหลายรูปแบบที่ทำจากดิน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปั้นดิน และการทำขนมโบราณด้วย

TAT_0231.jpg

เนื่องจากเป็นแหล่งรวมกลุ่มชนหลายเชื้อชาติที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น ลาวพวน มอญ และไทยเบิ้ง ซึ่งอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ้านหมี่ เริ่มจากชาวลาวพวนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอาหารลาวพวน ที่ยังคงเอกลักษณ์ของชาวพวนแท้ๆ ฝีมือการปรุงที่มีเสน่ห์และรสชาติเฉพาะตัว เช่น แกงส้มพวน ซึ่งแตกต่างจากแกงส้มไทยด้วยส่วนผสมของน้ำปลาร้า ซึ่งเข้ากับใบแมงลักได้เป็นอย่างดี แถมยังใส่หน่อไม้ดองที่รสไม่เปรี้ยวจัดเกินไป โดยหากต้องการให้อร่อยแบบต้นตำรับ ต้องใช้หน่อไม้ที่เขาสามยอดของลพบุรีเท่านั้น จึงจะได้ความหวานกรอบที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น

ชาวไทยเบิ้ง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชน ที่สืบทอดเชื้อสายจากชาวไทยโคราช ซึ่งมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองละโว้ โดยอาหารการกินในแบบวิถีไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงนั้น จะเน้นเป็นอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นตามฤดูกาล ชาวไทยเบิ้งนิยมรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ทำจากเนื้อปลาและผักพื้นบ้าน ไม่นิยมอาหารทอดหรือใส่กะทิ ทำให้อาหารของชาวไทยเบิ้งเป็นอาหารสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และจากการใช้วัตถุดิบและสมุนไพรนานาชนิด

อร่อยตามตำนานวิถีไทยเบิ้ง

ชาวไทยเบิ้งยังนิยมรับประทานอาหารคาวควบคู่กับ “เครื่องดำ” ซึ่งประกอบด้วย พริกแห้ง ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม ข่า “กำจัด หรือ หมากแว่น” นำไปโขลกให้เข้ากันแล้วคั่วให้หอม ใช้สำหรับอาหารประเภทต้มหรือลาบ “กำจัด” นั้นเป็นเครื่องเทศเฉพาะถิ่น ที่ชาวไทยเบิ้งนิยมรับประทานกัน นอกจากกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีความเชื่อว่าการรับประทานกำจัดนั้นจะช่วยกำจัดคุณไสย์หรือสิ่งไม่ดีออกไปจากตัวด้วย กำจัดเป็นพืชที่ปลูกได้ยากมาก ต้องเข้าไปเก็บจากในป่าลึก โดยนำดอกไปตากแห้งเพื่อนำมาทำเป็นเครื่องปรุง สำหรับเมนูของชาวไทยเบิ้งที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ต้มกระดูกหมูใบมะขามอ่อนเครื่องดำ ซึ่งมีรสชาติเปรี้ยวจากใบมะขามอ่อน เผ็ดเล็กน้อยและตามด้วยรสเค็มและหอมเครื่องดำ

TAT_0373.jpg

เคล็ดลับความอร่อยของเมนูนี้ อยู่ที่การตุ๋นกระดูกหมูให้นุ่มน่ารับประทาน พร้อมเครื่องดำที่ให้กลิ่นหอมมากและรสชาติกลมกล่อม อาหารของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงยังมีอีกหลายอย่างที่ใช้เครื่องดำเป็นส่วนประกอบ นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาลองลิ้มชิมรสชาติแสนอร่อยได้ พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชาวไทยเบิ้ง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งนี้ ความโดดเด่นอีกประการของเขื่อนก็คือ เส้นทางรถไฟที่สร้างไปตามสันเขื่อน จนดูเหมือนรถไฟวิ่งอยู่บนน้ำ เกิดเป็นทัศนียภาพที่สวยงามน่าชม

TAT_0248.jpg

อีกหนึ่งมรดกทางอาหารพื้นบ้าน คือ แกงส้มไหลผักปอด หรือ ผักตบชวา เป็นของชาวไทยเชื้อสายมอญในตำบลบางขันหมาก ซึ่งเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด ชาวบ้านจะเก็บตบชวาจากแหล่งน้ำที่สะอาด มีการถ่ายเทตามธรรมชาติ ส่วนสำคัญในการนำมาปรุงอาหารเป็นส่วนที่เรียกว่า “ไหล” คือ ส่วนที่เป็นแกนกลางของผักปอด นำมาลอกเปลือกล้างให้สะอาด เมื่อต้มน้ำเดือดแล้ว ละลายพริกแกงที่โขลกรวมกับเนื้อปลา จากนั้นจึงใส่ไหลผักปอด ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำมะขามเปียกให้รสชาติจัดจ้านพร้อมเสิร์ฟ

เมื่อพูดถึงวิถีชีวิตชาวมอญแล้ว ก็ต้องไปที่ตลาดซาโม่น หรือตลาดมอญเมืองละโว้ ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวมอญได้อย่างแท้จริง ตลาดซาโม่นเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยอาหารถิ่นชาวมอญ เลือกซื้อสินค้าพร้อมชมการแสดงดนตรีมอญในบรรยายกาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพของแม่ค้าชาวมอญ ตลาดซาโม่นเปิดทุกวันเสาร์แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 15.00-20.00 น. โดยช่วงเวลา 17.00 น. เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการเดินเล่น เพราะพ่อค้าแม่ขายจะออกมาตั้งของจำหน่ายกันอย่างคึกคัก

แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดอีกแห่งหนึ่งได้แก่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงโปรดให้สร้างขึ้น แต่หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระมหาราชวังและเมืองลพบุรีก็ได้ถูกทิ้งร้าง จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้บูรณะขึ้นใหม่และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ต่อมาได้ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังเป็นตัวอย่างของการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของไทยและสถาปัตยกรรมตะวันตก และมีรูปแบบการวางผังเมืองที่ดียิ่ง

พระนารายณ์ราชนิเวศน์
พระนารายณ์ราชนิเวศน์

หลังจากเยี่ยมชมพระราชวังแล้ว ต้องแวะไปชมบ้านวิชาเยนทร์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ในอดีตส่วนหนึ่งของบริเวณนี้ได้มีการสร้างบ้านขึ้นเพื่อใช้ต้อนรับคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จากการมาเยือนอย่างเป็นทางการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งยังมีบ้านพักของท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือหลวงสุรสาคร ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกด้วย ภายในบริเวณบ้านวิชาเยนทร์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ทิศตะวันออกเป็นบ้านพักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส ด้านตะวันตกเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และท้าวทองกีบม้า ส่วนตรงกลางเป็นที่ตั้งของโบสถ์ในคริสต์ศาสนา บ้านวิชาเยนทร์ได้มีการออกแบบอย่างสวยงามน่าตื่นตา องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมชั้นยอดของไทยผสานรูปแบบเรเนซองส์ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของไทยและเป็นแห่งเดียวในโลกที่ควรชมที่สุด

บ้านวิชาเยนทร์
บ้านวิชาเยนทร์

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรี
1. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
2. ศูนย์การเรียนรู้บ้านดินมดแดง
3. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง
4. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์
บ้านวิชาเยนทร์ และบ้านหลวงรับฑูต
5. ตลาดซาโม่น ตลาดมอญเมืองละโว้ “ท่องเที่ยววิถีมอญริมแม่น้ำลพบุรี”
6. หมู่บ้านดินสอพอง

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ