สิ่งที่น่าสนใจ 2 minutes 14 พฤษภาคม 2019

รอมฎอน: เดือนแห่งการชำระล้างจิตวิญญาณ

เดือนรอมฎอนถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในปฏิทินฮิจเราะห์ ชาวมุสลิมทั่วไทยต่างร่วมถือศีลอดในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับพี่น้องทั่วโลก

อาหารเป็นส่วนสำคัญของความเป็นไทย คงมีน้อยคนที่จะปฏิเสธก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ หรือข้าวผัดไก่หอมฉุยระหว่างวัน แต่ทุกปี พี่น้องชาวมุสลิมนับล้าน คิดเป็นประมาณ 5% ของประชากรไทยทั้งหมด จะต้องถือศีลอดเป็นเวลา 30 วัน หลายคนอาจจะมองว่าการไม่กินและดื่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเป็นการทดสอบศรัทธาที่ยากลำบาก แต่สำหรับชาวมุสลิมแล้ว เดือนรอมฎอนถือเป็นช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขารอคอย

สำหรับพ.ศ. 2562 สำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศว่าวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1440 ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 พ.ค. เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมจะเฉลิมฉลองนาน 1-3 วันในช่วงวันอีด (Eid al Fitr) ชาวมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะทุกคนต้องถือศีลอด แต่มีข้อยกเว้นสำหรับคนชรา สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร คนป่วย และผู้อยู่ระหว่างเดินทาง นอกจากอาหารแล้ว ผู้ถือศีลอดต้องงดเว้นจากการร่วมประเวณี สูบบุหรี่ กล่าวคำหยาบ โป้ปด ดูถูกเหยียดหยาม และทำร้ายร่างกายผู้อื่น (เว้นแต่กรณีปกป้องตนเอง)

คัมภีร์อัลกุรอาน
คัมภีร์อัลกุรอาน

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ถือว่าเดือนรอมฎอนเป็นช่วงฝึกตนและเติมศรัทธาผ่านการทบทวนเนื้อหาคัมภีร์อัลกุรอาน ในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นช่วงเวลาครอบครัวอีกด้วย ทุกคนในครอบครัวจะมาร่วมทานมื้อซุโฮร์ (Suhoor) ก่อนแสงรุ่งอรุณ และมาละศีลอดร่วมกันในมื้ออิฟตาร์ (Iftar) หลังพระอาทิตย์ตก การละศีลอดมักเริ่มด้วยการทานผลอินทผลัมตามอย่างท่านนบีมูฮัมหมัด

พนักงานบริษัทอย่างคุณรัตนา สัมพันธ์กล่าวว่า “ปกติแล้ว อินทผาลัมจะค่อนข้างแพงค่ะ เพราะต้องนำเข้า แต่ช่วงเดือนรอมฎอนจะหาทานได้ง่ายขึ้น”

อินทผลัม
อินทผลัม

เธอยังเสริมว่า แม้ไม่ได้มีบัญญัติอาหารเฉพาะสำหรับเดือนรอมฎอน แต่ทุกอย่างยังต้องผ่านการรับรองฮาลาล อาหารฮาลาลนั้นพิจารณาตั้งแต่วิธีเชือดสัตว์ไล่มาจนถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร สัตว์ที่นำมาเชือดตามแนวทางอิสลามนั้นจะต้องตายโดยทรมานน้อยที่สุด เนื้อสัตว์ที่นำมาบริโภคได้อย่างโค แกะ แพะ กวาง ไก่และอื่น ๆ ต้องปรุงด้วยอุปกรณ์ที่สะอาดและจัดเตรียมตามหลักฮาลาล ไม่ปนเปื้อนสิ่งต้องห้าม เช่น แอลกอฮอล์


เนื่องจากมื้อซุโฮร์และมื้ออิฟตาร์ห่างกันยาวนาน มื้อแรกของวันจึงมักเป็นอาหารหนักท้อง เต็มไปด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต คุณรัตนากล่าวว่า “ชาวมุสลิมชอบทานมะตะบะช่วงรอมฎอนค่ะ ถ้านึกไม่ออก มันคือโรตีสอดไส้เนื้อ”

โรตีมะตะบะ (เครดิตรูปภาพ: Takahiro Yamagiwa (Flickr))
โรตีมะตะบะ (เครดิตรูปภาพ: Takahiro Yamagiwa (Flickr))

ความรู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวันเป็นเรื่องปกติ เพราะร่างกายไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงทั้งวัน แต่เมื่อผ่านไปสักพัก ร่างกายก็จะปรับตัว ไม่รู้สึกโรยแรงเหมือนวันแรก ๆ แต่ด้วยสภาพอากาศอันร้อนระอุของเมืองไทย การขาดน้ำนาน ๆ ก็ทำให้หลายคนอยากจะละศีลอดระหว่างวัน

คุณดนัย โต๊ะเจ เจ้าของบ้านในนคร บูติกโฮเต็ลในจังหวัดสงขลากล่าวว่า “การถือศีลอดไม่ใช่เป็นเพียงการอดอาหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงการยับยั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้อยู่ในกรอบของความดีและอดทนต่อสิ่งยั่วยวนทั้งมวล มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยศรัทธาในใจ มันก็ไม่ยากเกินไป”

“นอกจากนี้ เดือนรอมฎอนยังเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกัน สุลต่านหิวเหมือนกับคนจนทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีอะไรจะกิน แต่เพราะเขาต้องสัมผัสความหิวโหยเพื่อให้เข้าใจคนจน มันช่วยให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น และที่สำคัญ มันถือเป็นการล้างสารพิษรูปแบบหนึ่ง ดีต่อสุขภาพครับ”

รอยยิ้มจากชาวมุสลิม (เครดิตรูปภาพ: Chiara Architta)
รอยยิ้มจากชาวมุสลิม (เครดิตรูปภาพ: Chiara Architta)

ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่ประชากรชาวมุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ ในกรุงเทพฯเองก็มีมัสยิดถึงกว่า 170 แห่ง ระหว่างเดือนรอมฎอน มัสยิดเหล่านี้และศูนย์กลางชุมชนมุสลิมต่าง ๆ ในเมืองหลวงจะกลายเป็นแหล่งพบปะของพี่น้องร่วมศาสนา ช่วยเสริมศรัทธาและกำลังใจให้นักศึกษาและคนงานที่ต้องจากบ้านมาไกล

คุณดนัยกล่าวว่า “ในกรุงเทพฯ พี่น้องมุสลิมจะมารวมตัวกันที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านรามคำแหง ส่วนที่สงขลา มัสยิดบ้านบนเป็นแหล่งที่ชาวมุสลิมรู้จักกันดี ทางมัสยิดมีอาหารเลี้ยงทุกวันหลังพระอาทิตย์ตก เมื่อทานอาหารแล้ว เราจะร่วมกันบริจาคทาน คนที่ครอบครัวอยู่ไกลจะหายเหงา และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”

ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านรามคำแหง (เครดิตรูปภาพ: HalalLivingThailand.com)
ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านรามคำแหง (เครดิตรูปภาพ: HalalLivingThailand.com)

สิ่งที่น่าสนใจ

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ